xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปโล่งอกตกลง ‘แผนหยุดยิงยูเครน’ ได้ ‘ปูติน’ รับยังเห็นต่าง ‘เคียฟ’ หลายข้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ผู้นำของรัสเซีย, ยูเครน, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี เจรจามาราธอนข้ามคืน 16 ชั่วโมงที่กรุงมินสก์, เบลารุส จนกระทั่งเวลาล่วงเลยถึงตอนกลางวันของวันพฤหัสบดี (12 ก.พ.) และออกมาแถลงว่าสามารถบรรลุข้อตกลงที่ให้มีการหยุดยิงในยูเครนตะวันออก ถอนอาวุธหนักทั้งหลายออกจากแนวหน้า รวมทั้งกรุงเคียฟจะยอมให้อำนาจปกครองตนเองอย่างกว้างขวางแก่ภาคตะวันออก โดยแลกเปลี่ยนกับการที่ได้กลับเข้าควบคุมพื้นที่ชายแดนติดต่อกับรัสเซียภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ยังคงเต็มไปด้วยหลุมบ่อที่อาจทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติจริงๆ ได้ รวมทั้งรัสเซียกับยูเครนซึ่งต่างฝ่ายต่างแยกกันแถลงข่าวหลังการเจรจา ก็พูดถึงเนื้อหารายละเอียดของสิ่งที่ตกลงกันได้ ผิดแผกแตกต่างกันในหลายๆ จุด โดยเฉพาะสถานะของเมืองสำคัญแห่งหนึ่งในยูเครนตะวันออก ซึ่งเวลานี้ตกอยู่ในวงล้อมของฝ่ายกบฎโปรรัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ข้อตกลงนี้กำหนดให้มีการหยุดยิงตั้งแต่เวลา 22.00 น.วันอาทิตย์ (15) นี้ ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับ 05.00 น. วันจันทร์ที่ 16 เวลาเมืองไทย) รวมถึงกำหนดสถานะพิเศษสำหรับดินแดนที่อยู่ในการครอบครองของกลุ่มกบฏ ตลอดจนมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมตามแนวชายแดนและประเด็นปัญหาด้านมนุษยธรรม

ทว่า ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก แห่งยูเครน กลับบอกว่า ไม่มีการตกลงเกี่ยวกับการให้สิทธิปกครองตนเอง หรือการจัดตั้งสหพันธรัฐขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหายูเครนตะวันออก และเคียฟเห็นพ้องเพียงการกระจายอำนาจในบางระดับเท่านั้น

กระนั้น ข้อตกลงคราวนี้ก็มีข้อเรียกร้องให้รัฐสภายูเครนต้องยอมให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่ภูมิภาคตะวันออก เพื่อเป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับการที่ยูเครนจะสามารถกลับเข้าไปควบคุมบริเวณพื้นที่ชายแดนของตนซึ่งติดต่อกับรัสเซียได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เห็นกันว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นชนวนทำให้เกิดการโต้เถียงทางการเมืองอย่างดุเดือดในกรุงเคียฟ

ผู้นำยูเครนยังยืนยันว่า ทั้งสองฝ่ายต้องหยุดยิงโดยปราศจากเงื่อนไข

การต่อสู้ระหว่างกองทัพยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซียนั้น เริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายนปีที่แล้ว โดยมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 5,300 คน และการสู้รบยังคงดุเดือดแม้ในขณะที่ผู้นำทั้งสี่หารือกันอย่างเคร่งเครียดที่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส โดยมีรายงานว่า ทหารยูเครน 19 คนเสียชีวิตในเมืองเดบัลต์เซเบ เมื่อวันพุธ (11)

แต่กระทั่งการหยุดยิงนี้ก็ดูยังไม่มีความแน่นอน โดยที่ปูตินยอมรับว่า ตนกับโปโรเชนโกขัดแย้งกันในการประเมินสถานการณ์ในเมืองเดบัลต์เซเบ ศูนย์คมนาคมทางรถไฟสำคัญซึ่งเคียฟควบคุมไว้ แต่มีการต่อสู้แย่งชิงกันในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา
(จากซ้ายไปขวา) อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส, วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย, นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี, นายฟรังซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายเปโตร โปโรเชนโก ประธานาธิบดียูเครน ถ่ายภาพร่วมกันระว่างการเจรจาสันติภาพในกรุงมินสก์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์
ข้อตกลงใหม่คราวนี้กำหนดให้จัดตั้งเขตพื้นที่กันชนขึ้นมา ด้วยการให้ทั้งสองฝ่ายเคลื่อนย้ายปืนใหญ่ขนาดหนักและระบบขีปนาวุธ ถอยหลังออกจากแนวหน้าไปเป็นระยะทาง 50 ถึง 140 กิโลเมตร โดยขึ้นอยู่กับรัศมีทำการของอาวุธนั้นๆ การถอนอาวุธหนักเช่นนี้ควรเริ่มขึ้นอย่างช้าไม่เกินวันที่สองภายหลังข้อตกลงหยุดยิงมีผลบังคับใช้ และควรที่จะเคลื่อนย้ายให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์

สิ่งที่ถือว่าเป็นชัยชนะของเคียฟก็คือ ข้อตกลงระบุว่าพื้นที่ของฝ่ายกบฏซึ่งได้จัดการเลือกตั้งของตนเองขึ้นตอนปลายปีที่แล้ว จะต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ภายใต้กฎหมายของยูเครน

ทว่า สิ่งที่ถือว่ารัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบก็คือ ข้อตกลงนี้ระบุว่า ยูเครนจะสามารถกลับเข้าไปควบคุมพื้นที่ชายแดนติดต่อกับรัสเซีย บริเวณที่เวลานี้ฝ่ายกบฏควบคุมอยู่ ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ก็ต้องรอจนกระทั่งถึงสิ้นปีนี้ โดยมีเงื่อนไขว่ายูเครนจะต้องทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยินยอมให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่ภาคตะวันออก โดยรวมถึงสิทธิที่จะจัดตั้งกำลังตำรวจของตนเอง และทำการค้าอย่างเสรีกับรัสเซีย

ทางด้านนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี กับประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางของการเจรจาที่มินสก์คราวนี้ ได้ร่วมกันแถลงข่าวแยกต่างหากจากปูตินและโปโรเชนโก โดยที่แมร์เคิลบอกว่า “เวลานี้เรามีความหวังแบบสลัวๆ ขึ้นมาแล้ว” กระนั้นเธอเตือนว่า “แต่ยังจะต้องดำเนินจังหวะก้าวที่ถาวรมั่นคงต่อไปอีก และเรายังคงเผชิญกับอุปสรรคสำคัญหลายๆ อย่าง ทว่าโดยภาพรวมแล้ว ดิฉันสามารถพูดได้ว่าสิ่งที่เราตกลงกันได้ในคราวนี้ ทำให้เกิดความหวังเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่เราไม่สามารถตกลงอะไรกันได้เลย”

สำหรับออลลองด์กล่าวว่า การประกาศข้อตกลงหยุดยิงครั้งใหม่ทำให้ยุโรป “โล่งอก”

ก่อนหน้านี้ ยูเครนกับฝ่ายกบฏได้เคยทำข้อตกลงหยุดยิงกันในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทว่ากลับล้มเหลวไม่เป็นท่า หลังจากกองกำลังยูเครนและกบฏโปรรัสเซียต่างพยายามช่วงชิงพื้นที่เพิ่ม

ออลลองด์สำทับว่า ข้อตกลงล่าสุดจะครอบคลุมทุกประเด็นตั้งแต่การหยุดยิงไปจนถึงการควบคุมแนวชายแดน การกระจายอำนาจ การถอนอาวุธหนัก และการฟื้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ประมุขแดนน้ำหอมยังยกย่องปูตินในการกดดันกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก

ความพยายามอย่างหนักในการหาทางแก้ไขวิกฤตยูเครนด้วยสันติวิธีของเยอรมนีและฝรั่งเศสมีขึ้นขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ประกาศว่า หากการเจรจาในมินสก์ล้มเหลว อาจผลักดันให้อเมริกาตัดสินใจส่งอาวุธให้ยูเครนเพื่อรับมือความก้าวร้าวของรัสเซีย ซึ่งเป็นแนวทางที่ยุโรปไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากเกรงว่า จะเกิดสงครามตัวแทนของคู่ปรปักษ์จากยุคสงครามเย็น ส่งผลให้สถานการณ์ในยูเครนเลวร้ายลงกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน นอกจากบรรลุข้อตกลงหยุดยิงแล้ว ยูเครนยังได้รับข่าวดีจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่อนุมัติเงินกู้งวดใหม่ 17,500 ล้านดอลลาร์ จากทั้งหมด 40,000 ล้านดอลลาร์ในระยะ 4 ปี เพื่อฟื้นเสถียรภาพการเงินของเคียฟหลังจากเผชิญความขัดแย้งยาวนานนานถึง 10 เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น