เอเอฟพี - ศรีลังกาเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เลื่อนเวลาการออกรายงานเกี่ยวกับข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามในช่วงสงครามกลางเมืองอของประเทศเกาะแห่งนี้ เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่สามารถดำเนินการสืบสวนของฝ่ายรัฐบาลเองจนสำเร็จ
มังคลา ซามาราวีระ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกาออกคำร้องขอดังกล่าวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนที่จะเข้าร่วมการเจรจากับ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯที่กระทรวงการต่างประเทศ
นี่เป็นการเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกของเขา นับตั้งแต่ ไมตรีพาลา ศิริเสนา คว้าชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้อย่างน่าประหลาดใจ โดยรัฐบาลชุดใหม่ของเขานี้ได้รับการต้อนรับในฐานะความหวังของยุคใหม่สำหรับประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้
ศิริเสนา ได้โค่นบัลลังก์ มหินทรา ราชปักษา ผู้ที่มีอิทธิพลครอบงำประเทศนี้มาเป็นเวลาเนิ่นนาน และเคยมีความขัดแย้งกับตะวันตกในเรื่องข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิโดยกองทัพในช่วงสงคราม แต่ก็ยังได้รับเสียงสนับสนุนมากมายมหาศาลจากชาวสิงหลซึ่งเป็นประชากรส่วนมากของประเทศนี้ หลังจากรูดม่านปิดฉากสงครามแบ่งแยกดินแดนโดยกลุ่มกบฏชาวทมิฬในปี 2009
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่า เขาล้มเหลวในการสร้างความปรองดองในช่วงหลายปี ภายหลังได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE)
ราชปักษา ยังปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับการสืบสวน ซึ่งควบคุมโดยยูเอ็น ต่อข้อกล่าวหาที่ว่า กองกำลังรัฐบาลสังหารพลเรือนชาวทมิฬมากถึง 40,000 คน ขณะที่กำราบกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในปี 2009
ทางยูเอ็นประเมินว่า ในช่วงความขัดแย้งดังกล่าวระหว่างปี 1972-2009 น่าจะมีผู้ถูกสังหารราวๆ 100,000 คน
ข้อหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของยูเอ็นมีกำหนดเผยแพร่การสืบสวนในเดือนมีนาคม
แต่ ซามาราวีระ ร้องขอว่า “เรากำลังอยู่ในช่วงขั้นตอนการพยายามจัดตั้งกลไกภายในประเทศ” และปฏิเสธเรื่องที่ว่าการร้องขอให้มีการเลื่อนเวลาออกรายงานครั้งนี้เป็นเพียงแค่ความพยายามซื้อเวลาเท่านั้น
“เราคาดหวังว่าทางยูเอ็นจะสามารถระงับการออกรายงานดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่ากลไกของเราจะเข้าที่เข้าทาง” เขาบอกกับสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งขิงสหรัฐฯ และระบุว่าการสืบสวนภายในประเทศจะมีขึ้นและดำเนินการในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
“ทันทีที่รายงานดังกล่าวแล้วเสร็จ เราคาดหวังว่าทางยูเอ็นจะสามารถอ้างอิงมันกับกลไกภายในประเทศของเราเพื่อการดำเนินการในลำดับต่อไป” เขากล่าว
“ไม่เหมือนกับรัฐบาลชุดที่แล้ว เราไม่ใช่พวกไม่ยอบรับความจริง ที่กล่าวว่าการละเมิดดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น เราเชื่อว่าการละเมิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง” เขากล่าวยืนยันที่กองทุนการกุศลคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace)
เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ประธานาธิบดีศิริเสนาประกาศกร้าวว่าจะยุติสถานะรัฐที่ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติของศรีลังกา ด้วยการให้ความร่วมมือกับยูเอ็น และให้คำมั่นว่าจะสร้างความปรองดองในชาติ หกปีหลังจากสงครามทางชาติพันธุ์ของประเทศเกาะแห่งนี้สิ้นสุดลง