เอเจนซีส์/เอเอฟพี - รัฐบาลออสเตรเลียของนายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ (Tony Abbott) ออกแถลงยอมรับคำสั่งศาลสูงออสเตรเลียในคืนดึกวานนี้ (7) ไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยศรีลังกากลับประเทศ โดยปราศจากการเตือนล่วงหน้า 72 ชม. ท่ามกลางการตำหนิอย่างมากจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน และ UNHCR ว่า รัฐบาลออสเตรเลียละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 โดยพบว่าก่อนหน้านี้ออสเตรเลียได้ผลักดันเรือผู้ลี้ภัยศรีลังกาที่บรรทุกผู้ลี้ภัยร่วม 41 คนกลับประเทศในขณะที่พบกลางทะเล
คำสัญญาครั้งนี้ออกมาหลังจากศาลสูงออสเตรเลียเปิดการไต่สวนฉุกเฉินในกลางดึกคืนวันจันทร์ (7) ป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยร่วม 153 คน รวมถึงเด็ก 37 คน ที่ถูกพบกลางทะเลถูกรัฐบาลออสเตรเลียผลักดันกลับไปทันที โดยทางทนายความกลุ่มสิทธิมนุษยชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง หลังจากเมื่อวานนี้ (7) รัฐบาลออสเตรเลียออกมายอมรับว่า ได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยศรีลังกาจำนวน 41 คน กลับคืนให้กองทัพเรือของศรีลังกาหลังพบกลางทะเลจริง โดยทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่า การจัดจำแนกกผู้ลี้ภัยกลางทะเล และส่งตัวกลับประเทศทันทีอาจขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัยเหล่านั้น
รายงานการพบเรือผู้ลี้ภัย 2 ลำลอยกลางทะเล ได้แพร่กระจายไปทั่วในสัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อวานนี้ (7) หลังจากที่ทางรัฐบาลออสเตรเลียได้ออกมายอมรับว่า มีการผลักดันเรืออพยพชาวศรีลังกาจาก 1 ใน 2 ลำ กลับออกไปจริง ทนายความกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้รับคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราวห้ามไม่ให้รัฐบาลออสเตรเลียผลักดันส่งตัวผู้อพยกลับศรีลังกากลับออกไปทันที
และจนกระทั่งถึงวันนี้ (8) รัฐบาลออสเตรเลียปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อเรือผู้อพยพลำนี้
ด้านนักกฎหมายกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อไปว่า ชาวทมิฬยังคงต้องเผชิญหน้าต่อการถูกคุกคาม และความรุนแรงในศรีลังกา 5 ปี หลังจากการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพศรีลังกาสิงหลและกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม
โดยทนายความสิทธิมนุษยชนที่เป็นตัวแทนกฎหมายให้กับผู้ลี้ภัยศรีลังกายังแถลงต่อศาลสูงออสเตรเลีย ว่า ผู้ลี้ภัยชุดนี้ไม่ได้ผ่านขั้นตอนรับผู้ลี้ภัยอย่างเหมาะสม แต่รองอธิบดีอัยการออสเตรเลีย จัสติน กลีสัน (Justin Gleeson) แย้งว่า เรือผู้อพยพเหล่านี้ถูกพบนอกเขตอพยพของออสเตรเลีย ซึ่งหมายความว่าผู้ลี้ภัยศรีลังกาเหล่านี้ไม่สามารถอ้างสิทธิ์ขอลี้ภัยได้
คดีนี้ถูกสั่งเลื่อนออกไปจนถึงวันศุกร์ (11)
บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานวันนี้ (8) ว่า การตัดสินใจของออสเตรเลียในการผลักดันผู้อพยพกลับกลางทะเลถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากทั้งกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ และองค์การสหประชาชาติ
รัฐบาลออสเตรเลียชุดปัจจุบันของนายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ (Tony Abbott) มีมาตรการแข็งกร้าวต่อผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเปิดโอกาสให้ใช้กำลังทหารเข้าจัดการและลากเรือของผู้อพยพที่พบกลับไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งแอบบ็อตตอบโต้ว่า “นโยบายของเขามีขึ้นเพื่อรักษาชีวิตของผู้ลี้ภัย ไม่ให้เดินทางเสี่ยงภัยมาถึงออสเตรเลีย” จากสถิติที่รายงานโดยบีบีซี พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2013 เป็นต้นมา มีผู้ลี้ภัยเสียชีวิตในระหว่างการเดินทางมายังออสเตรเลีย และเมื่อวานนี้ (7) สก็อต มอร์ริสัน (Scott Morrison) รัฐมนตรีกระทรวงอพยพเข้าเมืองแห่งออสเตรเลียเผยว่า “ไม่มีการลี้ภัยเข้าออสเตรเลียทางเรือเป็นเวลาถึง 200 วัน” ซึ่งประชาชนออสเตรเลียส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายผลักดันผู้ลี้ภัยอย่างแข็งกร้าวของแอ็บบอตต์ โดยเชื่อว่าส่วนใหญ่ลี้ภัยจากปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าภัยทางการเมือง
บีบีซียังรายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า “ในเรือลำแรกของผู้ลี้ภัยศรีลังกาที่ถูกตรวจสอบกลางทะเลก่อนส่งตัวกลับ มีเพียงแค่ 4 คนเป็นชาวทมิฬ และ 1 คนเป็นชายชาวสิงหล ซึ่งเขาได้รับคำแนะนำให้อยู่ต่อเพื่อรอพิจารณาคำขอลี้ภัย แต่ชายผู้นี้เลือกที่จะเดินทางกลับศรีลังกา” รัฐบาลออสเตรเลียแถลง
กิลเลียน ทริกส (Gillian Triggs) หัวหน้ากลุ่มสิทธิมนุษยชน โต้ว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีพันธสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ในการเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 ที่ต้องจัดให้ผู้ลี้ภัยผ่านช่องทางการคัดกรองอย่างเหมาะสม “เหมือนกับว่า ได้ตั้งคำถามราว 4-5 คำถามผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และมีการตัดสินในชั่วพริบตา และหลังจากนั้นผู้ลี้ภัยถูกผลักดันกลับประเทศไป” ทริกสให้สัมภาษณ์กับ ABC สื่อออสเตรเลีย
ด้าน UNHCR ขององค์การสหภาพ แถลงถึงความห่วงใยอย่างมากต่อชะตากรรมผู้อพยพจากเรือทั้งสองลำ และยืนยันความจำเป็นต้องทราบรายละเอียดกระบวนการคัดแยกผู้ลี้ภัยของรัฐบาลออสเตรเลียให้มากกว่านี้ เพื่อตรวจสอบว่า กระบวนการนั้นเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 ที่ระบุไว้หรือไม่
“UNHCR พบมากในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ว่า กระบวนการคัดแยกกลางทะเลนั้นส่วนมากไม่ส่งผลด้านบวก เพราะในสถานการณ์เช่นนั้น ไม่สามารถทำให้เกิดการตัดสินอย่างยุติธรรมได้” UNHCR แถลง
ในขณะเดียวกัน แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ศรีลังกาให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ลี้ภัยที่มีส่วนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่เดินทางกลับมาถึงศรีลังกาในวันจันทร์ (7) ชาย 28 คน และหญิง 4 คน ได้ถูกดำเนินคดีฐานเดินทางออกนอกประเทศผิดกฎหมายในวันถัดมา (8) เพราะไม่ได้ผ่านช่องทางออกนอกประเทศอย่างถูกต้อง ซึ่งมีความผิดสูงสุดถึงขั้นจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยเอเอฟพีรายงานว่า ผู้ลี้ภัย 27 จากทั้งหมด 41 คนได้รับประกันตัวชั่วคราว ในขณะที่อีก 5 คนยังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ส่วนเด็ก 9 คนถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระ