xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.ศรีลังกาลั่นจะ “ไม่ออกวีซ่า” ให้ผู้ตรวจสอบ UN เข้าไปขุดคุ้ยการก่ออาชญากรรมสงคราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี มหินทา ราชปักษี แห่งศรีลังกา
เอเอฟพี - รัฐบาลศรีลังกาจะไม่ออกวีซาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งต้องการเข้าไปสืบหาความจริงเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมสงครามฝีมือกองทัพในช่วงที่รัฐบาลใช้กำลังกวาดล้างกบฏแบ่งแยกดินแดน ประธานาธิบดี มหินทา ราชปักษี แถลงวันนี้ (19 ส.ค.)

“เราจะไม่อนุญาตให้พวกเขาเข้าประเทศ” ราชปักษี ประกาศเสียงแข็ง พร้อมแสดงท่าทีไม่ยี่หระต่อแรงกดดันจากนานาชาติ

รัฐบาลศรีลังกาปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจตรวจสอบของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ซึ่งได้ลงมติเมื่อเดือนมีนาคมให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสืบหาความจริงเรื่องที่กองทัพศรีลังกาถูกกล่าวหาว่าเข่นฆ่าพลเรือนถึง 40,000 คน ในช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนที่สงครามแบ่งแยกดินแดนจะสิ้นสุดลงในปี 2009

นับเป็นครั้งแรกที่ ราชปักษี ประกาศชัดเจนว่า ผู้ตรวจสอบยูเอ็นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ ซึ่งเท่ากับปิดโอกาสไม่ให้พวกเขาได้พบกับชาวศรีลังกาซึ่งพร้อมจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน

อย่างไรก็ดี ผู้นำศรีลังกาบอกว่ารัฐบาลยังพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ของยูเอ็น

“เราขอประกาศว่า เราไม่ยอมรับ (การสืบสวน) เราไม่เห็นด้วย... แต่หากเป็นหน่วยงานอื่นๆ ของยูเอ็น เราก็ยังพร้อมที่จะร่วมมือด้วยอย่างเต็มที่”

บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และบรรดาผู้นำประเทศทั่วโลก ต่างเรียกร้องให้โคลัมโบยอมร่วมมือกับ UNHRC หลังสงครามแบ่งแยกดินแดนที่ผลักให้กบฏชาวทมิฬและกองทัพของรัฐบาลที่เป็นชาวสิงหลต้องเข่นฆ่าห้ำหั่นกันมานานหลายสิบปี ปิดฉากลงไปได้

เมื่อต้นเดือนนี้ นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่กำลังจะหมดวาระ ออกมาชี้ว่าผู้ตรวจสอบยูเอ็นซึ่งต้องการหาหลักฐานการสังหารหมู่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปถึงศรีลังกาด้วยซ้ำ เพราะ “มีข้อมูลมากมาย” ที่หาได้นอกประเทศ

คำพูดของ พิลเลย์ ทำให้กระทรวงการต่างประเทศศรีลังกาออกมาตอบโต้ทันทีว่า การสืบสวนโดยหน่วยงานของเธอนั้น “คาดเดาผลเอาไว้ก่อน” และการที่ พิลเลย์ มีใจ “อคติและขาดความเป็นกลาง” ในเรื่องนี้นับว่าน่าเสียดาย

ศรีลังกายืนยันว่า กองทัพไม่เคยกระทำการใดๆ ที่เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม ระหว่างการปราบปรามกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในสงครามแบ่งแยกดินแดนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 30 ปี และคร่าชีวิตพลเมืองศรีลังกาไปกว่า 100,000 คน

พิลเลย์ ซึ่งไปเยือนศรีลังกาเมื่อปีที่แล้ว เคยประณามรัฐบาล ราชปักษี ว่าปฏิบัติตัวเยี่ยง “เผด็จการ” พร้อมแสดงความเป็นห่วงสวัสดิภาพของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนซึ่งทำงานอยู่ที่นั่น
เตนท์ที่อยู่อาศัยสำหรับชาวศรีลังกาที่พลัดถิ่นในประเทศ ซึ่ง UNHCR ได้เข้าไปสร้างไว้ให้ที่เมืองเชดดิกูรัม ห่างจากกรุงโคลัมโบไปทางเหนือราว 250 กิโลเมตร (แฟ้มภาพปี 2009)
กำลังโหลดความคิดเห็น