xs
xsm
sm
md
lg

จาก ‘นักรบกบฏศรีลังกา’กลายมาเป็น ‘ช่างตัดผม’ มีฝีมือ

เผยแพร่:   โดย: อามานธา เปเรรา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

From Tigers to Barbers: Tales of Sri Lanka’s Ex-Combatants
By Amantha Perera
15/07/2014

ภายหลังกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม กลุ่มติดอาวุธมุ่งแบ่งแยกดินแดนของชาวทมิฬในศรีลังกา พ่ายแพ้แก่กองทัพรัฐบาลในปี 2009 ปัจจุบัน อลอยเซียส ปาตริกเคล หนึ่งในอดีตนักรบของกลุ่มนี้ ได้กลายมาเป็นช่างตัดผมมีฝีมือในเมืองเล็กๆ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ยึดครองของกลุ่มนี้มาแต่เดิม ทว่าก็เช่นเดียวกับอดีต “พยัคฆ์” คนอื่นๆ อีกหลายพันคน การปรับตัวหลังจากที่ผ่านศึกสงครามมานานปี ยังคงมีปัญหาอุปสรรคอีกมากมายหลายอย่างหลายประการ

คิลิโนชชี, ศรีลังกา - มีคนจำนวนไม่น้อยเลยซึ่งพร้อมที่จะรอคอยอย่างยาวนาน เพื่อให้ได้เวลาสักไม่กี่นาทีจาก อลอยเซียส ปาตริกเคล (Aloysius Patrickeil) ช่างตัดผมวัย 32 ปีผู้เป็นเจ้าของร่วมของร้านตัดผมเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองคิลิโนชชี (Kilinochchi) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของศรีลังกา และอยู่ห่างจากเมืองหลวงโคลัมโบ ประมาณ 320 กิโลเมตร

ชายชราที่มีหนวดรกหนา นั่งรออยู่บนเก้าอี้เคียงข้างเด็กหนุ่มผู้ไว้ผมทรงอินเทรนด์และเลี้ยงเคราในสไตล์สุดจ๊าบจากภาพยนตร์พูดภาษาทมิฬเรื่องล่าสุด ขณะที่พวกแม่ๆ ดึงลากลูกๆ วัยละอ่อนให้เข้าอยู่ในแถวคอยอันยาวเหยียด เพื่อรอคิวที่จะได้เข้าสู่เก้าอี้ตัดผมอันน่าพิสมัยของช่างตัดผมผู้นี้

“เขาเป็นช่างที่เยี่ยมที่สุดในเมืองนี้เชียวละ” กัลลิมาน มาริยาดัส (Kalliman Mariyadas) เด็กหนุ่มซึ่งกำลังเข้าคิวรอผู้หนึ่ง กล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจ

เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ปาตริกเคลไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างนี้หรอก ในตอนนั้นเขาก็ไม่ได้มีความปรารถนาที่จะเป็นคนดังอะไรด้วย จวบจนกระทั่งถึงปี 2009 เขายังคงมีฐานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม “พยัคฆ์เพื่อการปลดแอกแห่งทมิฬอีแลม” (Liberation Tigers of Tamil Eelam ใช้อักษรย่อว่า LTTE) อันเป็นกลุ่มติดอาวุธมุ่งแบ่งแยกดินแดน ซึ่งได้ต่อสู้ทำสงครามกลางเมืองอยู่เป็นเวลายาวนานถึง 26 ปีกับรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าของศรีลังกา ด้วยจุดประสงค์ที่จะแยกตัวออกไปก่อตั้งประเทศเอกราชสำหรับประชากรชาวทมิฬ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศศรีลังกาที่ชนส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล

ปาตริกเคล ซึ่งเวลานี้กลายเป็นคุณพ่อของทารกน้อยอายุ 1 ขวบครึ่ง เคยสังกัดอยู่ในกองกำลังอาวุธทางเรือของกลุ่ม LTTE ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันว่า “พยัคฆ์แห่งท้องทะเล” (Sea Tigers) จวบจนกระทั่งการรุกใหญ่ของกองทัพรัฐบาลได้บดขยี้กวาดล้างกลุ่มกบฎกลุ่มนี้สำเร็จในปี 2009

ทุกวันนี้ เขายังคงระมัดระวังตัวไม่อยากเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการงานที่เขาเคยทำมาในอดีต

“มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมา ก็ได้เกิดขึ้นและผ่านพ้นไปแล้ว ผมไม่ต้องการย้อนกลับไปอีก” เขาบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ขณะที่กำลังนวดศีรษะให้แก่ลูกค้าของเขาที่เป็นชายวัยกลางคนผู้หนึ่ง

จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดของเขาในเวลานี้ก็คือ การทำให้มั่นใจได้ว่ากิจการของเขาสามารถทำเงินทำทองไปได้เรื่อยๆ “คนเราย่อมต้องการตัดผมอยู่เสมอ ดังนั้นมันจึงเป็นการเลือกอาชีพที่เข้าท่ามาก” เขากล่าวพร้อมกับเผยอยิ้ม

เวลานี้เขาเป็นสมาชิกซึ่งเป็นที่นิยมรักใคร่คนหนึ่งของชุมชน ตัวเขาเองก็ชอบที่จะพูดถึงเรื่องร้านของเขาและแผนการในอนาคตของเขา ทว่าไม่ค่อยอยากพูดถึงอดีตแห่งความรุนแรงของเขา หรือการที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในการสู้รบขัดแย้งที่ได้คร่าชีวิตผู้คนของทั้งสองฝ่ายไปเป็นจำนวนราว 100,000 คน ทั้งนี้ตามตัวเลขที่มีการหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างกัน

เมื่อรัฐบาลศรีลังกาประกาศว่ามีชัยชนะเด็ดขาดเหนือกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในเดือนพฤษภาคม 2009 ภายหลังการสู้รบอย่างนองเลือดในพื้นที่ต่างๆ ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศซึ่งกลุ่มกบฏเคยยึดครองอยู่ พวกนักรบของ LTTE จำนวนเกือบๆ 12,000 คน ถ้าหากไม่ยอมแพ้วางอาวุธก็ถูกกองทหารรัฐบาลควบคุมตัว ทั้งนี้ตามข้อมูลของฝ่ายรัฐบาล

นับถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ มีอดีตนักรบจำนวนมากกว่า 11,800 คนที่ได้รับการปล่อยตัว ภายหลังถูกส่งเข้าโครงการฟื้นฟูสภาพเป็นระยะเวลาต่างๆ กัน โดยที่ยังเหลือผู้ซึ่งถูกคุมขังเอาไว้ 132 คน

ตัวปาตริกเคลเองก็ถูกคุมขัง และจากนั้นก็ถูกส่งตัวเข้าโครงการฟื้นฟูสภาพ (ซึ่งมีการฝึกอาชีพด้วย) จนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2013 ถึงตอนนั้นเขาก็เช่นเดียวกับอดีตนักรบกบฎเรือนพันเรือนหมื่นคนอื่นๆ จะต้องออกมาปักหลักทำมาหากินในฐานะเป็นพลเรือนภายในเขตซึ่งเคยเป็นพื้นที่สงครามมาก่อน

“พวกเขาต่างต้องการชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม พวกเขาต่างต้องการใช้ชีวิตเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป” มูรูเกซุ คาโยดารัน (Murugesu Kayodaran) เจ้าหน้าที่ฝ่ายฟื้นฟูสภาพ ประจำสำนักงานเลขานุการเขตปกครองคิลิโนชชี (Kilinochchi District Divisional Secretariat) กล่าว

แต่หลังจากใช้เวลาอยู่นานปีในท่ามกลางสงครามและความรุนแรง และไม่ได้มีความตระหนักเอาเสียเลยด้วยซ้ำว่า ชีวิต “ธรรมดาสามัญ” นั้นเป็นอย่างไร คาโยดารัน บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสว่า เรื่องที่ดูเหมือนเป็นงานง่ายๆ เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ลำบากยากเย็นกว่าที่มองเห็นอยู่ในตอนแรก

ตามข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายฟื้นฟูสภาพ (Bureau of the Commissioner General of Rehabilitation) อดีตนักรบพยัคฆ์ทมิฬที่ได้รับการปล่อยตัว ส่วนใหญ่แล้วจะหางานใช้แรงงานทำกันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ นอกจากนั้นแล้วงานด้านอื่นๆ ซึ่งนิยมว่าจ้างผู้คนเหล่านี้ยังมีดังเช่น อุตสาหกรรมประมง, ภาคการเกษตร, ตลอดจนกรมป้องกันฝ่ายพลเรือนของรัฐบาล

ปัจจุบัน อดีตนักรบ LTTE ที่ผ่านการฟื้นฟูสภาพแล้วจำนวน 11% ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นผู้ว่างงาน สูงเป็น 2 เท่าครึ่งของอัตราการว่างงานของประเทศ

มีโครงการของทางการอยู่เพียงไม่กี่โครงการเท่านั้นที่เสนอให้ความช่วยเหลือแก่อดีตนักรบกบฎเหล่านี้ ในโครงการหนึ่งนั้นรัฐบาลจัดหาเงินกู้ให้เป็นรายบุคคลในวงเงินไม่เกินคนละ 25,000 รูปี (ประมาณ 6,175 บาท) ทว่าจวบจนถึงเวลานี้มีเพียง 1,773 รายเท่านั้นซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนได้รับเงินในโครงการนี้ไป ทั้งนี้ตามบันทึกข้อมูลสถิติต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

มีโครงการริเริ่มอีกโครงการหนึ่งที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross หรือ ICRC) ซึ่งเสนอให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่ารายละ 50,000 รูปี (ประมาณ 12,350 บาท) ทว่านับตั้งแต่ปี 2013 จนถึงตอนนี้ มีเพียง 523 รายเท่านั้นที่ได้รับเงินช่วยเหลือเช่นนี้

“เราพยายามให้ความช่วยเหลือแก่รายที่ควรได้การช่วยเหลือมากที่สุด ภายหลังที่มีการประเมินทบทวนกันอย่างรอบคอบแล้ว” เอ็ม เอส เอ็ม คามิล (M S M Kamil) ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ของสำนักงาน ICRC ในศรีลังกา บอกกับสำนักข่าวไอพีเอส อย่างไรก็ตาม การที่ไม่ค่อยมีโครงการคอยเกื้อหนุนเอาเสียเลยเช่นนี้ ย่อมหมายความว่ายังคงมีผู้คนอีกหลายพันคน กำลังดิ้นรนตะเกียกตะกายโดยที่ไม่มีเงินรายได้อันแน่นอนสม่ำเสมอ

คาโยดารัน กล่าวเสริมว่า จำเป็นต้องมีการให้ความช่วยเหลือระยะยาวอย่างยั่งยืน เพื่อนำเอาอดีตนักรบจำนวนหลายพันคนเหล่านี้ บูรณาการกลับเข้าสู่ชีวิตปกติด้วยความเอาใจใส่ระมัดระวัง ทั้งนี้จะต้องไม่ลืมว่าคนเหล่านี้จำนวนมากยังคงรู้สึกว่าพวกเขายังคงถูกประทับตราบาปติดตัว

“พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาจำเป็นจะต้องมีอิสรภาพในทางการเงิน เพื่อจะได้สามารถรู้สึกว่าชีวิตเป็นปกติเหมือนกับคนอื่นๆ แต่นอกจากนั้นแล้วยังมีประเด็นปัญหาที่ซ่อนลึกอยู่อย่างอื่นๆ ซึ่งยังคงไม่ได้รับการแก้ไข อย่างเช่น ภาวะซึมเศร้า, ภาวะบาดแผลทางจิตใจ, และการที่รู้สึกว่าไม่สามารถให้ความสนับสนุนครอบครัวได้ เป็นต้น” เขากล่าว

ความช่วยเหลือแม้เล็กน้อยก็มีคุณค่ายาวไกล

ห่างออกไปทางตะวันตกไม่กี่กิโลเมตรจากร้านตัดผมชนนิยมของปาตริกเคล เซลเลียห์ บาวานัน (Selliah Bavanan) หนุ่มใหญ่วัย 37 ปีทำงานคนเดียวอยู่ในร้านปะยางของเขาในเมืองเล็กๆ ชื่อ มัลลาวี (Mallavi) เขาก็เป็นอดีตพยัคฆ์ทมิฬ และคอยหลบเลี่ยงไม่ยอมเล่าว่าเขามีบทบาทหน้าที่อย่างไรอยู่ในกลุ่มกบฏดังกล่าว

ทั้งหมดที่เขายินดีจะบอกกับสำนักข่าวไอพีเอสก็คือ “สถานการณ์ในตอนนั้นเรียกร้องให้เราต้องตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มนี้”

ปัจจุบัน สายตาของเขาเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดไปยังถนนสายที่เชื่อมเมืองมัลลาวี กับเมืองคิลิโนชชี ซึ่งถือเป็นศูนย์การเงินแห่งหลักของพื้นที่แถบนี้

“ลูกค้าสำคัญที่สุดของผมคือพวกรถใหญ่ๆ” เขากล่าวย้ำ พร้อมกับเสริมว่าทุกวันนี้มีรถประเภทนี้จำนวนมากแล่นไปมาบนเส้นทางสายนี้ เพื่อลำเลียงขนส่งวัสดุก่อสร้างสำหรับใช้ในงานพัฒนาขนาดใหญ่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในบริเวณแถบนี้ซึ่งกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬเคยยึดครองเอาไว้จวบจนกระทั่งถึงช่วงต้นปี 2009

ตอนที่เขาได้รับเงินช่วยเหลือให้เปล่าจากโครงการของ ICRC เมื่อต้นปีนี้ บาวานันได้ตัดสินใจอย่างเฉลียวฉลาด ด้วยการนำเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนซื้อหาอุปกรณ์สำหรับกิจการเล็กๆ ของเขา และก็ได้เห็นจำนวนลูกค้าเพิ่มพูนขึ้นมาอย่างชัดเจนนับแต่นั้น

“ผมหาเงินได้ราววันละ 1,500 ถึง 3,000 รูปี (ประมาณ 370 ถึง 740 บาท) ถือว่ารายได้ดีทีเดียว” เขากล่าวยืนยันขณะกำลังปะยางเส้นใหญ่ที่มีรอยรั่ว

ปาตริกเคลก็ได้รับเงินช่วยเหลือให้เปล่าจากโครงการเดียวกัน และนำไปลงทุนซื้อพวกกระจก, กรรไกร, และเครื่องประกอบอื่นๆ สำหรับใช้ในร้านซึ่งเพื่อนคนหนึ่งเป็นเจ้าของ “ผมแบ่งเงินรายได้ครึ่งหนึ่งที่ผมได้มาในแต่ละวันให้กับเจ้าของร้าน” ปาตริกเคลบอก โดยที่เขาเผยว่าสามารถทำเงินได้ราววันละ 3,000 รูปีในพื้นที่แถบนี้ซึ่งค่าครองชีพตกประมาณเดือนละ 25,000 – 30,000 รูปี (6,175 -7,410 บาท)

การใช้ชีวิตด้วยเงินรายได้น้อยนิดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย โดยที่อดีตนักรบจำนวนมากในพื้นที่แถบนี้ยังคงต้องให้การสนับสนุนครอบครัวขยายของพวกเขาไปด้วย มีอดีตผู้ปฏิบัติงานของ LTTE ที่ได้รับบาดเจ็บผู้หนึ่ง ซึ่งสำนักข่าวไอพีเอสไปพูดคุยด้วย เล่าว่าเขาต้องหารายได้มาสนับสนุนครอบครัวตัวเองที่มีสมาชิก 3 คน แล้วยังต้องช่วยเหลือน้องชายอีก 1 คน และพ่อแม่ที่อายุมากแล้วอีก 2 คน

พวกเจ้าหน้าที่อย่างเช่น คามิล แห่ง ICRC บอกว่า อดีตนักรบหญิงที่ผ่านการอบรมฟื้นฟูสภาพแล้ว ยิ่งมีหนทางเลือกในการหางาน จำกัดกว่าอดีตนักรบชายด้วยซ้ำ

ส่วนพวกโครงการให้ความช่วยเหลือทางจิตวิทยาแก่พวกซึ่งบังเกิดบาดแผลลึกล้ำทางจิตใจจากการเข้าร่วมสงครามมานานปี ก็กำลังเพิ่งเริ่มต้นเผยโฉมเตาะแตะในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเขตสู้รบนี้ ทว่าไม่มีโครงการใดเลยซึ่งวางแผนจัดตั้งขึ้นมาสำหรับให้บริการพวกอดีตนักรบโดยเฉพาะเจาะจง

ไม่มีข้อมูลสถิติอย่างเป็นทางการว่าอดีตสมาชิกกลุ่ม LTTE ที่ได้รับบาดเจ็บนั้นมีจำนวนเท่าใด แต่ตามบันทึกต่างๆ ของรัฐบาลบ่งชี้ให้เห็นว่า ในจำนวนประชากรราว 1.1 ล้านคนของจังหวัดภาคเหนือ (Northern Province) ซึ่งเมืองคิลิโนชชีสังกัดอยู่ อย่างน้อยที่สุด 10 ถึง 20% ทีเดียวเป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม โดยที่จำนวนมากคือพวกที่เคยเป็นนักรบในช่วงเกิดสงคราม

พวกเขาบอกว่าปัญหาท้าทายใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะได้รับการยอมรับจากสังคม และทำอย่างไรจึงจะมีอิสรภาพในทางการเงิน ขณะที่ลู่ทางในเฉพาะหน้านี้ยังดูตีบตันมืดมน แต่ผู้คนจำนวนมากยังคงวาดหวังว่าสถานการณ์จะกระเตื้องดีขึ้นในช่วงหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป

“ตอนแรกทีเดียวมีสงคราม จากนั้นก็มีสันติภาพ เวลานี้เราลำบากยากจนอยู่ ก็หวังว่าในช่วงต่อไปเราจะมั่งคั่งร่ำรวย” มาริยาดัส (Mariyadas) เด็กหนุ่มที่เป็นลูกค้าของปาตริกเคลกล่าว ขณะลุกขึ้นยืนเมื่อถึงคิวของเขาที่จะได้ขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ทำงานของพยัคฆ์แห่งท้องทะเลผู้เปลี่ยนมาเป็นกัลบกช่างตัดผม

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนเรื่องนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ซึ่งมองจากแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น