เอเอฟพี – ไมตรีพาลา ศิริเสนา สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของศรีลังกาแล้วเมื่อวานนี้(9) หลังหักปากกาเซียนทุกสำนักด้วยการคว้าคะแนนเสียงถล่มทลายในศึกเลือกตั้ง โค่นประธานาธิบดี มหินทา ราชปักษี ลงจากเก้าอี้แบบเหนือความคาดหมาย
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ ศิริเสนา จะกล่าวคำสาบานตนเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ อดีตประธานาธิบดี ราชปักษี ได้ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมยืนยันว่าเคารพการตัดสินใจของประชาชนที่พร้อมใจกันออกมากาคะแนนให้ฝ่ายตรงข้าม เพื่อปิดฉากการครองอำนาจนานถึง 10 ปีของเขาลง
ศิริเสนา ประกาศว่า ศรีลังกาพร้อมที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับนานาชาติ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเอ่ยอ้างถึงรัฐบาลชุดเก่าที่ถูกโลกตะวันตกกล่าวหาว่าใช้กองทัพละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงที่ทำสงครามกับกบฏชาวทมิฬ
“เราจะมีนโยบายต่างประเทศที่เน้นเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับประชาคมโลกและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้พลเมืองทุกคนได้รับผลประโยชน์สูงสุด... เราพร้อมจะทำงานด้วยมิตรภาพ ภราดรภาพ และความร่วมมือกับทุกๆ รัฐ” ประธานาธิบดีคนใหม่กล่าว
ท้องฟ้าเหนือกรุงโคลอมโบสุกสว่างไปด้วยแสงจากพลุอันตระการตา ขณะที่ ศิริเสนา สาบานตนเข้ารับตำแหน่งที่จตุรัสเอกราช พร้อมกับ รานิล วิกเกรเมสิงห์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่
วิกเกรเมสิงห์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านยูไนเต็ดเนชันแนลปาร์ตี (UNP) แถลงต่อสื่อมวลชนว่า “ชาวศรีลังกาต้องการเห็นวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ ผมไม่ต้องการให้ใครใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของตนเอง”
ศิริเสนา ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่รวบรวมกลุ่มขั้วฝ่ายค้านมาสู้กับ ราชปักษี และสามารถคว้าชัยชนะมาได้อย่างไม่คาดฝัน ได้กล่าวขอบคุณ ราชปักษี ที่ “จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม จนทำให้ผมได้เป็นประธานาธิบดีในวันนี้”
ศิริเสนา ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียง 51.28% ขณะที่ ราชปักษี ได้เพียงมา 47.58% ซึ่งถือว่าพลิกโผ และสร้างความตกตะลึงต่อตัว ราชปักษี เองที่ประกาศเลือกตั้งในเตือนพฤศจิกายน และมั่นใจอย่างยิ่งว่าตนจะต้องชนะ
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวสรรเสริญการเลือกตั้งที่ “ประสบความสำเร็จและสันติ” ในศรีลังกา และยังชื่นชมรัฐบาล ราชปักษี ที่เตรียมการถ่ายโอนอำนาจได้อย่าง “รวดเร็วและเป็นระเบียบเรียบร้อยดี”
“การเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากจะสำคัญต่อศรีลังกาเองแล้ว ยังเป็นสัญญาณแห่งความหวังสำหรับผู้คนทั่วโลกที่สนับสนุนหลักประชาธิปไตย” โอบามา กล่าว
ศิริเสนา ให้สัญญาจะปฏิรูปสถาบันประธานาธิบดี และถ่ายโอนอำนาจบริหารหลายอย่างให้แก่รัฐสภา โดยตนจะดำรงตำแหน่งเพียงสมัยเดียวเท่านั้น เพราะเล็งเห็นถึงความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อ ราชปักษี
หลังชนะเลือกตั้งในปี 2010 ราชปักษี ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย และยังเพิ่มอำนาจในการควบคุมพนักงานรัฐและระบบตุลาการ