เอเจนซีส์ - นายกฯ กรีซยืนยันรักษาสัญญาที่ให้ไว้ในระหว่างหาเสียง ทั้งการประกาศยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัด รวมถึงการต่อสัญญาเงินกู้งวดใหม่ ขณะที่วอชิงตันเรียกร้องบรัสเซลส์หาทางประนีประนอมกับเอเธนส์ เนื่องจากกลัวว่า การเผชิญหน้าในยุโรปอาจส่งผลลุกลามต่อเศรษฐกิจโลก ทางด้าน “กรีนสแปน” อดีตนายใหญ่เฟดชี้ไม่ช้าก็เร็วกรีซต้องถอนตัวจากยูโรโซน
วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (8 ก.พ.) ระหว่างการแถลงนโยบายสำคัญครั้งแรกต่อรัฐสภานับจากรับตำแหน่งเมื่อต้นเดือน นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส กล่าวว่า กรีซไม่สามารถชำระหนี้ และจะหันไปใช้วิธีขอเงินกู้ระยะสั้นแบบบริดจ์โลนแทน ซึ่งคาดว่าจะสามารถโน้มน้าวพันธมิตรในยุโรปได้ภายใน 15 วันนับจากนี้
ผู้นำกรีซเสริมว่าจะรักษาสัญญาทั้งหมดที่ให้ไว้ระหว่างการหาเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุติมาตรการรัดเข็มขัดที่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และนำไปสู่วิกฤตมนุษยธรรมในกรีซ
สิ่งแรกที่ผู้นำกรีซจะดำเนินการคือ จัดการกับบาดแผลร้ายแรงซึ่งเกิดจากเงื่อนไขในข้อตกลงเงินกู้ และวิกฤตมนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงการแจกอาหารและกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงที่สุด การยกเลิกการเก็บภาษีทรัพย์สินรายปี การจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างรัฐที่มีรายได้ต่ำ การรับลูกจ้างรัฐที่ถูกปลดออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเข้าทำงาน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการยกเว้นภาษีแก่ผู้มีรายได้ต่ำ
ทั้งนี้ สองแนวทางหลังสุดนั้นขัดแย้งโดยตรงกับเงื่อนไขซึ่งพวกเจ้าหนี้ระหว่างประเทศกำหนดให้กรีซต้องปฏิบัติ
ซีปราสยังประกาศมาตรการลดการใช้จ่ายหรือเพิ่มรายได้ อาทิ การเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ การปราบปรามการเลี่ยงภาษีและการคอร์รัปชัน การลดรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการขายเครื่องบินประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 1 ลำ
ผู้นำเอเธนส์ยังย้ำข้อเรียกร้องให้เยอรมนี เจ้าหนี้รายใหญ่สุด จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจากเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และคืนเงินที่นาซีบีบให้ธนาคารกลางกรีซจ่ายตอนที่เข้ายึดครองกรีซ
ซิริซา พรรคซ้ายจัดของซีปราส อ้างว่า เยอรมนีเป็นหนี้กรีซราว 162,000 ล้านยูโร หรือครึ่งหนึ่งของหนี้สาธารณะของเอเธนส์ในขณะนี้
ประเด็นนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์เอเธนส์-เบอร์ลินตึงเครียดยิ่งกว่าเดิม เพราะนอกจากยืนกรานไม่จ่ายเงินตามข้อกล่าวอ้างของซิริซาแล้ว เยอรมนียังคัดค้านการยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัดอย่างแข็งกร้าว
ทั้งนี้ โปรแกรมเงินกู้ปัจจุบันของกรีซจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 เดือนนี้ และต้องมีการเจรจาเพื่อขอรับเงินกู้งวดสุดท้ายจำนวน 7,200 ล้านยูโร ทว่า เอเธนส์ต้องการให้เจ้าหนี้อนุญาตในการออกตราสารหนี้ระยะสั้นเพิ่มระหว่างการตกลงสัญญาฉบับใหม่
ซีปราสยืนยันว่า กรีซต้องการชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้เห็นตรงกันก็ควรเปิดการเจรจาเพื่อหาทางออก
อย่างไรก็ตาม เจอโรน ดิจเซลโบลม ประธานยูโรกรุ๊ป ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีคลังจากชาติสมาชิกทั้งหมดของยูโรโซน กล่าวตั้งแต่วันศุกร์ (6) ว่า กรีซต้องต่อสัญญาเงินกู้ หากต้องการการสนับสนุนจากยูโรโซนต่อไป และสำทับว่า จะไม่มีการให้บริดจ์โลน โดยรัฐมนตรีคลังยูโรโซนมีกำหนดประชุมกันในวันพุธ (11) เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอหนี้ของกรีซ
ก่อนหน้านั้น ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ออกคำแถลงยุติการรับพันธบัตรคลังกรีซเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้สำหรับธนาคารเอกชนของกรีซ
กรีซนั้นมีหนี้สะสมกว่า 320,000 ล้านยูโร หรือ 174% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
วันอาทิตย์ ยานิส วารูฟากิส รัฐมนตรีคลังกรีซที่เพิ่งเสร็จสิ้นการเยือนยุโรปเพื่อพยายามสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับแผนการใหม่ของเอเธนส์ ให้สัมภาษณ์สถานีทีวีของอิตาลีว่า ยูโรเปราะบางอย่างยิ่งและคงหนีไม่พ้นการล่มสลาย ถ้ากรีซถอนตัวออกไป
ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ของอังกฤษรายงานว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังผลักดันให้ผู้นำยูโรโซนยอมประนีประนอมกับเอเธนส์มากขึ้น เนื่องจากกลัวว่า การเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่ายอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก โดยคณะผู้แทนของอเมริกาที่นำโดย ดาลีป ซิงห์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกิจการยุโรปของกระทรวงคลัง กำลังเดินทางไปยังเอเธนส์ในขณะนี้
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันอาทิตย์ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้แสดงความเห็นผ่านวิทยุโทรทัศน์บีบีซี ว่า การที่กรีซยังคงอยู่ในยูโรโซนไม่ได้เป็นผลดีทั้งต่อตนเองและสมาชิกชาติอื่น ดังนั้น ขณะนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า ทุกฝ่ายจะตระหนักเมื่อใดว่า การถอนตัวของกรีซเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการแก้ไขวิกฤต
กรีนสแปนที่บริหารเฟดระหว่างปี 1987-2006 สำทับว่า ยูโรโซนไม่สามารถคงรูปแบบเดิมได้โดยไม่มีการรวมตัวกันทางการเมือง