บีบีซีนิวส์ - อลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟดผู้ทรงอิทธิพล ให้สัมภาษณ์ระบุวิกฤตที่ให้อเมริกาเกือบผิดนัดชำระหนี้เป็นสิ่งที่ “เข้าใจได้” แม้ตัวเขาเองไม่เคยพบเจอสถานการณ์ที่ “การประนีประนอม” ดูเหมือนห่างไกลความจริงเช่นนี้มาก่อนก็ตาม พร้อมกันนั้นเขาก็เตือนว่า “ทุนนิยมแบบพวกพ้อง” กำลังระบาดในแดนอินทรี ขณะที่จีนนั้นเขาเสนอแนะว่าควรมุ่งมั่นส่งเสริมนวัตกรรมแทนการ “หยิบยืมเทคโนโลยี” เพื่อป้องกันสภาวะการเติบโตชะลอตัว นอกจากนั้นเขามองว่าวิกฤตยูโรโซนยังไม่จบ จนกว่าจะมีการรวมตัวกันทางการเมือง
ถึงแม้ระบุว่าเขา “เข้าใจ” เป้าหมายของกลุ่มทีปาร์ตี้ หรือสมาชิกอนุรักษนิยมสุดขั้วของพรรครีพับลิกันที่ขับเคี่ยวชนิดไม่ลดราวาศอกกับรัฐบาลสหรัฐฯระหว่างเจรจาเพิ่มเพดานการก่อหนี้ แต่กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็ชี้ว่า เทคนิคการต่อสู้ที่กลุ่มนี้นำมาใช้นั้น “ไม่เป็นประชาธิปไตย”
ระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษซึ่งบีบีซีเตรียมนำออกอากาศทางวิทยุและทีวีนั้น กรีนสแปน บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดด้านนโยบายเศรษฐกิจขณะกุมบังเหียนเฟดระหว่างปี 1987-2006 ระบุว่า วิกฤตยูโรโซนไม่มีแนวโน้มยุติลงจนกว่าภูมิภาคนี้จะมีการรวมตัวเป็นสหภาพการเมืองอย่างแท้จริง
กรีนสแปนยังปกป้องผลงานขณะบริหารเฟดของเขา จากที่มีผู้วิจารณ์ว่า การใช้นโยบายผ่อนคลายสินเชื่อและกฎระเบียบแบบหลวมๆ เป็นต้นเหตุนำไปสู่วิกฤตการเงินปี 2008 นอกจากนั้นเขาปฏิเสธไม่วิพากษ์วิจารณ์ตลาดอนุพันธ์การเงิน
“สิ่งหนึ่งที่น่าตกใจ คือ ไม่เพียงโมเดลที่ซับซ้อนมากของเฟดเท่านั้นที่ตรวจไม่พบแนวโน้มตลาดการเงินล่มในวันที่ 15 กันยายน 2008 แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และเจพี มอร์แกน ที่คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก่อนเกิดวิกฤตเพียง 3 วัน ก็พลาดเช่นกัน มิหนำซ้ำมูลค่าของเจพี มอร์แกนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดปี 2009 และ 2010”
กรีนสแปนสำทับว่า การทำนายฟองสบู่ทางเศรษฐกิจนั้นต่างจากการทำนายว่า ฟองสบู่จะแตกเมื่อใด พร้อมทั้งปฏิเสธเสียงวิจารณ์ว่า เขาพลาดที่ไม่ได้เตือนอย่างชัดเจนว่า ตลาดการเงินอาจกำลังซวนเซใกล้ล่ม โดยเขาแก้ต่างว่าเนื่องจากเขาต้องระวังคำพูดอย่างมากเพื่อไม่ทำให้ตลาดแตกตื่น
กรีนสแปน วัย 87 ปี ที่ปัจจุบันบริหารกิจการให้คำปรึกษาของตนเอง ยังวิจารณ์ “ลัทธิทุนนิยมแบบพวกพ้อง” ที่กำลังระบาดมากขึ้นในอเมริกา
“ทุนนิยมแบบพวกพ้องคือสภาวะที่เจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชนที่จ่ายเงินเพื่อให้ได้การสนับสนุนทางการเมือง” กรีนสแปนเสริมว่า พฤติกรรมนี้แพร่หลายในจีนและรัสเซีย แต่ไม่ใช่เรื่องที่พบได้ทั่วไปในอเมริกาหรืออังกฤษ
“อย่างไรก็ตาม ผมเริ่มกังวลว่าขณะนี้เรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางนั้น”
เกี่ยวกับจีน กรีนสแปนมองว่าอัตราเติบโตจะเริ่มชะลอลงเว้นแต่จีนมีความคืบหน้าด้านนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น
“หนึ่งในปัญหาสำคัญของจีน คือ นวัตกรรมส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีที่หยิบยืมมา ผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า บริษัทนวัตกรรม 100 แห่งแรกของโลกเป็นบริษัทอเมริกันถึง 40 แห่ง แต่ไม่มีบริษัทจีนเลย
“แม้จีนมีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุดในโลก แต่ผลผลิตเหล่านั้นมาจากการหยิบยืมเทคโนโลยีจากต่างชาติ ทั้งด้วยการร่วมทุนและวิธีการอื่นๆ"
กรีนสแปนเสริมว่า หากจีนไม่เลือกผลักดันนวัตกรรมแบบเฉพาะเจาะจงอย่างมาก อัตราเติบโตจะเริ่มลดลง และทิ้งท้ายว่า ส่วนหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากการที่จีนมีระบบการเมืองแบบพรรคเดียว และมีการโอนอ่อนยอมตามกันมากเกินไป ขณะที่ผู้คิดค้นนวัตกรรมก็ยังไม่ได้ “คิดนอกกรอบ” มากพอ