เอเอฟพี - อังกฤษวานนี้ (3 ก.พ.) กลายเป็นชาติแรกในโลก ที่อนุญาตให้มีการทำเด็กหลอดแก้วจากดีเอ็นเอของ “บุคคล 3 คน” ภายหลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติสนับสนุนขั้นตอนทางการแพทย์ที่ตกเป็นประแสวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้
สมาชิกสภานิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษมีมติ 382 ต่อ 128 เสียงสนับสนุนขั้นตอนการปฏิสนธิในหลอดแก้ว (IVF) ด้วยดีเอ็นเอจากคน 3 คน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งป้องกันโรคร้ายแรงทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก
เมื่อมีการแก้กฎหมายว่าด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว ตลอดจนการรับดีเอ็นเอ “นิวเคลียร์” จากพ่อและแม่ตามขั้นตอนปกติแล้ว ตัวอ่อนของเด็กยังจะได้รับดีเอ็นเอสุขภาพดีที่เรียกกันว่า “เอ็มดีเอ็นเอ” จากผู้บริจาคหญิง
เจเรมี ฟาร์รา ผู้อำนวยการองค์กรการกุศลด้านสาธารณสุข “เวลคัม ทรัสต์” ระบุว่า “ครอบครัวที่ทราบดีว่า การดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคร้ายนั้นยากลำบากเพียงใดจะมีสิทธิตัดสินใจว่า จะเลือกรับบริจาคไมโทคอนเดรียหรือไม่”
“เรารู้สึกยินดีที่สภาโหวตสนับสนุนให้พวกเขามีสิทธิ์เลือก”
ทั้งนี้ เป็นที่คาดหมายกันว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะสามารถผ่านออกมาจากวุฒิสภาได้โดยง่ายภายหลังในเดือนนี้ ซึ่งจะช่วยปูทางให้พ่อแม่สามารถทำ IVF แบบใหม่ได้ตั้งแต่ปีหน้า
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ให้แก่หญิงในวัยเจริญพันธุ์ถึง 2,500 คนในอังกฤษที่เป็นโรคไมโทคอนเดรีย ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านชี้ว่า อาจทำให้พ่อแม่ในอนาคตพยายามเฟ้นหา “เอ็มดีเอ็นเอ” จากคนที่ดีที่สุด จนกลายเป็นธุรกิจได้
ทั้งนี้ ดีเอ็นเอ ไมโทคอนเดรีย (เอ็มดีเอ็นเอ) นั้นจะถูกส่งผ่านจากแม่ไปสู่ลูก และโรคไมโทคอนเดรียนั้นจะก่อให้เกิดอาการต่างๆ นับตั้งแต่มีปัญหาในการมองเห็น ไปจนถึงโรคเบาหวาน และกล้ามเนื้อลีบ
ไมโทคอนเดรียเป็นโครงสร้างภายในเซลล์ที่สร้างพลังงานให้ร่างกายมนุษย์สามารถทำงานได้
บรรดาองค์กรการกุศลด้านโรคทางพันธุกรรมพากันขานรับการลงมติครั้งประวัติศาสตร์ด้วยความยินดี
จอห์น ทูก ประธานแพทยสภาอังกฤษกล่าวว่า เขา “ยินดี” กับผลโหวตที่ออกมา
“การทำ IVF ด้วยวิธีเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนเด็กที่ป่วยเป็นโรคไมโทคอนเดรีย และช่วยให้ครอบครัวหลายสิบครอบครัวสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และมีสุขภาพดี”
อย่างไรก็ตาม ชาวอังกฤษจำนวนมากยังคงต่อต้านการแก้ไขกฎหมายทำเด็กหลอดแก้ว ถึงแม้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจด้านสาธารณสุขจะได้ปรึกษาหารือกับสาธารณชน และประชาคมวิทยาศาสตร์กันถึงเรื่องนี้ มานานหลายปีแล้วก็ตาม
ผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยการตลาด “คอมเรส” ในช่วงก่อนการลงประชามติสภาผู้แทนราษฎรเผยให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำเด็กหลอดแก้ว ในขณะที่ร้อยละ 41 คัดค้าน ส่วนอีกร้อยละ 39 ระบุว่าพวกเขาเห็นเป็นอย่างอื่น หรือไม่ขอออกความคิดเห็น
ในกลุ่มผู้คัดค้านนั้นมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ และผู้นำทางศาสนา