เอเอฟพี - อังกฤษเมื่อวันอังคาร (3 ก.พ.) กลายเป็นชาติแรกในโลกที่จะอนุญาตให้มีบุตรจากดีเอ็นเอของบุคคล 3 คน ที่จะช่วยป้องกันภาวะผิดปกติทาง “ไมโทคอนเดรีย” ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม หลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบกระบวนการอันเป็นที่ถกเถียงนี้
เหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ลงมติ 382 ต่อ 128 เสียง เห็นชอบอนุญาตให้ทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) จากบุคคล 3 คน โดยมีเป้าหมายคือป้องกันโรคทางพันธุกรรมร้ายแรงที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก
เจเรมี ฟาร์ราร์ ผู้อำนวยการเวลล์คัม ทรัสต์ มูลนิธิการกุศลด้านสาธารณสุข “ครอบครัวที่รู้ตัวว่ามีโรคทางพันธุกรรม แต่อยากมีบุตร คือบุคคลที่เหมาะสมอย่างที่สุดที่จะตัดสินใจว่าไมโทคอนเดรียที่ได้รับบริจาคเป็นทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับพวกเขา เรายินดีต่อมติที่มอบทางเลือกแก่พวกเขาเหล่านี้”
เทคนิคไอวีเอฟจะช่วยลดอัตราการป่วยด้วยโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไมโตคอนเดรีย ที่มักเป็นยีนถ่ายทอดมาจากทางมารดา อาทิ โรคกล้ามเนื้อลีบที่เกิดจากการเจริญแบบผิดเพี้ยนของเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งการใช้เทคนิคสกัดดีเอ็นเอด้อยของมารดาออกไป แล้วแทนที่ด้วยดีเอ็นเอที่ดีกว่า ซึ่งมาจากบุคคลที่สาม น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ทารกที่เกิดจากหลอดแก้วมีสุขภาพแข็งแรง และลดความเสี่ยงการป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรม
ไมโทคอนเดรีย ดีเอ็นเอ (เอ็มดีเอ็นเอ) ถ่ายทอดผ่านมารดา และโรคความผิดปกติจากไมโทคอนเดรียเป็นต้นตอของอาการต่างๆ ไล่ตั้งแต่มองเห็นไม่ขัด ไปจนถึงโรคเบาหวานและกล้ามเนื้อลีบ
คาดหมายว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาในช่วงปลายเดือน เปิดทางให้สามารถเริ่มต้นกระบวนการสร้างบุตรจากดีเอ็นเอของบุคคล 3 คน ในช่วงต้นปีหน้า โดยการแก้ไขครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ราว 2,500 คนในอังกฤษ ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมไมโทคอนเดรีย แต่ฝ่ายต่อต้านมองว่ามันอาจเปิดทางให้กรณี “เด็กทารกออกแบบได้“” เกิดขึ้นในอนาคต
แนวคิดในการออกแบบมนุษย์อาจเป็นจริงขึ้นในอนาคต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะสามารถสอดแทรกยีนต่างๆ เข้าไปในตัวอ่อนได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นยีนที่ทำให้ฉลาด หรือยีนที่ทำให้เป็นอัจฉริยะด้านกีฬาก็ย่อมได้ เพื่อสร้างให้เป็นทารกในอุดมคติ แต่กลุ่มคนที่ต่อต้านก็กล่าวว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้เด็กน้อยไม่ต่างไปจากสิ่งของอื่นๆ ที่ถูกออกแบบขึ้นโดยมนุษย์ และยังอาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่หากใครมียีนเด่นมากกว่าก็จะได้รับโอกาสที่ดีกว่าผู้ที่เกิดมาพร้อมกับยีนด้อย
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้สำนักงานการเจริญพันธุ์มนุษย์และตัวอ่อนวิทยาเป็นผู้ควบคุมกระบวนการดังกล่าวและคาดหมายว่าศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งในนิวคาสเซิลจะเป็นสถานที่แห่งแรกจะเปิดดำเนินการเรื่องนี้
เหล่ามูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรม ต่างเฉลิมฉลองมติครั้งประวัติศาสตร์ของสภาผู้แทนราษฎร “ท้ายที่สุดเราก็มาถึงหลักชัยที่เปิดทางให้ผู้หญิงมีทางเลือกที่ประเมินค่ามิได้ ทางเลือกที่จะเป็นแม่คนโดยปราศจากความหวาดกลัวว่าจะส่งต่อชีวิตใต้เงามืดแห่งโรคความผิดปกติจากไมโทคอนเดรียไปยังลูก” โรเบิร์ต มีโดว์โครฟต์ ซีอีโอของกลุ่มรณรงค์ต่อสู้โรคกล้ามเนื้อลีบกล่าว
ชาวอังกฤษจำนวนมากยังคงต่อต้านข้อเสนอแก้กฎหมายดังกล่าว แม้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการปรึกษาประชาชนและประชาคมนักวิทยาศาสตร์มาหลายปี โดยผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักงานวิจัยด้านการตลาด “คอมเรส” ก่อนการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร พบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 20 ที่สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีมากถึงร้อยละ 41 ส่วนอีกร้อยละ 39 บอกว่าไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว
ในส่วนของฝ่ายคัดค้านนั้นมีทั้งนักวิทยาศาสตร์และผู้นำทางศาสนา โดย เดวิด คิง ผู้อำนวยการของกลุ่มเฝ้าระวัง Human Genetics Alert บอกว่า “ถ้าเราต้องการหลีกเลี่ยงฝันร้ายจากเด็กทารกออกแบบได้ในอนาคต เราต้องวางกรอบในตอนนี้”