เอเอฟพี – ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ปิดฉากภารกิจเยือนอินเดียในวันนี้(27) โดยเน้นย้ำถึงค่านิยมประชาธิปไตยที่ทั้งสหรัฐฯ และอินเดียต่างเชิดชู พร้อมระบุว่าวอชิงตันพร้อมจะเป็น “หุ้นส่วนที่ดีที่สุด” ให้กับนิวเดลี
โอบามา ได้กล่าวปราศรัยต่อผู้ฟังซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่หอประชุม สิริ ฟอร์ต (Siri Fort Auditorium) ในกรุงนิวเดลี โดยย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียจะ “ให้คำนิยามของความเป็นหุ้นส่วนในศตวรรษนี้” พร้อมเตือนว่า การแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะไม่มีทางสำเร็จได้ หากปราศจากความร่วมมืออย่างเต็มที่จากแดนภารตะ
สุนทรพจน์ของ โอบามา ในวันนี้(27) นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญในภารกิจเยือนอินเดียเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เคยเสื่อมถอยกลับอบอุ่นขึ้นทันตาเห็น
โอบามาได้ลงนาม “ปฏิญญามิตรภาพ” ร่วมกับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ผู้นำหัวขวาจัดของอินเดีย ซึ่งเมื่อไม่ถึง 1 ปีที่แล้วยังเป็น “บุคคลไม่พึงประสงค์” (persona non grata) ที่วอชิงตันสั่งห้ามเข้าประเทศ
หลังจากที่พรรคภารติยะชนตะของ โมดี ชนะเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ ก็ไม่รีรอที่จะขอคืนดีและผูกมิตรกับ โมดี โดยหวังที่จะดึงอินเดียเป็นพันธมิตรเพื่อคานอำนาจกับจีน
“อินเดียกับสหรัฐฯ ไม่เพียงเป็นหุ้นส่วนกันโดยธรรมชาติ แต่ผมเชื่อว่าอเมริกาสามารถเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่สุดของอินเดียได้” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ฟังชาวอินเดียราว 1,500 คน
“แน่นอนว่า บทบาทของอินเดียในเวทีโลกจะต้องให้ชาวอินเดียเท่านั้นเป็นผู้ตัดสิน แต่ผมมาที่นี่เพราะผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า พลเมืองเราทั้ง 2 ประเทศจะมีงานทำและมีโอกาสมากขึ้น ประเทศของเราจะปลอดภัยยิ่งขึ้น และโลกจะมีความสันติสุขและเป็นธรรมมากขึ้น หากเราซึ่งเป็นชาติประชาธิปไตยด้วยกันทั้งคู่ได้ร่วมมือกัน”
โอบามา ได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษในพิธีสวนสนามฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย 26 มกราคม ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดที่รัฐบาลอินเดียมอบให้แก่ผู้นำต่างชาติ
ทั้ง โอบามา และ โมดี พยายามที่จะแสดงออกถึงความเป็นมิตรที่สนิทชิดเชื้อ และยังประกาศฝ่าทางตันว่าด้วยเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์พลเรือนเมื่อวันอาทิตย์(25) ซึ่งรัฐบาลอินเดียชุดที่แล้วไม่สามารถทำได้ แต่นอกจากนั้นก็ยังไม่มีคำประกาศอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
โอบามา ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพต้อนรับ โมดี ที่ทำเนียบขาวเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ระบุว่า “ดวงดาวทั้งหลายได้เรียงตัว” เพื่อเปิดทางให้วอชิงตันและเดลีได้กลายเป็นพันธมิตรระดับโลก
สหรัฐฯ ต้องการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในเอเชีย-แปซิฟิกตามยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” เอเชียของ โอบามา และมองออกว่า โมดี มีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีนมากกว่าผู้นำอินเดียคนก่อน
ปักกิ่งอ้างอธิปไตยของตนเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่สำคัญของโลก และนั่นทำให้จีนต้องพัวพันข้อพิพาทกับหลายประเทศแถบนี้
“สหรัฐฯ ยินดีที่อินเดียจะก้าวขึ้นมามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเสรีภาพในการเดินเรือจะต้องได้รับการปกป้อง และมีการคลี่คลายข้อพิพาทกันอย่างสันติ” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว
โมดี ประกาศเมื่อวันอาทิตย์(25)ว่า อินเดียไม่พร้อมที่จะถูกชาติใดกดดันเรื่องปัญหาสภาพอากาศ โดยมีนัยยะถึงกรณีที่จีนยอมทำข้อตกลงลดก๊าซเรือนกระจกกับสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี โอบามา เตือนว่า การแก้ไขภาวะโลกร้อนไม่อาจบรรลุผลได้ หากประเทศกำลังพัฒนายังไม่ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล
“ผมทราบดีว่าใครบางคนอาจกำลังโต้แย้งว่า ไม่เป็นธรรมเลยที่สหรัฐฯ จะขอร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดียลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งที่สหรัฐฯ เองก็เคยพึ่งพลังงานชนิดนี้จนเติบโตมานานกว่าร้อยปี... แต่ความเป็นจริงก็คือ ต่อให้สหรัฐฯ ปลดปล่อยคาร์บอนน้อยลง เราก็ไม่อาจเอาชนะโลกร้อนได้ ตราบใดที่ประเทศกำลังพัฒนาและมีความต้องการใช้พลังงานสูงอย่างอินเดียยังไม่หันไปพึ่งพลังงานสะอาด”
ขณะที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเปิดฉากขึ้นที่กรุงปารีสในเดือนธันวาคมนี้ รัฐบาลเดลียังคงปฏิเสธที่จะให้คำมั่นในเรื่องก๊าซเรือนกระจก โดยระบุว่า อินเดียจะไม่ตั้งเป้าหมายใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตพลเมือง 1,200 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน
เมื่อวานนี้(26) นายกรัฐมนตรี โมดี ยังประกาศจะกอบกู้ภาพลักษณ์ของอินเดียซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนทำธุรกิจ โดยจะปฏิรูปภาษีให้เหมาะต่อการแข่งขัน และลดทอนข้อจำกัดด้านการลงทุน