เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ – สมาชิกกว่า 190 ชาติขององค์การสหประชาชาติ สามารถผลักดันสร้างความคืบหน้าเมื่อวันอาทิตย์ (14 ธ.ค.) ในเรื่องที่จะทำข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์เพื่อต่อสู้เอาชนะปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของพื้นพิภพ โดยในการประชุมหารือกันที่กรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งกลายเป็นการเจรจาต่อรองกันอย่างมาราธอน พวกเขาสามารถเห็นพ้องกันเกี่ยวกับรูปแบบการรายงานซึ่งแต่ละประเทศจะใช้ ในเวลาให้คำมั่นสัญญาว่าด้วยการตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการสำคัญทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคราวนี้ยังรับรองพิมพ์เขียวที่จะใช้เป็นแนวทางชี้แนะสำหรับการเจรจาต่อรองจัดทำข้อตกลงระดับโลกฉบับดังกล่าว ซึ่งกำหนดกันเอาไว้ว่าจะทำให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ระหว่างการประชุมครั้งสำคัญในกรุงปารีส, ฝรั่งเศส ในเดือนธันวาคมปี 2015
ทว่าการตกลงเห็นชอบคราวนี้ บังเกิดขึ้นมาได้หลังจากเกิดการโต้แย้งกันอย่างขมขื่น ซึ่งจุดประกายให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำการประนีประนอมกันครั้งใหญ่ และดังนั้นจึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่ายังคงมีงานที่ยากลำบากมากมายรอคอยอยู่ข้างหน้า
หลังจากเวลาล่วงเลยเข้าสู่ช่วงก่อนเช้ามืดของวันอาทิตย์ (14) มานูเอล ปุลการ์-วิดัล รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเปรู ผู้เป็นเจ้าภาพการประชุม ก็ประกาศว่า “เอกสาร (ข้อตกลงของการประชุมคราวนี้) ได้รับการรับรอง (จากชาติที่เข้าร่วมประชุม) แล้ว” และได้รับการตอบรับด้วยเสียงโห่ร้องอย่างสนั่นกึกก้องด้วยวามยินดี จากพวกผู้แทนที่ต่างอยู่ในอาการเหนื่อยล้า
การประชุมคราวนี้ซึ่งจัดขึ้นในเต็นท์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางแจ้ง ถือเป็นส่วนหนึ่งของรอบการเจรจาหารือประจำปีภายใต้ “กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (UNFCCC) และมีกำหนดว่าจะเสร็จสิ้นลงในช่วงค่ำวันศุกร์ (12) ภายหลังประชุมกันมา 12 วัน
แต่ปรากฏว่าการประชุมกลับยืดเยื้อเลยจากกำหนดไปถึงราว 32 ชั่วโมง ถือเป็นการล่าช้าอย่างผิดธรรมดา แม้กระทั่งสำหรับการประชุมหารือของ UNFCCC ที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องมักมีปัญหาข้อขัดแย้งกันหนักหน่วง และยากที่จะตกลงลงเอยกันได้
สิ่งที่ตกลงกันได้ภายหลังการเจรจาต่อรองกันอันยืดเยื้อในคราวนี้ –ซึ่งได้รับการเรียกขานว่าเป็น “เสียงเรียกร้องจากลิมาเพื่อการปฏิบัติการด้านภูมิอากาศ” (Lima Call for Climate Action) เป็นการกำหนดองค์ประกอบรากฐานต่างๆ ของข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่ ที่ถูกมองว่าจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองไกลวาดหวังสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ทีเดียว
ข้อตกลงระดับโลกฉบับนี้ซึ่งกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2020 จะกลายเป็นข้อตกลงฉบับแรกซึ่งผูกมัดทุกๆ ชาติบนพื้นพิภพนี้ให้เข้ามาอยู่ในกรอบกติกาอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการต่อสู้ลดทอนการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เป็นตัวดักจับความร้อน และเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจนเข้าสู่ภาวะอันตราย
จุดมุ่งหมายของข้อตกลงประวัติศาสตร์ฉบับนี้คือ จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับตอนก่อนที่โลกจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ผลการศึกษาอย่างกว้างขวางทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า ต้องทำให้ได้เช่นนี้จึงจะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้ระบบภูมิอากาศของพื้นพิภพต้องเสี่ยงต่อการประสบความหายนะร้ายแรงภายในช่วงสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21
หัวใจสำคัญที่สุดประการหนึ่งของข้อตกลงเช่นนี้ ได้แก่การที่ทุกๆ ชาติจะต้องให้คำมั่นสัญญาด้วยความสมัครใจ ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตนลงมาเท่าใด โดยที่การประกาศให้สัญญาเช่นนี้ จะต้องอยู่ภายในรูปแบบการรายงานตามที่ตกลงกันไว้
ปรากฏว่าสิ่งที่ตกลงกันที่ลิมาคราวนี้ อยู่ในลักษณะของการประนีประนอมกัน เพื่ออุดช่องโหว่ความแตกร้าวอันล้ำลึกระหว่างพวกประเทศร่ำรวยกับพวกประเทศยากจน
ทั้งนี้เมื่อเผชิญการคัดค้านอย่างหนักหน่วงจากจีน บรรดาชาติร่ำรวยโดยเฉพาะสหภาพยุโรป(อียู) จึงต้องยอมลดทอนข้อเรียกร้องที่จะให้แต่ละประเทศต้องแจกแจงให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาของตนเองอย่างละเอียด รวมทั้งยังจะให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่า เมื่อนำเอาคำมั่นสัญญาของทุกๆ ชาติเหล่านี้มารวมกันแล้ว จะสามารถช่วยประคับประคองไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 2 องศาตามเป้าหมายที่วางไว้ได้จริงหรือไม่
ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายประเทศกำลังพัฒนาก็ต้องยอมตัดลดข้อเรียกร้อง ซึ่งส่งผลให้พวกชาติร่ำรวยไม่ถูกผูกมัดที่จะต้องแจกแจงกรอบของความช่วยเหลือที่พวกเขาสัญญาจะให้แก่ชาติยากจน เพื่อให้สามารถรับผลกระทบจากการที่ต้องดำเนินมาตรการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน
ปุลการ์-วิดัล รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเปรู ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคราวนี้ กล่าวในการแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ถึงแม้เนื้อหาข้อความในเอกสารซึ่งจัดทำขึ้นจากการประชุมคราวนี้ ยังขาดความสมบูรณ์ แต่ก็บรรจุครอบคลุมจุดยืนต่างๆ ของชาติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไว้
ขณะที่ มิเกล อาริอัส กาเนเต กรรมาธิการอียูฝ่ายการปฏิบัติการด้านภูมิอากาศและพลังงาน แถลงว่า อียูนั้นต้องการให้ได้ผลการประชุมซึ่งมองไกลหวังสูงยิ่งกว่านี้ กระนั้นเขาก็เชื่อว่า “เรากำลังอยู่บนเส้นทางที่จะไปสู่การเห็นพ้องเพื่อจัดทำข้อตกลงระดับโลกกัน” ในการประชุมที่ปารีสปลายปีหน้า
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มสิ่งแวดล้อมต่างๆ พวกเขาต่างแสดงความผิดหวังต่อผลการประชุม
แซม สมิธ หัวหน้าฝ่ายนโยบายภูมิอากาศของกลุ่มสิ่งแวดล้อมชื่อดัง WWF บอกว่า เนื้อหาข้อเสนอของการประชุม ได้ถูกแก้ไขจากระดับอ่อนปวกเปียก ให้กลายเป็นระดับอ่อนปวกเปียกมากขึ้นอีก และกระทั่งระดับอ่อนปวกเปียกอย่างที่สุด
ส่วน จาโกดา มูนิก ประธานของกลุ่มเฟรนด์ส ออฟ ดิ เอิรธ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า มีความหวั่นกลัวกันว่าที่ประชุมคราวนี้จะล้มเหลวไม่สามารถให้ “ผลลัพธ์ที่เหมาะสมและมองไกลหวังสูงได้” แล้วก็ปรากฏว่าความหวั่นกลัวดังกล่าว “ถูกต้องอย่างน่าเศร้าใจ”