เอเอฟพี - กลุ่มชาติร่ำรวยประกาศลงขันกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สมทบกองทุนสภาพอากาศของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) วานนี้(9) เพื่อช่วยประเทศยากจนในการต่อสู้ภาวะโลกร้อน ซึ่งนับเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญในการประชุมหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงลิมา
การประชุมระดับรัฐมนตรีวาระพิเศษซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหลวงเปรูสามารถระดมเงินบริจาคได้เกินกว่าหลัก 10,000 ล้าน หลังจากออสเตรเลียและเบลเยียมให้คำมั่นบริจาค 166 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 63.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ เพื่อนำเข้ากองทุนสภาพอากาศสีเขียว (Green Climate Fund - GCF) ซึ่งถูกเอ่ยถึงเป็นครั้งแรกในการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปี 2009
กลุ่มประเทศร่ำรวยได้ให้คำมั่นไว้ที่กรุงโคเปนเฮเกนว่า ภายในปี 2020 จะต้องระดมเงินบริจาคจากทุกแหล่งให้ได้อย่างน้อย 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อรับมือปัญหาโลกร้อน
ท่าทีของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในการประชุมที่กรุงลิมาระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคมกำลังเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมองว่าคำมั่นสัญญามอบเงินบริจาคจะถือเป็นสัญญาณดีที่ปูทางไปสู่การลงนามข้อตกลงสากลว่าด้วยการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างครอบคลุมในเดือนธันวาคม ปี 2015
วันศุกร์ที่แล้ว (5) รัฐบาลนอร์เวย์ประกาศจะบริจาคเงิน 258 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ จีซีเอฟ ตลอดระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้ยอดเงินบริจาครวมพุ่งแตะระดับ 9,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐในวันนั้น
“การบรรลุซึ่งเป้าหมาย 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้เจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือประเทศยากจนซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบของภาวะโลกร้อน” อะธีนา บัลเลสเตอรอส จากสถาบัน World Resources Institute ในสหรัฐฯ ระบุ
“วงเงินบริจาคเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นระหว่างชาติผู้เจรจา และช่วยผลักดันข้อตกลงสากลว่าด้วยการต่อสู้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยน”
ยอดเงินบริจาค 166 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากออสเตรเลียจะถูกแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ แก่ จีซีเอฟ ในระยะเวลา 4 ปี
ในส่วนของวอชิงตันได้ประกาศมอบเงินสนับสนุน จีซีเอฟ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยญี่ปุ่น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนฝรั่งเศสและเยอรมนีจะบริจาคประเทศละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รัฐบาลออสเตรเลียถูกนักอนุรักษ์ติเตียนมาโดยตลอดที่ยังพึ่งพาพลังงานถ่านหิน และจัดเป็นชาติที่ก่อมลภาวะสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบต่อหัวประชากร