xs
xsm
sm
md
lg

ปักกิ่งทำท่าเปลี่ยนกลับมา ‘ซูฮก’ วอชิงตัน

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Beijing chums up to Washington
By Francesco Sisci
05/01/2015

กรอบความคิดความเชื่อทางการเมืองของจีนในด้านการเมืองระหว่างประเทศ กำลังมาถึงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งนี่อาจจะเป็นหลักหมายแสดงถึงการที่ปักกิ่งจะเริ่มต้นเล่นบทบาทใหม่ๆ ในกิจการของโลกก็เป็นได้ อย่างน้อยที่สุดเวลานี้ปักกิ่งกำลังมีทัศนะว่า การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถดีดตัวกระเตื้องขึ้นมาได้อย่างสำคัญในระยะหลังๆ นี้ รวมทั้งสัญญาณเครื่องบ่งชี้ประการอื่นๆ ส่อแสดงให้เห็นว่า อเมริกาอาจจะไม่ได้กำลังก้าวเข้าสู่ความเสื่อมถอยทรุดโทรมลงเรื่อยๆ อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย ดังที่มักชมชอบทำนายกัน

ปักกิ่ง - กรอบความคิดความเชื่อทางการเมืองของจีนในด้านการเมืองระหว่างประเทศ กำลังมาถึงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ และนี่อาจจะเป็นหลักหมายแสดงถึงการที่ปักกิ่งจะเริ่มต้นเล่นบทบาทใหม่ๆ ในกิจการของโลกก็เป็นได้ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนจีนได้ตีพิมพ์เผยแพร่คำปราศรัยของรองนายกรัฐมนตรี หวัง หยาง ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “สหรัฐฯคือผู้นำทางของโลก จีนมีความยินดีที่จะเข้าร่วมในระบบนี้” (The United States is the guide of the world; China is willing to join this system.) ตามรายงานดังกล่าวข้างต้น หวัง หยาง ได้พูดไว้ในคำปราศรัยนี้ว่า “จีนกับสหรัฐฯเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกันในระดับโลก แต่อเมริกานั้นเป็นผู้นำทางของโลก อเมริกามีระบบการนำทางและกฎเกณฑ์ของระบบนี้อยู่แล้ว จีนมีความยินดีที่จะเข้าร่วมในระบบนี้ และเคารพทำตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ โดยที่จีนหวังจะได้แสดงบทบาทอันเป็นการสร้างสรรค์” [1]

คำแถลงเช่นนี้ย่อมเป็นการตัดแย้งอย่างชัดแจ้งจากคำพูดคำจาของปักกิ่งในช่วงเวลาที่จีนเคยระแวงสงสัยอย่างสุดโต่งต่อสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับบทบาทการวางตนเป็นเจ้าใหญ่นายโตของโลก มาถึงเวลานี้จีนดูเหมือนจะยอมรับอย่างอ้อมๆ แล้วว่า อเมริกานั้นมีบทบาทนำในโลก และแสดงความปรารถนาพรักพร้อมที่จะร่วมงานกับอเมริกา

คำปราศรัยของรองนายกรัฐมนตรีหวัง หยางชิ้นนี้ ดูจะไม่ได้ให้คำอธิบายใดๆ ว่าทำไมคณะผู้นำจีนจึงได้เกิดเปลี่ยนใจอย่างมโหฬารน่าตื่นเต้นถึงขนาดนี้ และในทางเป็นจริงแล้ว ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่าอะไรที่ทำให้ความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการต่างประเทศของฝ่ายจีน เกิดการพลิกผันอย่างน่าตื่นใจเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีความชัดเจนมากก็คือ นี่เป็นก้าวเดินก้าวต่อไปภายหลังการพบปะเจรจาที่ประสบความสำเร็จ ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ เอเปก) ที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 ที่ผ่านมา ทั้งนี้การพบปะหารือระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในคราวนั้น ได้เปิดหน้าใหม่ในความสัมพันธ์ทวิภาคี หลังจากช่วงเวลาหลายๆ ปีแห่งความไม่ไว้วางใจกันอย่างแรงกล้า โดยในการเจรจาที่เอเปกนี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถเห็นพ้องต้องกันในประเด็นปัญหาจำนวนหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นปัญหาที่เคยสร้างความเอือมระอามาตลอดระยะหลายๆ ปีก่อนหน้านี้ [2](1)

ความเห็นสอดคล้องต้องกันในคราวนี้ ไปไกลกว่าไอเดียซึ่งบังเกิดขึ้นเมื่อหลายๆ ปีก่อนในเรื่องเกี่ยวกับ “จี-2” (G-2) ซึ่งหมายถึงการที่สหรัฐฯกับจีนจะมีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกัน และร่วมมือกันบงการกิจการของโลก ทั้งนี้แนวความคิดว่าด้วย จี-2 นั้น เอาเข้าจริงก็ตั้งอยู่บนทัศนะที่ผิดๆ บางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมองเห็นไปว่า การติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างสหรัฐฯกับจีนนั้นเป็นสิ่งที่แยกขาดออกมาจากส่วนอื่นๆ ของโลก แต่สำหรับครั้งนี้ แนวความคิดในการร่วมมือกันมีความซับซ้อนหลากหลายมากขึ้น และในหลายๆ มิติแล้วก็กำลังเป็นการย้ำยืนยันเพิ่มความมั่นใจให้แก่ทั้งสหรัฐฯเอง และให้แก่ทั้งประเทศอื่นๆ จำนวนมาก ซึ่งหวาดกลัวจะถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง เมื่อวอชิงตันกับปักกิ่งมีความผูกพันกันอย่างเข้มแข็งครั้งใหม่

ในเรื่องเหตุผลที่จะอธิบายได้ว่าทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ขึ้นมานั้น เราคงจะทำได้เพียงแค่การขบคิดอนุมานเอา ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่า มีเหตุผลทางประวัติความเป็นมาและเหตุผลทางการเมืองจำนวนหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนใจของฝ่ายจีน กล่าวกันอย่างหยาบๆ คร่าวๆ อาจจะมีการวิเคราะห์เชิงประวัติความเป็นมาในอดีต (การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์นั้น เป็นวิธีการอย่างที่ฝ่ายจีนชื่นชอบมากในเวลาขบคิดพิจารณาปัญหา) อยู่อย่างหนึ่ง ที่ช่วยทำให้เกิดกรอบความคิดความเชื่ออย่างใหม่นี้ขึ้นมา การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เช่นว่านี้ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าอเมริกาเป็นผู้รับมรดกสืบทอดบทบาทการเป็นผู้นำในโลกต่อจากจักรวรรดิอังกฤษ โดยที่อังกฤษเองก็รับสืบทอดมาจากฝรั่งเศสอีกทอดหนึ่ง และก่อนหน้านั้นขึ้นไปก็เป็นพวกดัตช์ในยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ขณะที่พวกดัตช์ก็รับมรดกจากสเปน ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการโลกาภิวัตน์ทีแรกสุดด้วยการค้นพบทวีปอเมริกาในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15

นั่นคือ อเมริกาเป็นผู้รับมรดกโลกใบที่ผ่านการปรับแต่งแต้มเติมด้วยค่านิยมและกฎเกณฑ์ต่างๆ ชุดหนึ่ง ตามที่พวกประเทศตะวันตกเห็นดีเห็นงามต่อเนื่องกันมาเป็นเวลามากกว่า 500 ปี ค่านิยมและกฎเกณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นของต่างด้าวอันไม่คุ้นเคยสำหรับประเทศจีนซึ่งในอดีตมีประเพณีปฏิบัติที่แตกต่างออกไป กระนั้นมันก็กลายเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางไม่แต่เพียงโดยเหล่าชาติตะวันตกเท่านั้น หากยังประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ในโลกอีกด้วย ทั้งนี้จีนดูเหมือนจะเกิดความตระหนักรับรู้ในระดับใดระดับหนึ่งขึ้นมาแล้วว่า เป็นเรื่องยากลำบากแสนเข็ญขนาดไหนที่จะพุ่งพรวดพราดเข้าไปในโลกซึ่งได้ถูกปรับแต่งโดยประเพณีต่างด้าวมาเป็นเวลาหลายศตวรรษเช่นนี้ ยิ่งกว่านั้น ประเพณีตะวันตกเหล่านี้บางส่วนยังได้เข้าสู่การอภิปรายถกเถียงทางการเมืองในจีนเองมาเป็นเวลาประมาณ 100 ปีแล้วอีกด้วย นั่นคือตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิราชวงศ์ชิงเป็นต้นมา อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่ารากฐานของสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง ก็อิงอาศัยแนวความคิดมาร์ซิสต์ ซึ่งเป็นค่านิยมแบบโลกตะวันตกนั่นแหละ

นอกจากนั้น กรอบความคิดความเชื่อใดๆ ย่อมถูกปรับแต่งด้วยปัจจัยการคาดคำนวณทางเศรษฐกิจด้วย ฝ่ายจีนอาจจะเกิดความตระหนักรับรู้ว่า การท้าทายระบบในปัจจุบันนี้ กระทั่งโค่นล้มมันลงไป และแทนที่ด้วยอะไรบางอย่างซึ่งมี “ความเป็นจีน” มากขึ้น น่าจะเป็นข้อเสนอที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่งและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแพงลิ่ว แถมในการเดินหน้ากระบวนการดังกล่าว จีนยังอาจจะกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หรือต้องประสบความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงก็ได้ ด้วยเหตุนี้ น่าที่จะมีประสิทธิภาพและประหยัดกว่ากันมาก ถ้าจีนเพียงแค่เข้าร่วมกับระบบที่มีอยู่แล้วและแสดงบทบาทในทางสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันนั้นก็เสนอแนะความคิดความเชื่อแบบจีนเพิ่มเติมเข้าไปในระบบดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ทำอย่างสม่ำเสมอ

มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ปัจจัยข้อพินิจพิจารณาในทางการเมืองก็มีส่วนในการปรับแต่งความคิดใหม่นี้ของจีน สหรัฐฯนั้นใช้ความพยายามอย่างหนักจนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเอาชนะเหนือสหภาพโซเวียตได้อย่างสมบูรณ์ในสงครามเย็น และสามารถกระทำเช่นนี้ได้ทั้งๆ ที่สหภาพโซเวียตในเวลานั้นไม่ว่าจะในทางวิทยาศาสตร์หรือในทางการเมือง ก็มีความเข้มแข็งกว่าจีนในตอนนี้มาก สหภาพโซเวียตในขณะนั้นเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายสายใยแห่งรัฐพันธมิตรอันใหญ่โตกว้างขวาง นอกจากนั้นยังมีอุดมการณ์อันดึงดูดใจซึ่งแทรกซึมเข้าไปในความคิดจิตใจของปัญญาชนและผู้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากในโลกตะวันตก และ “ได้กลับใจ” คนเหล่านี้ให้ยึดมั่นใน “ความคิดความเชื่อแบบโซเวียต” แต่สำหรับจีนในตอนนี้ยังไม่มีชาติพันธมิตรอันแท้จริงใดๆ, ไม่มีระบบค่านิยมและอุดมการณ์ซึ่งกำลังแผ่ขยายเข้าไปในโลกตะวันตก, และยังคงอยู่ในฐานะโดดเดี่ยวเอามากๆ ดังนั้นถ้าหากในทางการเมือง จีนตัดสินใจที่จะพุ่งเข้าชนซึ่งๆ หน้ากับโลกตะวันตก ผลลัพธ์ที่ออกมาก็อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าที่เกิดกับสหภาพโซเวียตเสียอีก

ตัวอย่างที่สามารถจะใช้เป็นข้อพิสูจน์เพิ่มเติมในเรื่องนี้ ย่อมมองเห็นได้จากความยากลำบากแสนสาหัสซึ่งรัสเซียประสบอยู่ในเวลานี้ จากความพยายามที่จะเผชิญหน้ากับอเมริกา ถึงแม้ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าวอชิงตันนั้นกำลังเป็นฝ่ายล่าถอยออกมาจากช่วงเวลา 14 ปีแห่งความเพลี่ยงพล้ำและการบริหารจัดการอย่างย่ำแย่ในทางการเมืองไม่ว่าจะในตะวันออกกลางหรือเอเชียกลาง แต่กระนั้น วอชิงตันก็ยังคงสามารถที่จะเล่นงานมอสโกได้อย่างค่อนข้างสบาย ในการเข้าไปพิทักษ์คุ้มครองยูเครน

ยังมีองค์ประกอบสุดท้าย ซึ่งได้แก่การที่เศรษฐกิจอเมริกันในปี 2014 สามารถที่จะดีดตัวกระเด้งกลับขึ้นมาได้อย่างน่าตื่นใจ โดยตามรายงานอย่างเป็นทางการนั้นมีอัตราเติบโตขยายตัวราวๆ 5% ณ ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ฝ่ายจีนยังคงประหลาดใจสงสัยกันอยู่ว่าอะไรที่ทำให้อเมริกาสามารถเติบโตได้ถึงขนาดนี้ในระยะเวลาเพียง 1 ปี แต่ย่อมเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมตลอดจนการฟันฝ่าแผ้วถางเส้นทางใหม่ๆ ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกา เหล่านี้แหละเป็นปัจจัยที่กำลังแสดงบทบาทอย่างใหญ่โต เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการสกัดน้ำมันและก๊าซจากหินน้ำมันด้วยวิธีอัดแรงดันน้ำและสารเคมีลงไปจนทำให้เกิดรอยร้าวในชั้นหิน (fracking) ตลอดจนการจัดเก็บพลังงานและมาตรการประหยัดพลังงาน ล้วนแต่สร้างความประทับใจและกลายเป็นพลวัตใหม่โดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจและต่อฐานะทางภูมิรัฐศาสตร์ ตะวันออกกลางนั้นเคยมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจโลกจวบจนกระทั่งช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งนี่ต้องขอบคุณการที่ปริมาณน้ำมันสำรองของภูมิภาคนี้ ได้ถูกลดบทบาทลงไปมากจากเทคโนโลยีในการขุดเจาะใหม่ๆ ดังกล่าวข้างต้น นอกจากนั้นสภาพของราคาน้ำมันที่ตกฮวบในปัจจุบันทำท่าว่าจะกลายเป็นการกวักมือเรียกให้โลกย่างเข้าสู่ฤดูกาลใหม่แห่งพลังงานราคาถูก ซึ่งอาจจะกระตุ้นการพัฒนาใหม่ๆ ในอาณาบริเวณจำนวนมาก

องค์ประกอบดังกล่าวนี้ เมื่อบวกกับความเป็นไปได้ที่จะมีการลงทุนใหม่ๆ อย่างมหาศาล เพื่อปรับปรุงยกระดับตลอดจนเพิ่มเติมพวกโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในสภาพย่ำแย่มากแล้วของอเมริกาให้กลับทันสมัยไฮเทค ย่อมสามารถกระตุ้นเพิ่มพูนอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า ปัจจัยต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า คำทำนายของพวกบัณฑิตผู้รู้จำนวนมากในทั่วโลก ที่ว่าอเมริกากำลังอยู่ในแนวโน้มแห่งความเสื่อมทรุดถดถอยอย่างชนิดไม่อาจกลับกลายหลีกเลี่ยงได้นั้น เอาเข้าจริงแล้วอาจจะไม่ใช่เช่นนั้นก็ได้ และนี่จึงนำพาให้จีนต้องเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ตนเองจะต้องเหยียบย่างก้าวเดินด้วยความระมัดระวังยิ่ง และไม่ประเมินศักยภาพความสามารถของวอชิงตันให้ต่ำกว่าความเป็นจริง

เมื่อมองจากแง่มุมทางด้านการเมืองภายในแดนมังกรเอง การเปลี่ยนใจอย่างน่าตื่นเต้นคราวนี้คือการตอกย้ำให้เห็นถึงอำนาจบารมีใหม่ในทางการเมืองของสี จิ้นผิง เขาใช้ความพยายามจนประสบความสำเร็จในการผลักไสพวกนักวิพากษ์วิจารณ์ที่มีทัศนะแตกต่างในด้านนโยบายการต่างประเทศ ให้ออกไปพ้นทาง ทัศนะอันผิดแผกแตกต่างเหล่านี้ตลอดจนความยากลำบากในการแสวงหาเสียงที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นตัวการสร้างความยุ่งเหยิงให้แก่นโยบายการต่างประเทศของจีนในตลอดช่วงประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แท้ที่จริงแล้ว ฐานะใหม่ของหวัง หยาง นี้ สามารถที่จะมองว่าเป็นผลจากการชำระสะสางภายในพรรคนั่นเอง โดยที่ตามข่าวชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่โดยสำนักข่าวซินหวาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมาระบุว่า กรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศว่า “ภายในพรรคจะต้องไม่มีการอดกลั้นอดทนใดๆ ต่อลัทธิพรรคพวกและการรวมกลุ่มเป็นแก๊ง ไม่มีทางที่จะยอมให้มีการใช้พรรคเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล หรือเพื่อการตั้งแก๊งตั้งกลุ่ม” [3]

ยิ่งกว่านั้น จุดยืนใหม่เช่นนี้ของสี จิ้นผิง ในการยอมรับอิทธิพลและบทบาทในโลกของสหรัฐฯนั้น อาจจะมองได้ว่าเป็นการตอบสนองอย่างล่าช้าไปมาก ต่อนโยบายต่างๆ ของโอบามาในเรื่องเกี่ยวกับจีนซึ่งประกาศเอาไว้ตั้งแต่ปี 2009 เวลานั้นซึ่งเป็นช่วงหลังจากเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรก โอบามาดูเหมือนจะเสนอต่อจีนว่าให้มาร่วมมือกันในลักษณะกว้างขวางครอบคลุม ปรากฏว่าข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบรับในแบบเฉยชาจากปักกิ่ง ซึ่งในตอนนั้นยังคงประสบความยุ่งยากจากความร้าวฉานอย่างล้ำลึกในเรื่องหนทางเลือกทางการเมืองที่สำคัญๆ

แน่นอนทีเดียวเวลานี้ทั้งช่วงจังหวะเวลาและเงื่อนไขต่างๆ ล้วนแต่แตกต่างออกไปแล้ว กระนั้นสี ก็ดูจะลงแรงใช้ความพยายามอยู่ไม่น้อยเพื่อหมุนนาฬิกาให้เดินย้อนกลับ ยังคงเร็วเกินไปที่จะมองเห็นได้ว่าความพยายามเช่นนี้ของเขาจะบังเกิดผลลัพธ์เช่นใด เวลานี้สหรัฐฯอาจจะมีความพรักพร้อมน้อยลงเสียแล้วที่จะต้อนรับท่าทีเปิดกว้างมากขึ้นของจีน อีกทั้งโลกทั้งใบโดยรวมก็อยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายยิ่งกว่าเมื่อ 6 ปีก่อนเป็นอันมาก นอกจากนั้น ยังไม่มีใครทราบอย่างชัดเจน (โดยเป็นไปได้ทีเดียวว่าแม้กระทั่งฝ่ายจีนก็ยังไม่กระจ่างเช่นกัน) ว่าคำพูดของหวัง หยาง ที่ว่า จีนจะมี “คุณูปการอย่างสร้างสรรค์” ต่อระบบโลกที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้น หมายความว่าอย่างไรแน่ๆ

หมายเหตุ

[1]ดูรายละเอียดของข่าวนี้ที่เป็นภาษาจีนได้ที่ http://mp.weixin.qq.com/s?__biz=MjM5MDc0NTY2OA==&mid=209528825&idx=1&sn=99303db6dea138d47a19471618fefe7d&scene=1#rd

[2]ดูเรื่อง Xi proves strong, now comes 'soft' power, Asia Times Online, November 19, 2014.

[3]ดูรายละเอียดที่เป็นภาษาจีนได้ที่ http://3g.news.cn/html/731/80603.html

หมายเหตุผู้แปล

(1) ข้อเขียนของฟรานเชสโก ซิสซี เรื่อง Xi proves strong, now comes 'soft' power ชิ้นนี้ ได้พูดถึงการเจรจาระหว่าง บารัค โอบามา กับ สี จิ้นผิง ในช่วงที่ทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมการประชุมซัมมิตเอเปกที่กรุงปักกิ่งเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2014 เอาไว้ดังนี้

“การเจรจาหารือระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปกเมื่อเร็วๆ นี้ ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เป็นการดึงให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หวนกลับไปสู่ช่วงเวลาแห่งการทะเลาะเบาะแว้งกันในปี 2009 ใช่หรือไม่? ดูจะไม่ใช่เช่นนั้นหรอก ... มีอะไรมากมายเหลือเกินซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้วในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงไปมากเกินกว่าที่จะหมุนนาฬิกาย้อนกลับไปได้

“การประชุมสุดยอดเอเปกปี 2014 เกิดขึ้นมาในช่วงจังหวะที่แตกต่างเป็นอย่างมากกับตอนที่ หู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนขณะนั้น ไม่ยินยอมโอนอ่อนผ่อนตามคำขอร้องของสหรัฐฯ ณ การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกนเมื่อปี 2009 ด้วยเหตุฉะนี้ จึงน่าจะเป็นเรื่องมีคุณค่าอยู่หรอก ถ้าหากเราจะพิจารณาเกี่ยวกับผลซึ่งออกมาจากซัมมิตครั้งหลังนี้

“กล่าวโดยสรุปแล้ว ทั้งสหรัฐฯกับจีนต่างออกคำแถลงร่วมในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมออกมา ถึงแม้นี่ยังไม่ใช่ข้อตกลงอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างแน่นอน เมื่อเปรียบเทียบกับการโต้แย้งกันของประเทศทั้งสองในกรุงโคเปนเฮเกนเมื่อปี 2009 แรกเริ่มเดิมทีนั้นฝ่ายจีนต้องการที่จะให้มีการลงนามกันในข้อตกลงซึ่งจัดทำขึ้นมา ในการประชุมที่เมืองหลวงของเดนมาร์กนี้ และรู้สึกขมขื่นผิดหวังมากเมื่อ บารัค โอบามา ไม่สามารถที่จะทำตามความคาดหมายของพวกเขาในเรื่องนี้ได้ ความผิดแผกแตกต่างกันในเรื่องโครงสร้างแห่งอำนาจของประเทศทั้งสอง ทำให้เป็นเรื่องลำบากแสนสาหัสสำหรับฝ่ายประธานาธิบดีอเมริกันที่จะประกาศคำมั่นสัญญาความผูกพัน โดยที่มิได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐสภาเสียก่อน บางทีนี่ยังคงเป็นสิ่งที่ฝ่ายจีนไม่อาจเข้าอกเข้าใจได้อย่างเต็มที่จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลบางอย่างบางประการ

“ภายหลังความล้มเหลวที่โคเปนเฮเกนแล้ว ก็ติดตามมาด้วยสิ่งซึ่งก่อให้เกิดความตึงเครียดอย่างใหม่ๆ อีกเป็นชุดใหญ่ และภายในเวลาไม่กี่เดือนจากนั้น อเมริกาก็ประกาศนโยบายใหม่ว่าด้วย “การปักหมุดในเอเชีย” ซึ่งชาวจีนและผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศจำนวนมากต่างตีความว่า นี่คือความพยายามที่จะปิดล้อมจีน แรกเริ่มเดิมทีนั้น ถ้าหากสามารถจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมออกมาได้สำเร็จแล้ว ก็อาจจะเป็นการแผ้วถางทางให้แก่การถ่ายโอนเทคโนโลยีครั้งใหญ่โตมหึมาจากแดนอินทรีสู่แดนมังกร ซึ่งอาจจะนำพาสายสัมพันธ์ทวิภาคีไต่สูงขึ้นสู่ระดับใหม่ เมื่อมาถึงเวลานี้ สิ่งต่างๆ ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเสียแล้ว กระนั้น ความเป็นไปได้เหล่านี้ยังจะสามารถเปิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งได้หรือไม่?

“ระหว่างการแถลงข่าวร่วมภายหลังการเจรจาหารือกับโอบามาแล้ว สี จิ้นผิง ได้ระบุในคำแถลงอย่างเป็นทางการของเขาว่า เอเชียนั้นใหญ่เพียงพอทั้งสำหรับสหรัฐฯและทั้งสำหรับจีน คำพูดเช่นนี้มีความแตกต่างอย่างมากจากข้อเสนอที่ถูกระบุว่ายื่นออกมาโดยฝ่ายจีน ที่จะให้แบ่งปันเอเชียออกเป็นเขตอิทธิพลของใครของมัน โดยที่ปักกิ่งต้องการมีฐานะเหนือกว่าในบางเขตบางบริเวณ และพร้อมที่จะปล่อยส่วนที่เหลือนอกนั้นให้แก่ฝ่ายวอชิงตัน ทั้งนี้ จีนจะต้องตระหนักยอมรับว่าตนจะมีปัญหาในเอเชียเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากอเมริกาผละจากไป ไม่ใช่มีปัญหาลดน้อยลงเลย ความตึงเครียดต่างๆ ที่แดนมังกรมีอยู่กับพวกประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังสามารถที่จะผ่อนเพลาลงไปได้จากการปรากฏตัวของฝ่ายอเมริกัน น่าจะเกิดการระเบิดเปรี้ยงป้างออกมาเลย เมื่อขาดไร้สหรัฐอเมริกาเสียแล้ว”

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสที่ทำงานอยู่กับ ศูนย์เพื่อยุโรปศึกษา (Center for European Studies) ของ มหาวิทยาลัยประชาชน (People's University) ในกรุงปักกิ่ง ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในที่นี้เป็นของตัวเขาเอง และมิได้มีความเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับที่ทำงานของเขา
ราคาน้ำมันในปี 2015 ยังเงยหัวไม่ขึ้น ประเทศผู้ส่งออกแข่งกันผลิต-ศก.โลกก็แย่
ราคาน้ำมันในปี 2015 ยังเงยหัวไม่ขึ้น ประเทศผู้ส่งออกแข่งกันผลิต-ศก.โลกก็แย่
ระดับราคาน้ำมันดิบดำดิ่งจนกระทั่งทำลายสถิติครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากซัปพลายล้นตลาด แล้วภาวะเช่นนี้เองก็ไปกระตุ้นความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในระหว่างพวกประเทศผู้ผลิตรายสำคัญๆ ของสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดนี้อีกทอดหนึ่ง การแข่งขันช่วงชิงกันในหมู่ผู้ผลิตเช่นนี้ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะปิดฉากหย่าศึกกันในเร็ววัน ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปีใหม่นี้ก็ไม่ได้ทำท่าจะเติบโตสดสวยและเพิ่มอุปสงค์ความต้องการใช้พลังงาน ดังนั้นทิศทางราคาน้ำมันโลกในปี 2015 จึงยังจะไม่เงยหน้ากระเตื้องกลับขึ้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น