xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมันในปี 2015 ยังเงยหัวไม่ขึ้น ประเทศผู้ส่งออกแข่งกันผลิต-ศก.โลกก็แย่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพที่ถ่ายเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2014 แสดงให้เห็นโลโก้ขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ณ สำนักงานใหญ่ของโอเปก ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย  ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าตลาดน้ำมันในปี 2015 ยังเงยหัวไม่ขึ้น หลังราคาหล่นฮวบลงถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมิถุนายน 2014
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ระดับราคาน้ำมันดิบดำดิ่งจนกระทั่งทำลายสถิติครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากซัปพลายล้นตลาด แล้วภาวะเช่นนี้เองก็ไปกระตุ้นความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในระหว่างพวกประเทศผู้ผลิตรายสำคัญๆ ของสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดนี้อีกทอดหนึ่ง การแข่งขันช่วงชิงกันในหมู่ผู้ผลิตเช่นนี้ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะปิดฉากหย่าศึกกันในเร็ววัน ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปีใหม่นี้ก็ไม่ได้ทำท่าจะเติบโตสดสวยและเพิ่มอุปสงค์ความต้องการใช้พลังงาน ดังนั้นทิศทางราคาน้ำมันโลกในปี 2015 จึงยังจะไม่เงยหน้ากระเตื้องกลับขึ้นมา

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2014 จนกระทั่งถึงตอนใกล้สิ้นปี ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ตกลงมาถึงราวครึ่งหนึ่ง เนื่องจากภาวะผลผลิตล้นเกิน เงินดอลลาร์แข็งค่า และอุปสงค์อ่อนแอในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังโซซัดโซเซ

ราคาน้ำมันยิ่งรูดไถลลึกลงในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เมื่อองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่ผลิตน้ำมัน 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ตัดสินใจคงกำลังผลิตเอาไว้แม้ซัปพลายล้นตลาด ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่ทั้งโอเปกและสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ต่างลดตัวเลขคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในปี 2015 จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันควงสว่านทำสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปีหลายครั้งหลายคราทั้งในลอนดอน และนิวยอร์ก

ทั้งนี้ ในการประชุมโอเปกเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ซาอุดีอาระเบียและรัฐราชาธิปไตยอื่นๆ ในอ่าวเปอร์เซีย ร่วมใจกันคัดค้านเสียงแข็งไม่ยอมตัดลดกำลังผลิตจากเพดานการผลิตอย่างเป็นทางการซึ่งอยู่ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน

มีเสียงแสดงความสงสัยว่า ริยาดและพันธมิตรเคลื่อนไหวคราวนี้ เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะสร้างความอ่อนแอบอบช้ำให้แก่อิหร่านและรัสเซีย ในฐานะที่เป็นคู่แข่งขันทางยุทธศาสตร์ช่วงชิงอิทธิพลในตะวันออกกลางกันอยู่ โดยที่อิหร่านนั้นเป็นผู้นำของรัฐและกลุ่มมุสลิมนิกายชิอะห์ ส่วนซาอุดีอาระเบียก็เป็นผู้นำของฝ่ายสุหนี่ สำหรับรัสเซียก็มีความสัมพันธ์และอิทธิพลเหนียวแน่นอยู่กับรัฐบาลอัล-อัสซาด ของซีเรีย ที่ถือเป็นฝ่ายชีอะห์

ทั้งนี้อิหร่านและรัสเซียต่างถูกเล่นงานจากมาตรการลงโทษคว่ำบาตรของฝ่ายตะวันตกอยู่แล้ว เมื่อน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าออกสำคัญของประเทศทั้งสองราคาดิ่งลงอีก จึงย่อมสร้างส่งผลกระทบกระเทือนเศรษฐกิจหนักหน่วงเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี ทางการซาอุดีอาระเบียและพวกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ อธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า เท่าที่ผ่านมา เมื่อเกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด โอเปกโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือซาอุดีอาระเบีย ได้ยินยอมลดการผลิตลง เพื่อช่วยพยุงราคาเอาไว้ ทว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงๆ กลับเป็นพวกผู้ผลิตต้นทุนสูง ซึ่งจะฉวยจังหวะนี้ขยายส่วนแบ่งตลาดของพวกตน ดังนั้น ในคราวนี้โอเปกจึงไม่ควรยอมอีกแล้ว ถ้าหากผู้ผลิตอื่นที่อยู่นอกโอเปก ไม่ยอมตัดลดการผลิตของพวกตนบ้าง ก็ปล่อยให้ราคาลดต่ำลงไป

อาลี อัล-ไนมิ รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีอาระเบีย ถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ตอนกลางเดือนธันวาคมว่า แม้กระทั่งราคาน้ำมันดิบไหลรูดลงมาถึงระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็จะไม่ยอมถอย ขณะที่พวกนักวิเคราะห์ชี้ว่า เป้าหมายหลักของซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรนั้น อยู่ที่พวกบริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบจากหินน้ำมัน (shale rock) ในสหรัฐฯและแคนาดา ซึ่งเป็นพวกที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และมีต้นทุนการผลิตแพงกว่าบรรดารัฐสมาชิกโอเปกมาก ดังนั้น การยอมปล่อยให้ราคาเซถลาลง จึงเป็นการต่อสู้กับบริษัทหล่านี้เป็นสำคัญ
ภาพจากแฟ้มซึ่งถ่ายช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2013 แสดงให้เห็นแท่นขุดเจาะน้ำมันในเขตอ่าวเม็กซิโก  ราคาน้ำมันตกวูบในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 เนื่องจากหลายๆ ปัจจัย เป็นต้นว่า ซัปพลายล้นเกิน, ค่าเงินดอลลาร์แข็ง, เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ยังย่ำแย่
แต่ไม่ว่าจุดมุ่งหมายแท้จริงของริยาดกับพันธมิตรจะเป็นอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมก็คือ ราคาที่ถอยลง ทำให้ชาติผู้ผลิตซึ่งฐานะทางเศรษฐกิจไม่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นพวกที่อยู่ในโอเปกอย่างเช่น เวเนซุเอลา ไนจีเรีย อิหร่าน อิรัก หรือพวกที่อยู่นอกโอเปกอย่างรัสเซีย ต่างประสบปัญหาอย่างรวดเร็ว

ที่เวเนซุเอลา การทรุดดิ่งของราคาน้ำมันทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมและความไม่แน่นอนทางการเมือง

ภายหลังการประชุมโอเปก ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลา ถึงกับต้องสั่งให้รัฐบาลปรับลดงบประมาณทันที

ส่วนที่รัสเซีย ความปั่นป่วนในตลาดน้ำมันผสมโรงกับมาตรการแซงก์ชั่นของตะวันตกจากกรณีวิกฤตยูเครน กลายเป็นแรงกระหน่ำทุบค่าเงินรูเบิลจนสลบเหมือด

สถานการณ์ราคาน้ำมันขาลงนับจากกลางปี 2014 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรัสเซีย เนื่องจากรายได้ครึ่งหนึ่งของแดนหมีขาวยังคงมาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซ

วันที่ 15 ธันวาคม แบงก์ชาติแดนหมีขาวขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ แถมขึ้นรวดเดียว 6.5% จาก 10.5% เป็น 17% เพื่ออุ้มค่ารูเบิลที่อ่อนยวบ ขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประชาชนแห่ซื้อของอุปโภคบริโภคก่อนที่ราคาจะแพงขึ้น

ในทางกลับกัน นอร์เวย์กลับประกาศลดดอกเบี้ยโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อนในช่วงต้นเดือนธันวาคม เพื่อรับมือผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกลง และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังต้องพึ่งพิงรายได้จากน้ำมันอยู่มาก

สำหรับในตะวันออกกลาง อิรักที่กำลังรบรากับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ถูกคาดหมายว่า จะได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสจากการที่ราคาน้ำมันทรุด

ริชาร์ด มอลลินสัน ผู้เชี่ยวชาญตลาดน้ำมันจากบริษัทที่ปรึกษา อิเนอร์จี้ แอสเปกต์ส ชี้ว่า การที่นายกรัฐมนตรีไฮเดอร์ อัล-อบาดี ต้องพยายามรักษาแนวร่วมทางการเมืองพร้อมไปกับยับยั้งการรุกคืบของไอเอส ทำให้ยากที่จะลดการใช้จ่ายของรัฐบาลลงได้ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่อิรักจะเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงใน 1-2 ปีข้างหน้า

ขณะที่ โอลิวิเยร์ จาค็อบ นักวิเคราะห์จากปิโตรแมทริกซ์ มองว่า การที่อิหร่าน ผู้ผลิตใหญ่อันดับ 2 ในบรรดา 12 ชาติสมาชิกโอเปก มีอิทธิพลต่ออิรักมากขึ้น อาจทำให้ในอีกไม่นานต่อจากนี้ อิหร่านกับอิรักจะจับมือกัน เพื่อท้าทายการตรึงระดับการส่งออกน้ำมันที่ซาอุดีอาระเบียกุมอิทธิพลในการกำหนดอยู่ในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเรื่องที่ในปีใหม่นี้ พรรครีพับลิกันซึ่งสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของสหรัฐฯ อาจผลักดันให้อเมริกาประกาศเพิ่มมาตรการลงโทษอิหร่านขึ้นอีก โดยอ้างเหตุเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน และนี่ก็จะเพิ่มแรงกดดันต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่านรุนแรงมากขึ้น

**น้ำมันถูกกระตุ้นดีมานด์และเศรษฐกิจโลก?**

กระนั้น มีนักวิเคราะห์บางคนมองในมุมกลับว่า การที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงอย่างมโหฬารเช่นนี้ อาจจะกลายเป็นการกระตุ้นดีมานด์และหนุนส่งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และการเจริญเติบโตเช่นนี้ก็จะกลับช่วยรองรับน้ำมันส่วนเกินที่ล้นตลาดอยู่ได้ แล้วส่งผลให้ราคาน้ำมันดีดกลับขึ้นได้ในระยะยาว

ตามการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ราคาน้ำมันในตลาดโลกถ้าลดลงไป 25% จะช่วยกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ในสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดนี้ในระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้น 0.50% หรือ 460,000 บาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ดี ฟาวัด ราซัคซาดา นักวิเคราะห์จาก Forex.com ชี้ว่า กว่าที่น้ำมันราคาต่ำจะช่วยดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกสำเร็จ อาจต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือนๆ หรือกระทั่งเป็นปีๆ

ในอีกด้านหนึ่ง คอมเมิร์ซแบงก์ ธนาคารยักษ์ของเยอรมนีออกบทวิเคราะห์ชี้ว่า ราคาน้ำมันขาลงคราวนี้จะเป็นบททดสอบมหาโหดสำหรับความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิตน้ำมันดิบจากหินน้ำมันในอเมริกา และมีแนวโน้มนำทำให้ซัปพลายออกสู่ตลาดลดต่ำลงในระยะกลาง

เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า fracking ซึ่งเป็นกระบวนการอัดน้ำผสมทรายและสารเคมีแรงดันสูงลงไปในชั้นใต้ดินลึกเพื่อปลดปล่อยไฮโดรคาร์บอน ที่ติดอยู่ระหว่างชั้นหินเชล (shale rock) ช่วยให้การผลิตน้ำมันดิบจากหินน้ำมันมีราคาถูกลง ทว่าก็ยังคงมีต้นทุนสูงกว่าพวกผู้ผลิตจำนวนมาก และเวลานี้มองกันว่าบริษัทผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ อาจจะแข่งขันไม่ไหว ในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดำดิ่งลงมาถึงขนาดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น