เอเจนซีส์ - รัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้บริษัทพลังงาน 2 แห่งในรัฐเทกซัสส่งออกน้ำมันดิบได้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของการผ่อนคลายกฎระเบียบว่าด้วยการส่งออกน้ำมันดิบของอเมริกา หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงาน วานนี้ (24 มิ.ย.)
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะอนุญาตให้บริษัทน้ำมัน 2 แห่งในรัฐเท็กซัสส่งออกน้ำมันดิบชนิด อัลตรา-ไลต์ คอนเดนเสต ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปเป็นแก๊สโซลีน, น้ำมันเครื่องบิน หรือน้ำมันดีเซลได้ หลังสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันประเภทนี้ได้มากขึ้น สืบเนื่องจากการนำเทคโนโลยี hydraulic fracturing หรือ fracking เข้ามาใช้ในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ
แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยว่า การส่งออกน้ำมันดิบให้ผู้ซื้อต่างชาติอาจเริ่มต้นภายในเดือนสิงหาคม แต่ในปริมาณที่ไม่มากนัก
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีกระแสเรียกร้องให้วอชิงตันยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบที่ประกาศใช้เมื่อทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่มีความสำคัญยิ่งต่อชาติที่พึ่งพาน้ำมันนำเข้าเป็นหลักอย่างสหรัฐฯ
เทคโนโลยี hydraulic fracturing ซึ่งถูกนำมาใช้สกัดน้ำมันและก๊าซจากแหล่งหินน้ำมัน (shale) แถบรัฐนอร์ทดาโกตา และเทกซัส ช่วยให้ความต้องการนำเข้าน้ำมันของสหรัฐฯลดลงมาก และยังมีน้ำมันดิบเหลือพอที่จะจำหน่ายได้อีก
ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมน้ำมันจึงเสนอให้รัฐบาลอนุญาตการส่งออกน้ำมันดิบจากอ่าวเม็กซิโก แม้ว่าประเทศจะยังนำเข้าน้ำมันดิบผ่านทางท่าเรือบริเวณชายฝั่งตะวันออกก็ตาม
อย่างไรก็ดี มีเสียงคัดค้านจากบรรดาโรงกลั่นน้ำมันและผู้บริโภคบางรายที่เกรงว่า หากสหรัฐฯ เข้าไปแข่งขันในตลาดส่งออกน้ำมันดิบอาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และสุดท้ายชาวอเมริกันเองก็จะต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นตามไปด้วย
แม้จะเผชิญแรงกดดันทั้งจากสภาคองเกรสและอุตสาหกรรมพลังงาน แต่สหรัฐฯ ก็ยังไม่ยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบโดยสิ้นเชิง โดยกระทรวงพาณิชย์เพียงประกาศคำสั่งพิเศษให้ส่งออกน้ำมันดิบ อัลตรา ไลต์ คอนเดนเสต ได้บางส่วน เนื่องจากผลิตได้ในปริมาณมากพอที่จะส่งออก แม้จะยังไม่ผ่านการกลั่นก็ตาม
วอลล์สตรีทเจอร์นัลระบุว่า สองบริษัทที่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ส่งออกน้ำมันดิบคอนเดนเสต ได้แก่ บริษัท ไพโอเนียร์ รีซอร์เซส ในเมืองเออร์วิง รัฐเทกซัส และบริษัท เอ็นเตอร์ไพรซ์ โปรดักส์ พาร์ตเนอร์ส แอลพี ในเมืองฮุสตัน แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าทั้งสองบริษัทนี้จะสามารถส่งออกน้ำมันดิบในปริมาณมากน้อยเพียงใด
ปัจจุบัน สหรัฐฯ จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ผ่านการกลั่นไปยังต่างประเทศในปริมาณมาก