xs
xsm
sm
md
lg

UNช่วยไม่ได้เมื่อ ‘บล็อกเกอร์’ ถูกซาอุฯสั่งลงโทษเฆี่ยน1,000ที

เผยแพร่:   โดย: ตอลิฟ ดีน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

UN helpless over Badawi flogging
By Thalif Deen
16/01/2015

รออิฟ บาดาวี บล็อกเกอร์ชาวซาอุดีอาระเบีย ถูกลงโทษเฆี่ยนตี 50 ทีต่อหน้าสาธารณชนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (9 ม.ค.) โดยมีกำหนดที่จะถูกเฆี่ยนอีก 19 ทีในวันศุกร์นี้ (16 ม.ค.) และทุกวันศุกร์ถัดๆ ไป จนกว่าจะครบ 1,000 ทีตามโทษทัณฑ์ที่เขาถูกศาลพิพากษา หลังจากนั้นเขาก็จะต้องเผชิญกับการถูกจองจำอยู่ในคุกเป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้ สหประชาชาติและฝ่ายอื่นๆ ในโลก ต่างดูไร้สมรรถภาพที่จะหยุดยั้งไม่ให้เขาต้องรับโทษอันโหดร้ายป่าเถื่อนนี้

สหประชาชาติ - มีคำพังเพยเก่าในภาษาอังกฤษบทหนึ่งบอกว่า “Flog a dead horse” (“เฆี่ยนม้าตาย” หมายความว่าใช้ความพยายามอย่างเปล่าประโยชน์ในเรื่องที่ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ หรือในเรื่องซึ่งแท้จริงได้รับการคลี่คลายแก้ปัญหาไปแล้ว –ผู้แปล) แต่การเฆี่ยนม้าตายนั้น ย่อมห่างไกลเหลือเกินกับการเฆี่ยนบล็อกเกอร์ชาวซาอุดีอาระเบียผู้หนึ่งซึ่งยังตัวเป็นๆ มีชีวิตอยู่ และบทลงโทษอันโหดร้ายป่าเถื่อนล่าสุด โดยระบอบปกครองที่สุดแสนอนุรักษนิยมและเผด็จการรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในซาอุดีอาระเบียคราวนี้ ก็ได้จุดชนวนให้เกิดกระแสประณามติเตียนกันอย่างกว้างขวาง

คำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีน้ำหนักแข็งขันที่สุดปรากฏขึ้นในวันพฤหัสบดี (15 ม.ค.) โดยมาจากข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน (Zeid Ra'ad Al Hussein) อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของจอร์แดนประจำยูเอ็น เขากล่าวว่า “ในความเห็นของผมแล้ว การเฆี่ยนนั้น อย่างน้อยที่สุดก็เป็นรูปแบบการลงโทษที่โหดร้ายและป่าเถื่อนผิดมนุษย์”

เขากล่าวต่อไปว่า การลงโทษเช่นนี้ “เป็นสิ่งต้องห้ามเมื่อพิจารณาจากกฎหมายระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ซึ่งซาอุดีอาระเบียเป็นชาติหนึ่งที่ได้ลงนามและให้สัตยาบันรับรองแล้ว”

การที่ซาอุดีอาระเบียดำเนินการซึ่งเป็นการลบหลู่อนุสัญญาระหว่างประเทศเช่นนี้ อันที่จริงก็ไม่ต่างอะไรไปจากการล่วงละเมิดของประเทศอื่นๆ รวมทั้งการที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯทำการทรมานผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายนั่นเอง

สหประชาชาตินั้นไม่สามารถทำอะไรได้ในกรณีการล่วงละเมิดที่ผ่านๆ มา และในกรณีล่าสุดนี้ก็เช่นเดียวกัน ยูเอ็นไม่สามารถที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องยอมรับผิดสำหรับการกระทำล่วงละเมิด หรือที่จะทำการลงโทษชาติเหล่านี้ฐานผิดสัญญา เนื่องจากรัฐสมาชิกคือผู้ทรงอำนาจสูงสุดในองค์กรโลกแห่งนี้ –ยกเว้นกรณีที่เป็นการลงโทษโดยคณะมนตรีความมั่นคง

ผู้ที่ถูกซาอุดีอาระเบียทำโทษลงทัณฑ์คราวนี้ คือ รออิฟ บาดาวี (Raif Badawi) ซึ่งถูกลงโทษเฆี่ยนตี 50 ทีต่อหน้าสาธารณชนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (9 ม.ค.) และมีรายงานว่าจะถูกเฆี่ยนอีกครั้งละ 19 ทีในทุกๆ วันศุกร์ ซึ่งถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาของชาวมุสลิม จนกว่าจะครบ 1,000 ทีตามโทษทัณฑ์ที่เขาถูกศาลพิพากษา

เซวัก เคชิเชียน (Sevag Kechichian) ผู้ทำวิจัยทางด้านซาอุดีอาระเบียให้แก่องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International ใช้อักษรย่อว่า AI) และเป็นผู้ทำการศึกษากรณีนี้ด้วย บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ว่า “รออิฟ บาดาวี เป็นนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) เขาเพียงแค่พยายามที่จะยืนยันสิทธิของเขาในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เขากลับกำลังถูกลงโทษจากการณ์นี้ในลักษณะที่โหดเหี้ยมป่าเถื่อนยิ่ง”

“บทลงโทษเฆี่ยนตีและจำคุกอีก 10 ปีที่เขาได้รับนี้ เป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าพวกเจ้าหน้าที่ผู้กุมอำนาจในซาอุดีอาระเบียจะกระทำการได้อย่างสุดโต่งจนถึงขนาดไหน เพื่อที่จะปราบปรามบดขยี้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับทางการ”

เขากล่าวต่อไปว่า แทนที่จะดำเนินการลงโทษเฆี่ยนอย่างป่าเถื่อนครั้งต่อๆ ไป ทางการซาอุดีอาระเบียจะต้องหันมารับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติต่อกรณีนี้ และสั่งปล่อยตัวเขาในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

ในคำแถลงขององค์การนิรโทษสากลนั้น ได้ชี้เอาไว้ด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางการซาอุดีอาระเบียได้ออกมาประณามเหตุโจมตีสำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด ในกรุงปารีส โดยเรียกว่า เป็นการกระทำ “ของคนขี้ขลาด”

“แต่แล้วในวันรุ่งขึ้น พวกเขาก็กลับเฆี่ยนตี รออิฟ บาดาวี จากการที่เขาใช้สิทธิของเขาเพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เราจำเป็นที่จะต้องเปิดโปงพฤติการณ์แบบมือถือสากปากถือศีลเช่นนี้ เราจำเป็นที่จะต้องทำให้พวกเขารู้สึกอับอายขายหน้าเพื่อจะได้ไปสู่การปฏิบัติการ โดยจะต้องลงมือกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย”

ทางด้าน แอดัม คูเกิล (Adam Coogle) นักวิจัยตะวันออกกลางขององค์การฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Rights Watch) บอกกับสำนักข่าว IPS ว่า คำแถลงของสำนักข่าวข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the UN High Commissioner for Human Rights ใช้อักษรย่อว่า OHCHR) ถูกต้องแล้วที่ตีตราเรียกการลงโทษด้วยการเฆี่ยนว่าเป็นการทรมาน พร้อมกับเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียยกเลิกการลงโทษด้วยวิธีนี้

“เราขอต้อนรับคำแถลงผ่านสื่อมวลชนของ OHCHR แต่ก็ขอเรียกร้องให้ทางข้าหลวงใหญ่และสหประชาชาติ สืบต่อดำเนินการเฝ้าติดตามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยต่อซาอุดีอาระเบียอีก เมื่อพวกเขานำเอาบทลงโทษที่ทารุณโหดเหี้ยมมาใช้กับนักเคลื่อนไหวและผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลซึ่งกระทำการอย่างสันติ” เขากล่าวต่อ

สำหรับสหรัฐฯนั้น ในสัปดาห์ที่แล้ว ก็ได้ออกมากระทำสิ่งซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็น “การตำหนิว่ากล่าวทางการทูตอย่างผิดธรรมดา” โดยได้ต่อว่าต่อขานซาอุดีอาระเบีย หนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของตนในตะวันออกกลาง พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศนั้นยกเลิกบทลงโทษนี้และหยิบยกคดีขึ้นมาพิจารณาทบทวนใหม่

เจน ซากี (Jen Psaki) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐฯนั้นคัดค้านอย่างแข็งขันต่อกฎหมายต่างๆ ที่จำกัดการใช้เสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางด้านศาสนา โดยรวมไปถึงกฎหมายที่ลงโทษผู้ผละจากศาสนาที่ตนเคยนับถือด้วย พร้อมกันนี้ก็ขอเรียกร้องให้ทุกประเทศยึดมั่นยอมรับสิทธิเหล่านี้ในทางปฏิบัติจริงๆ

ส่วน ฆาเบียร์ เอล-ฮาเก (Javier El-Hage) ที่ปรึกษาใหญ่ฝ่ายกฎหมายของมูลนิธิสิทธิมนุษยชน (Human Rights Foundation ใช้อักษรย่อว่า HRF) บอกกับสำนักข่าว IPS ว่า รัฐบาลซาอุดีอาระเบียกำลังลบหลู่ล่วงละเมิดพันธกรณีที่ประเทศของตนมีอยู่ ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษด้วยความโหดร้าย, ป่าเถื่อนผิดมนุษย์, หรือการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ (UN Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment)

เขากล่าวว่า “คณะกรรมาธิการต่อต้านการทรมานของยูเอ็น (UN Committee against Torture) ควรเรียกร้องให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียยกเลิกการเฆี่ยนบาดาวีในทันที เนื่องจากการลงโทษเช่นนี้เป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกรณีของซาอุดีอาระเบียภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน”

เอล-ฮาเก ชี้ว่า ตามมาตรา 20 ของอนุสัญญาฉบับนี้ คณะกรรมาธิการต่อต้านการทรมานของยูเอ็น มีอำนาจที่จะดำเนิน “การสอบสวนตามหน้าที่ได้ ถ้าหากได้รับข่าวสารข้อมูลที่น่าเชื่อถือซึ่งดูจะบรรจุไว้ด้วยข้อบ่งชี้อันมีหลักฐานรองรับว่า กำลังมีการใช้วิธีทรมานอย่างเป็นระบบอยู่ในดินแดนของรัฐสมาชิก”

ขณะที่คณะกรรมาธิการไม่ได้มีอำนาจบังคับที่จะสั่งให้ซาอุดีอาระเบียยุติการลงโทษด้วยวิธีเฆี่ยนตีได้ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศทั้งหลายโดยส่วนใหญ่ แต่ เอล-ฮาเก ชี้ว่า คณะกรรมาธิการสามารถที่จะเสนอรายงานในหัวข้อดังกล่าวนี้, ลงมติประณามซาอุดีอาระเบีย, และจัดทำข้อเสนอแนะต่างๆ ขึ้นมา

ในคำแถลงที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (15 ม.ค.) ข้าหลวงใหญ่เซอิด ได้กราบทูลร้องเรียนถึงสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งซาอุดีอาระเบีย ขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจเพื่อพระราชทานอภัยโทษให้แก่บาดาวี, หยุดยั้งการลงโทษเฆี่ยนตีต่อสาธารณชน, ตลอดจนดำเนินการทบทวนแก้ไขบทลงโทษที่เหี้ยมโหดป่าเถื่อนประเภทนี้โดยเร็ว

บาดาวี ซึ่งเป็นบล็อกเกอร์และนักเคลื่อนไหวทางออนไลน์ ถูกศาลซาอุดีอาระเบียตัดสินว่ามีความผิด จากการที่เขาใช้สิทธิแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเขา บนเว็บไซต์ที่เขาก่อตั้งขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า “นักเสรีนิยมซาอุดีอิสระ” (Free Saudi Liberals) เขาถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี, เฆี่ยน 1,000 ที, และปรับเป็นเงิน 1 ล้านริยาล (ราว 8.68 ล้านบาท)

คำแถลงของข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ระบุด้วยว่า กรณีบาดาวี เป็นเพียง 1 ในกรณีการกล่าวโทษฟ้องร้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งซาอุดีอาระเบียดำเนินการกับพวกนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม

เมื่อวันจันทร์ (12 ม.ค.) ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ซาอุดีอาระเบียได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า วาลีด อบู อัล-คออีร์ (Waleed Abu Al-Khair) ทนายความและพี่เขยของบาดาวี มีความผิดตามข้อกล่าวหากระทงต่างๆ ซึ่งรวมถึงการละเมิดศาล และการก่อตั้งองค์การโดยไม่ไปจดทะเบียน มิหนำซ้ำศาลอุทธรณ์ยังเพิ่มโทษของ อัล-คออีร์ จากจำคุก 10 ปีเป็น 15 ปีอีกด้วย

คณะกรรมาธิการต่อต้านการทรมานของยูเอ็น ได้แถลงซ้ำแล้วซ้ำอีก แสดงความกังวลเรื่องที่หลายๆ รัฐยังคงใช้บทลงโทษด้วยการเฆี่ยน พร้อมกับเรียกร้องให้ยกเลิกวิธีนี้ไปเสีย

ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการกำหนดเอาไว้ว่า จะพิจารณาทบทวนรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญายูเอ็นฉบับนี้ของซาอุดีอาระเบีย ในช่วงปีหน้า

**หมายเหตุผู้แปล**

บีบีซีนิวส์รายงานในวันศุกร์ (16 ม.ค.) ว่า สำนักงานของสมเด็จพระราชาธิบดีซาอุดีอาระเบีย ได้ยื่นคดีรออิฟ บัลลาวี ไปให้ศาลสูงสุดของประเทศพิจารณาแล้ว โดยที่ภรรยาของบล็อกเกอร์ผู้นี้กล่าวว่า การยื่นคดีต่อศาลสูงสุดนี้ กระทำก่อนที่สามีของเธอจะถูกลงโทษเฆี่ยน 50 ทีในวันศุกร์ (9 ม.ค.) ที่แล้ว ทำให้เขามีความหวังว่าทางการจะยุติการลงโทษเขา ขณะที่การลงโทษเฆี่ยนครั้งที่ 2 จำนวน 19 ที ซึ่งเดิมทีกำหนดจะกระทำในวันศุกร์ (16 ม.ค.) ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ประกาศเลื่อนออกไป โดยระบุว่าเนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.bbc.com/news/world-middle-east-30856403)

ข้อเขียนชิ้นนี้เขียนโดย ตอลิฟ ดีน (Thalif Deen) และมี คิตตี้ สแต็ปป์ (Kitty Stapp) เป็นบรรณาธิการ สามารถติดต่อทางอีเมลกับผู้เขียนได้ที่ thalifdeen@aol.com

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ในแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น