xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าไม่ฟ้องร้องดำเนินคดี การทรมานนักโทษของซีไอเอก็ยังจะเกิดขึ้นอีก

เผยแพร่:   โดย: จอห์น ซิฟตัน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

CIA torture: the future starts here
By John Sifton
12/12/2014

รายงานว่าด้วยพฤติการณ์ของซีไอเอที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นการฉายซ้ำข้อเท็จจริงจำนวนมากเกี่ยวกับการทรมานนักโทษของสหรัฐฯซึ่งเป็นที่แพร่หลายอยู่แล้วในแวดวงสาธารณะ แต่ถ้าหากคณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังไม่ได้นำเอาข้อเท็จจริงเหล่านี้มาใช้เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีกับพวกซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตามที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดเอาไว้แล้ว รายงานเหล่านี้ก็แทบไม่มีผลอะไรเลยในการป้องกันขัดขวางมิให้ประธานาธิบดีในอนาคตหยิบยกเอาวิธีการทรมานมาใช้อีก

ตอนนี้ผมได้อ่านบทคัดย่อความยาว 499 หน้าของรายงานว่าด้วยการทรมานของซีไอเอ ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ (Senate Intelligence Committee) เกือบทั้งหมดแล้ว หลังจากที่ได้ใช้เวลาอยู่หลายปีในการสืบสวนตรวจสอบการกระทำอันมิชอบต่างๆ ซึ่งรายงานฉบับนี้ของคณะกรรมาธิการให้รายละเอียดเอาไว้ ผมจึงไม่ได้คาดคิดหรอกว่าซีไอเอจะยังสามารถทำให้ผมเกิดรู้สึกช็อกขึ้นมาได้อีกแล้ว แต่ปรากฏว่าผมยังรู้สึกช็อกอยู่ดี

รายงานฉบับนี้ได้กล่าวซ้ำข้อเท็จจริงจำนวนมากซึ่งได้มีการรายงานเอาไว้แล้วในเรื่องเกี่ยวกับโครงการทรมานนักโทษของซีไอเอ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ร่างกายนักโทษอยู่ในท่าต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเครียดเค้นอย่างโหดเหี้ยมทารุณ, การทำให้นักโทษอดนอนอย่างยาวนานด้วยการใช้แสงไฟจัดจ้าและการใช้เสียงดัง, การทำให้รู้สึกเหมือนกำลังสำลักน้ำ (waterboarding), และการกักขังนักโทษเอาไว้ภายในหีบศพ

นอกจากนั้น รายงานฉบับนี้ยังบรรจุรายละเอียดใหม่ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทรมานนักโทษของซีไอเอนั้น มีความเลวทรามและกระทำกันอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่เคยคิดกัน เป็นต้นว่า การใช้ความเจ็บปวดมาควบคุมยับยั้งนักโทษ, การใช้วิธีลงโทษด้วย “การป้อนอาหารทางทวารหนัก” หรือ “การส่งน้ำเข้าไปทางทวารหนัก”, และการบังคับให้นักโทษที่กระดูกขาหักและถูกล่ามโซ่ยืนแนบชิดกับกำแพง ขณะที่จำนวนผู้ที่ถูกคุมขังก็สูงขึ้นกว่าที่พวกเราเคยคิดกันไว้นิดหน่อย กล่าวคือ อย่างน้อยที่สุดมี 119 คน ไม่ใช่ 90 ถึง 100 คน มีจำนวนมากที่ได้รับการปลดปล่อยแล้ว โดยที่บางคนแม้เวลานี้เป็นอิสระ แต่ก็จะเป็นเรื่องลำบากมากที่จะติดตามได้ว่าตอนนี้พวกเขาอยู่ที่ไหน และมีอยู่ 1 ใน 5 ทีเดียวซึ่งไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์คำนิยามของซีไอเอเองในเรื่องว่าด้วยบุคคลที่ควรต้องถูกคุมขัง

การซักถามต่างๆ เหล่านี้เป็นที่ชัดเจนว่าได้สร้างความทุกข์ทรมานและความสูญเสียอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากวิธีการอันเป็นการละเมิดอย่างมิชอบเหล่านี้ได้ถูกใช้ผสมผสานกันและใช้กันเป็นระยะเวลายาวนาน วิธีการเหล่านี้คิดค้นจัดวางกันขึ้นมาบนพื้นฐานที่จะทำให้เกิดภาวะการอดนอน และการปฏิเสธไม่ให้มีการติดต่อกับมนุษย์ นักโทษจำนวนมากได้รับความกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรงทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เป็นต้นว่า มีอยู่รายหนึ่งได้รับการบรรยายไว้ในรายงานว่า กลายเป็น “คนที่แตกสลายแล้วอย่างชัดเจน” ส่วนอีกรายหนึ่งถูกบรรยายว่า “อยู่บนขอบเหวของการแหลกสลายอย่างสิ้นเชิง” มีอยู่ตอนหนึ่งของรายงานที่กล่าวถึงการซักถามผู้ต้องขังคนแรกของซีไอเอ ซึ่งก็คือ อบู ซูบายดะห์ (Abu Zubaydah) ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า “บ่อยครั้ง” ที่เขา “ร้องไห้”, “วิงวอน”, “ร้องขอ”, และ “คร่ำครวญ” ทว่าเขายังคงปฏิเสธว่าไม่ได้มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมในเรื่องภัยคุกคามต่อสหรัฐฯในเวลานี้ หรือคนที่กำลังปฏิบัติการอยู่ในสหรัฐฯ”

รายงานฉบับนี้บรรจุเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่าข่าวกรองซึ่งรวบรวมได้มานั้น จำนวนมากมายขนาดไหนกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ โดยบางทีก็เนื่องจากซีไอเอมีข่าวกรองดังกล่าวอยู่แล้ว หรือมีวิธีที่จะหามาได้อย่างง่ายดายกว่านั้นมาก ตอนหนึ่งของรายงานมีการบรรยายให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การทรมาน อบู ซูบายดะห์ และ คอเลด ชีค โมฮาเหม็ด (Khaled Sheikh Mohamed) ดูเหมือนจะกลับให้ผลในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ -- ทั้งนี้ซีไอเอรีดเค้นข่าวกรองบางอย่างมาได้ในที่สุด ทว่าดูเหมือนว่าซีไอเอกำลังไปได้สวยกับบุคคลทั้งสองอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาเริ่มต้นใช้เทคนิคอันทารุณโหดเหี้ยมอย่างที่สุด

เนื้อหาของรายงานฉบับนี้ ทำให้ดูเหมือนกับว่าซีไอเอมีความสามารถน้อยนิดเหลือเกินในการวินิจฉัยว่า นักโทษที่พวกเขากำลังทรมานอยู่นั้น กำลังยอมคายข้อมูลที่พวกเขารู้มาจริงๆ อยู่หรือเปล่า –โดยรายงานได้ยกตัวอย่าง 2-3 ตัวอย่าง ซึ่งซีไอเอคิดว่านักโทษผู้หนึ่งกำลังโกหก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเขากำลังพูดเรื่องจริง และก็ในทางตรงกันข้าม ซีไอเอไปคิดว่านักโทษกำลังพูดเรื่องจริง ทั้งๆ ที่เขากำลังโกหก

ยังมีหมายเหตุหนึ่งในรายงานฉบับนี้ซึ่งให้ความรู้สึกสงสารสังเวชใจเป็นอย่างมาก (หมายเหตุหมายเลข 442) โดยบรรยายถึงการซักถามอันน่าหัวเราะเยาะที่กระทำกับ อบู บาคร์ อัล-ฟิลิสตินี (Abu Bakr al-Filistini) หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งด้วยว่า ซัมร์ อัล-บาร์ก (Samr al-Barq) ผู้ซึ่งเมื่อถูกทรมานก็ได้ให้การและได้ถอนคำให้การของเขาตั้งหลายๆ ครั้ง จนทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมต้องเอาเขามาซักถามด้วย

พวกเจ้าหน้าที่ซักถามของซีไอเอที่ถูกระบุประวัติเอาไว้ในรายงานฉบับนี้ ได้รับการเปิดเผยว่ามีความเป็นมืออาชีพและผ่านการฝึกอบรมน้อยยิ่งกว่าที่ซีไอเอและทำเนียบขาวเคยยืนกรานเอาไว้ในอดีตมากมายนัก ภาพประทับใจโดยรวมที่เกิดขึ้นก็คือ บุคลากรและพวกเจ้าหน้าที่ของซีไอเอ ไม่ได้ทราบเลยจริงๆ ว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ แต่เสแสร้งแกล้งทำเป็นว่าทราบ

เฉพาะส่วนบทสรุปย่อของรายงานที่นำมาเปิดเผยกันคราวนี้ ก็เป็นสิ่งที่อ่านด้วยความปั่นป่วนขุ่นใจอย่างยิ่ง แล้วรายงานฉบับเต็มความยาว 6,000 หน้าของคณะกรรมาธิการล่ะจะมีการยกเลิกชั้นความลับและเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือไม่? รายงานฉบับนี้จะผลักดันให้คณะบริหารของประธานาธิบดีโอบามา ดำเนินการกล่าวโทษฟ้องร้องพวกที่รับผิดชอบเรื่องการทรมานเหล่านี้ตามข้อกำหนดของกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่? ถ้าหากพฤติการณ์ความผิดทางอาญาไม่ได้ถูกลงโทษทางอาญาแล้ว ก็แทบไม่สามารถป้องกันขัดขวางมิให้ประธานาธิบดีในอนาคตหยิบยกเอาวิธีการทรมานมาใช้อีก

จอห์น ซิฟตัน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายดำเนินการทางกฎหมายประจำเอเชีย (Asia advocacy director) ขององค์การ ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch) ติดตามเขาทางทวิตเตอร์ได้ที่ @johnsifton
กำลังโหลดความคิดเห็น