xs
xsm
sm
md
lg

กะเทาะเปลือกอาชีพ “ช่างสัก” ศิลปินเถื่อนผู้ยังไร้ที่ยืนในสังคมเกาหลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ซู ฮยุนวุง เล่าว่า ตอนถลกเสื้อให้แม่ดูรอยสักสุดรักสุดหวงเป็นครั้งแรก แม่ของเขาถึงกับปล่อยโฮออกมา “เธอไม่เข้าใจว่าทำไมผมถึงต้องทำแบบนั้นกับร่างกายตัวเอง” เขากล่าวพลางหัวเราะ “แต่ตอนนี้แม่เริ่มทำใจได้บ้างแล้ว”

จากที่ครั้งหนึ่งรอยสักเคยถูกมองเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับแก๊งอาชญากร การวาดลวดลายบนผิวหนังเช่นนี้กำลังได้รับความนิยมจากสังคมส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในหมู่ดาวดังแห่งวงการกีฬา ดาราศิลปินของวงการบันเทิงเกาหลี รวมทั้งในหมู่เซเลบอื่นๆ ที่มีกองทัพแฟนคลับคอยยกขบวนชูป้ายไฟ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายของเกาหลีใต้ยังไม่ได้ถูกแก้ไขให้สอดคล้องกับค่านิยมใหม่ของสังคม เป็นผลให้ช่างสักในแดนกิมจิต้องสุ่มเสี่ยงถูกเจ้าหน้าที่จับไปดำเนินคดี

ทั้งนี้ แม้ว่ากฎหมายเกาหลีใต้ไม่ได้ระบุว่า การสักเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยตรง แต่ก็กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่จะสักได้นั้นต้องได้รับใบอนุญาตจากแพทย์เท่านั้น

จาง จุนฮยุก เจ้าของร้านสัก “Tattooism" ใจกลางกรุงโซลครวญว่า “งั้นถ้าคุณอยากได้รอยสักสวยๆ สักลาย ก็ต้องเดินเข้าโรงพยาบาลน่ะเหรอ ต้องบ้าไปแล้วแน่ๆ”

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า สาเหตุที่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้ก็เพื่อรับประกันว่า ผู้ที่เข้ารับการสักจะไม่มีปัญหาสุขภาพตามมา เป็นต้นว่า เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือได้รับเชื้อเอชไอวี เนื่องจากเข็มที่ใช้สักไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธี



ขั้นตอนทางการแพทย์

อาน โซยัง โฆษกสมาคมแพทย์เกาหลีกล่าวว่า “เมื่อผิวหนังถูกทิ่มแทงจนมีเลือดไหล เชื้อโรคจะแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และนั่นคือสาเหตุที่เรามองว่า การสักควรเป็นขั้นตอนทางการแพทย์”

กระนั้น รัฐบาลโสมขาวเริ่มหันมาพิจารณาแนวโน้มที่กำลังผันแปรไป โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้คณะทำงานชุดหนึ่งศึกษาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการอนุญาตให้ร้านสักอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ในขณะเดียวกัน ช่างสักในเกาหลีใต้นั้นมีสภาพไม่ต่างไปอะไรไปจากโสเภณี เนื่องจากเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย ที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมักทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หากไม่แสดงท่าทีกระโตกกระตาก

ร้านรับสักส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้อย่างร้าน “Tattooism” ของจาง นั้นเป็นธุรกิจ “ใต้ดิน” ขนานแท้ เนื่องจากเป็นร้านที่ตั้งอยู่ในชั้นใต้ดิน ขณะที่ประตูก็ดูเรียบๆ ไม่มีชื่อร้าน และมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพราะได้ยินกิตติศัพท์กันมาแบบปากต่อปาก

จาง ซึ่งบัดนี้มีวัย 42 ปี เคยศึกษาที่วิทยาลัยแฟชั่นแห่งหนึ่งในกรุงโซล เมื่อเขาเห็นรอยสักของเพื่อนคนหนึ่ง จากนั้นเขาก็ค้นพบอาชีพในฝันของตนเอง

ต่อมา เพื่อนของจางก็บินไปเพิ่มลวดลายบนร่างกายที่เม็กซิโก ก่อนจะนำกลับมาให้ จาง ยลโฉม และเนื่องจากเกาหลีใต้ไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการสักวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย จางจึงตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลไปฝึกฝนวิชากับช่างสักที่แดนจังโก้

“ในสมัยนั้น ที่เกาหลียังไม่มีใครใช้เครื่องสัก การใช้เข็มทิ่มแทงร่างกายยังถูกมองว่าเป็นอาชญากรรม แถมยังออกมาน่าเกลียดด้วย”

รอยสักกับแก๊งอาชญากรนั้นเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก กระทั่ง เมื่อไม่นานมานี้เกาหลีใต้ได้สั่งห้ามใครก็ตามที่มีรอยสักขนาดใหญ่บนร่างกาย ไม่ให้เข้ารับการฝึกวิชาทหารภาคบังคับ

ถูกขังคุก

เมื่อ 5 ปีก่อน ร้านของจางถูกเข้าตรวจค้น ระหว่างการสุ่มตรวจของเจ้าหน้าที่ ทำให้เขาถูกนำตัวขึ้นศาล และถูกสั่งปรับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังถูกตัดสินจำคุก 1 ปีฐานละเมิดกฎหมายสาธารณสุข

ถึงแม้จะมีการปราบปรามอยู่เป็นระยะๆ แต่ร้านรับสักกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นร้าน “มาเวริก” ในเขตอิแทวอน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ ร้านแถบนี้อาจหาญมากถึงขนาดทำป้ายนีออนเพื่อดึงลูกค้าเข้าร้าน

ลี ซุงเจ เจ้าของร้านมาเวริกเล่าว่า ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมีหลายระดับด้วยกัน ทั้งข้าราชการชั้นผู้น้อย และผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสุดเนี้ยบระเบียบจัดอย่างซัมซุง

ในเวลาเดียวกัน ซู ฮยุนวุง เด็กหนุ่มวัย 19 ปีดูเหมือนจงใจทำให้แม่หมดความอดทน ด้วยการขอให้ช่างสักลายหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งอักษรย่อ WGUMCD ไว้บนหน้าท้อง โดยเขาอธิบายว่า รอยสักของเขาย่อมาจากวลีที่ว่า “What Goes Up Must Come Down” ซึ่งเป็นคติประจำใจของเขา


กำลังโหลดความคิดเห็น