เอเอฟพี - หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารแนวเสียดสีประชดประชัน “ชาร์ลี เอ็บโด” ของฝรั่งเศส เผยว่าจะวางจำหน่ายนิตยสารรายสัปดาห์ของฝรั่งเศสที่ตุรกีในวันนี้ (14 ม.ค.) เนื่องจากความเป็นกลางด้านศาสนาในตุรกีซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามกำลัง “ถูกโจมตี”
นิตยสารชาร์ลี เอ็บโด ความยาว 4 หน้า ฉบับสัปดาห์นี้จะสอดแทรกอยู่ในหนังสือพิมพ์รายวันหัวกลางซ้าย “จุมฮูริเยต์” (Cumhuriyet) ของตุรกี หนึ่งในผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ตุรกีฉบับนี้เผยกับเอเอฟพีโดยไม่ขอเปิดเผยนาม
วานนี้ (13) เจราร์ด บิอารด์ หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด ระบุกับเอเอฟพีว่า นิตยสารรายสัปดาห์ฉบับภาษาตุรกีถือเป็น “ฉบับสำคัญที่สุด” ในตระกูลชาร์ลี เอ็บโด ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศทั้งหมด 5 ภาษา ภายหลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดเหตุนักรบญิฮาดหัวรุนแรงบุกสังหารหมู่เหยื่อ 12 รายที่สำนักงานของนิตยสารแนวเสียดสีประชดประชันเจ้านี้
ชาร์ลี เอ็บโด ตีพิมพ์หน้าปกฉบับ “ผู้รอดชีวิต” เป็นภาพศาสดาโมฮัมหมัดร้องไห้ ขณะสวมผ้าโพกศีรษะสีขาว และถือป้ายที่มีสโลแกน “ฉันคือชาร์ลี” อยู่ใต้ข้อความว่า พระเจ้า “ให้อภัยทุกคน” ขณะที่สื่อตุรกีจะใช้วิธีบรรยายภาพหน้าปก แต่จะไม่เผยแพร่ภาพนี้ในฉบับภาษาตุรกี
บิอารด์กล่าวว่า “ตุรกีกำลังตกอยู่ในช่วงเวลาอันยากลำบาก และความเป็นกลางทางศาสนาในประเทศนั้นก็กำลังถูกโจมตี”
ก่อนหน้านี้ จุมฮูริเยต์ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยบรรลุข้อตกลงกับชาร์ลี เอ็บโด พร้อมทั้งยืนยันกับเอเอฟพีว่า ข่าวที่ว่ามีการทำข้อตกลงกันระหว่างสื่อทั้งสองเจ้านั้นเป็นเพียง “ข่าวลือ” ทว่า ในที่สุดแล้วหนังสือพิมพ์ตุรกีตัดสินใจตีพิมพ์ชาร์ลี เอ็บโด ฉบับพิเศษความยาว 4 หน้า หลังผ่านการถกเถียงกันมานาน ผู้สื่อข่าวนิรนามกล่าวกับเอเอฟพี
เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดแกน ถูกกดดันอย่างหนักในประเด็นเสรีภาพสื่อในตุรกี ภายหลังที่มีการปราบปรามสื่อของฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ตุรกีถูกกล่าวหาว่า ลิดรอนเสรีภาพในการนำเสนอข่าวมาเนิ่นนาน นอกจากนี้ เออร์โดแกนยังเพียรพยายามลดหลักความเป็นกลางทางศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญของตุรกีเทิดทูนบูชา
ตุรกีซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์เป็นจำนวนมหาศาล บัดนี้ได้กลายเป็นดินแดนที่ประชาชนนับถือศาสนาอิสลามมากถึงร้อยละ 99 และบรรดานักวิจารณ์ได้ออกมากล่าวหาว่า พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (AKP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเออร์โดแกน พยายามจะแปรประเทศนี้ให้กลายเป็นรัฐอิสลามเคร่งจารีต
ประธานาธิบดีคนปัจจุบันซึ่งเป็นชาวมุสลิมผู้เคร่งครัดเคยระบุว่า การรณรงค์ส่งเสริมการคุมกำเนิดเป็น “การทรยศ” และยังบอกวัยรุ่นที่สักตามร่างกายว่า ต้องขอให้พระเจ้าประธานอภัยให้ อีกทั้งเรียกร้องให้โรงเรียนร่างหลักสูตรใหม่เพื่อเน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาเกี่ยวกับนักวิชาการชาวมุสลิมที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์
ตามข้อมูลของคณะกรรมาธิการสากลเพื่อการคุ้มครองผู้สื่อข่าว เมื่อช่วงปี 2012 ถึง 2013 ตุรกี ได้พุ่งแซงหน้าอิหร่านและจีน ขึ้นเป็นประเทศที่ส่งนักข่าวเข้าซังเตมากที่สุดในโลก ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นอันดับ 10 ในปี 2014
ทั้งนี้ นิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด ล็อตแรกที่ตีพิมพ์ออกมา นับแต่เกิดเหตุมือปืนอิสลามิสต์บุกกราดยิงเหยื่อ 12 ชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะเผยแพร่เป็น 6 ภาษาด้วยกัน โดยฉบับภาษาฝรั่งเศส ตุรกี และอีตาลีนั้นจะตีพิมพ์ออกเป็นรูปเล่ม ขณะที่ฉบับภาษาอังกฤษ อาหรับ และสเปนนั้นจะอยู่ในรูปของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์