รอยเตอร์ - ทีมค้นหาและกู้ภัยอินโดนีเซียมีแผนยกชิ้นส่วนหางของเครื่องบินแอร์เอเชียขึ้นจากก้นทะเลในวันศุกร์(9ม.ค.) เพิ่มความหวังต่อการพบกล่องดำที่จะเผยให้เห็นถึงสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ขณะเดียวกันทางการแดนอิเหนาก็เริ่มดำเนินการปราบปรามตั๋วราคาถูก เพื่อรับประกันว่าสายการบินต่างๆจะไม่ตัดทอนมาตรฐานด้านความปลอดภัยเพื่อลดต้นทุน
นักประดาน้ำจำนวนมากดำลงสู่ทะเลชวาในวันพฤหัสบดี(8ม.ค.) เพื่อค้นหาซากของเที่ยวบิน QZ8501 ซึ่งสูญหายไปจากจอเรดาร์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม หลังออกเดินทางจากสนามบินสุราบายา เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของอินโดนีเซียไปยังสิงคโปร์ ได้ไม่ถึงครึ่งทาง จากระยะเวลาการบินทั้งหมด 2 ชั่วโมง
ลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมด 162 ชีวิตตายยกลำ แต่สาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ยังคงเป็นปริศนา ท่ามกลางความหวังว่ากล่องดำซึ่งบันทึกข้อมูลการบินและเสียงสนทนาในห้องนักบินจะคลี่คลายความกระจ่างสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด
เครื่องบินลำนี้คือแอร์บัส เอ320-200 ซึ่งติดตั้งกล่องดำไว้บริเวณใกล้ส่วนหาง อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่เตือนว่ากล่องดำอาจหลุดหายไประหว่างที่เครื่องบินประสบอุบัติเหตุดิ่ลงสู่ทะเล
ส่วนหางของเครื่องบินถูกพบเมื่อวันพุธ(7ม.ค.) ในสภาพหงายกลับด้านจมอยู่ใต้ก้นทะเล ณ ความลึกราว 28-32 เมตร ห่างจากจุดสุดท้ายที่ทราบตำแหน่งของเครื่องบินราว 30 กิโลเมตร ขณะที่ท้องทะเลที่ผันผวน คลื่นแรงและทัศนวิสัยอันย่ำแย่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการค้นหาตลอดหลายวันที่ผ่านมา ได้กัดเซาะความพยายามของเจ้าหน้าที่อีกครั้งในวันพฤหัสบดี(8ม.ค.)
"สภาพอากาศขัดขวางปฏิบัติการยกส่วนหางเครื่องบินในวันนี้" นายซูรยาดี บี ซูพรียาดี ผู้ประสานงานหน่วยงานค้นหาและกู้ภัยบอกกับผู้สื่อข่าวในปังกาลันบุน บนเกาะบอร์เนียว เมืองที่อยู่ใกล้จุดตกของเครื่องบินมากที่สุด "ปฏิบัติการที่จะใช้บอลลูนยกส่วนห่างขึ้นจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้"
บัมบัง โซลิสต์โย หัวหน้าหน่วยงานค้นหาและกู้ภัยอินโดนีเซียบอกในจาการ์ตา ว่าบางทีอาจจะต้องใช้เครนยกชิ้นส่วนหางขึ้นจากน้ำและเป้าหมายหลักของปฏิบัติการยังคงเป็นการค้นหาศพผู้เสียชีวิต ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของญาติๆเหยื่อที่ร้องขอเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับการค้นหาร่างไร้วิญญาณของบุคคลอันเป็นที่รักเป็นลำดับแรก
รวมแล้วมีนักประดาน้ำ 84 คนอยู่บนเรือที่ล่องอยู่ใกล้เคียงกับซากเครื่องบินในวันพหัสบดี(8ม.ค.) และทีมประดาน้ำก็เริ่มดำเนินการค้นหาส่วนหางตอนเวลา 0.645 น. แต่สภาพทัศนวิสัยที่เลวร้ายและกระแสน้ำรุนแรงก็ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการค้นหา
เรือหลายลำที่มีเครื่องตรวจจับสัญญาณ Ping ที่ออกแบบมาเพื่อตรวจจับสัญญาณจากกล่องดำ ประจำการในพื้นที่ด้วย แต่ก็ไม่ได้ใช้มันอีกแล้ว บ่งชี้ว่าเหล่าเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียคงมีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะพบกล่องดำเร็วๆนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่สืบสวนจากคณะกรรมาการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติ บอกว่าการวิเคราะห์หาต้นตอสิ่งที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน QZ8501 จะใช้เวลานานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาพของกล่องดำที่เก็บกู้ขึ้นมาได้ด้วย
จนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่สามารถกู้ร่างผู้เสียชีวิต 43 ศพและเศษซากของเครื่องบนส่วนหนึ่งขึ้นมาได้แล้ว แต่สภาพลมแรงและทะเลมีคลื่นสูงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของนักประดาน้ำที่พยายามเข้าไปให้ถึงชิ้นส่วนขนาดใหญ่บริเวณก้นทะเลที่โซนาร์ตรวจพบและต้องสงสัยว่าน่าจะเป็นเศษซากของเครื่อง ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาเตือนในวันพฤหัสบดี(8ม.ค.) ว่าแม้ช่วง 2 วันที่ผ่านมา สภาพอากาศในพื้นที่ค้นหาจะดีขึ้น แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะกลับไปเลวร้ายลงอีกครั้งในวันศุกร์(9ม.ค.)
แอร์เอเชียอินโดนีเซีย ที่มีกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำแอร์เอเชีย ซึ่งมีฐานบัญชาการในมาเลเซียถือครองหุ้นร้อยละ 49 กำลังถูกเจ้าหน้าที่ในจาการ์ตากดดันอย่างหนักนับตั้งแต่เกิดเรื่อง โดยทางกระทรวงคมนาคมสั่งระงับใบอนุญาตเส้นทางสุราบายา-สิงคโปร์ของสายการบินแห่งนี้ หลังบอกว่าพวกเขาอนุญาตให้บินเส้นทางนี้เฉพาะวันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดีและเสาร์ แต่เที่ยวบิน QZ8501กลับให้บริการในวันอาทิตย์
แอร์เอเชียบอกว่พวกเขากำลังให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับคณะสืบสวนของกระทรวง ขณะที่กระทรวงคมนาคมเผยว่าการสืบสวนดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในช่วงเย็นวันศุกร์(9ม.ค.)
ขณะเดียวกับอินโดนีเซีย ก็ดำเนินการปราบปรามการขายตั๋วราคาถูกสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ เพื่อรับประกันว่าสายการบินต่างๆจะไม่ตัดทอนมาตรฐานด้านความปลอดภัยเพื่อลดต้นทุน กระทรวงคมนาคมเผยในวันพฤหัสบดี(8ม.ค.)
การตัดสินใจออกข้อบังคับเข้มงวดกับสายการบินต้นทุนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยทางกระทรวงบอกว่ามีเจตนาช่วยสายการบินต่างๆมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินเหล่านั้นไปปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยให้ดีกว่าเดิม