xs
xsm
sm
md
lg

Hot Issue : “ปูติน” สั่งแบงก์ชาติรัสเซียกว้านซื้อทองคำล็อตใหญ่จากตลาดโลกอีกเกือบ “19 ตัน” นักวิเคราะห์ชี้ เป็นการปกป้อง ศก.หมีขาวที่ถูก US-ยุโรปรุมฟัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ข้อมูลล่าสุดชี้รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ทำการกว้านซื้อ “ทองคำล็อตใหญ่” จากตลาดโลกเพิ่มอีกเกือบ “19 ตัน” นักวิเคราะห์ชี้ทองคำคือหลักประกันความอยู่รอดของเศรษฐกิจแดนหมีขาวที่กำลังถูกสหรัฐฯ และประเทศลิ่วล้อในยุโรปเล่นงานด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากผลพวงของวิกฤตในยูเครน

รายงานข่าวล่าสุดซึ่งอ้างข้อมูลจากสภาทองคำโลก (World Gold Council) ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงลอนดอนของอังกฤษระบุว่า ธนาคารกลางรัสเซียทำการกว้านซื้อทองคำล็อตใหญ่คิดเป็น “น้ำหนักรวมเกือบ 19 ตัน” จากตลาดโลก ตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนตุลาคม ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียได้สั่งการให้แบงก์ชาติแดนหมีขาวกว้านซื้อทองคำที่มีน้ำหนักรวมเกือบ 19 ตันมาแล้วเช่นกัน ส่งผลให้รัฐบาลรัสเซียมีปริมาณทองคำสำรองในความครอบครองเพิ่มขึ้นกว่า “3 เท่าตัว” แล้วเมื่อเทียบกับปริมาณทองคำสำรองของรัสเซียในปี 2005

รายงานล่าสุดยืนยันว่า ขณะนี้รัสเซียมีปริมาณทองคำสำรองในความครอบครองไม่น้อยกว่า 1,188 ตัน ซึ่งถือเป็นระดับการถือครองทองคำที่สูงที่สุดของรัสเซียนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา ส่งผลให้ในขณะนี้รัสเซียกลายเป็นประเทศที่ถือครองทองคำสำรองเอาไว้มากเป็น “อันดับที่ 5 ของโลก”

ด้านนักวิเคราะห์จากหลายสำนัก รวมถึง คาร์สเทน ฟริตช์ จากธนาคารคอมเมิร์ซบังก์ เอจี ในนครแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนีให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการกว้านซื้อทองคำล็อตใหญ่จากตลาดโลกของรัสเซีย ไม่ต่างจากความพยายามของรัฐบาลปูตินในการปกป้องเสถียรภาพของเศรษฐกิจแดนหมีขาวและเงินสกุล “รูเบิล” ของตน ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำในตลาดโลก

นอกจากนั้น การเดินหมากของปูตินด้วยการ “ถือไพ่ทองคำ” ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า ทองคำคือหลักประกันความอยู่รอดของเศรษฐกิจแดนหมีขาว ที่กำลังถูกสหรัฐฯ และประเทศลิ่วล้อในยุโรปเล่นงานด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากผลพวงของวิกฤตในยูเครน รวมถึงการที่รัสเซียทำการผนวก “สาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย” จากยูเครน เข้ามาเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนโดยสันติวิธีเมื่อ 21 มีนาคม



กำลังโหลดความคิดเห็น