เอเอฟพี - นักรณรงค์สิทธิสตรี 2 คนที่ถูกคุมขังในซาอุดีอาระเบียถูกคดีย้ายไปยังศาลพิเศษสำหรับ “การก่อการร้าย” กลุ่มนักเคลื่อนไหว เผยวันนี้ (25 ธ.ค.) หลังจากพวกเธอทั้งสองปรากฏตัวในศาล
คำตัดสินดังกล่าวมีขึ้นในการพิจารณาคดีที่เขตอัล-อาห์ซาในจังหวัดอีสเทิร์นโพรวินส์ของราชอาณาจักรแห่งนี้ รายงานระบุโดยอ้างจากนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ซึ่งไม่ขอเผยนาม
โลเจน ฮาธโลว ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม หลังจากเธอพยายามที่จะขับรถจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตเข้ามายังราชอาณาจักรแห่งนี้เพื่อต่อต้านข้อห้าม ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ
ขณะที่ เมย์ซา อลาโมวดี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียซึ่งพักพิงอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรต ขับรถมาถึงชายแดนดังกล่าวเพื่อช่วยสนับสนุน ฮาธโลว แล้วเธอก็ถูกจับเช่นกัน
กลุ่มนักเคลื่อนไหวไม่ได้ให้รายละเอียดทั้งหมดของข้อกล่าวหาที่มีต่อพวกเธอทั้งคู่ แต่ระบุว่า การสืบสวนดูเหมือนว่าจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางสื่อสังคมออนไลน์ของพวกเธอมากกว่าเรื่องการขับขี่รถยนต์
“พวกเขาจะย้ายคดีของเธอไปยังศาลการก่อการร้าย” นักเคลื่อนไหวรายหนึ่งซึ่งใกล้ชิดกับคดีของ ฮาธโลว ระบุและเสริทว่า ทนายของเธอกำลังเตรียมที่จะอุทธรณ์ ขณะที่นักเคลื่อนไหวคนที่สอง ยืนยันว่า คดีของ อลาโมวดี ก็ถูกย้ายไปศาลชำนัญพิเศษดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ขณะนี้ ฮาธโลว มีผู้ติดตามบนทวิตเตอร์ 228,000 ราย
ก่อนที่เธอจะถูกจับกุม เธอได้ทวีตรายละเอียดของช่วงเวลา 24 ชั่วโมงที่เธอรอเพื่อที่จะเข้าไปยังซาอุดีอาระเบีย หลังจากเจ้าหน้าที่ชายแดนสั่งให้เธอหยุดรถ โดยผสมอารมณ์ขบขันด้วยในบางช่วง
ด้าน อลาโมวดี มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ 131,000 คน และเธอยังเคยเป็นผู้จัดรายการบนเว็บยูทิวบ์เพื่อถกเถียงเรื่องการห้ามผู้หญิงขับรถของซาอุดีอาระเบีย
เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม ทางการซาอุดีอาระเบียได้บล็อกเว็บไซต์ของกลุ่มสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ซึ่งรายงานข่าวคราวของคดีพวกเธอ
ในปีนี้กลุ่มสังเกตการณ์ “ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน” (Reporters Without Borders) กำหนดให้ซาอุดีอาระเบียติดอยู่ในรายชื่อ 19 ประเทศที่ หน่วยงานรัฐบาลเป็น “ปฏิปักษ์กับโลกอินเตอร์เน็ต” จาการเซ็นเซอร์และควบคุมของทางการ
เมื่อเดือนตุลาคม ผู้หญิงหลายสิบคนได้ร่วมใจกันโพสต์ภาพตัวเองอยู่หลังพวกมาลัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทางอินเตอร์เน็ตสนับสนุนสิทธิในการขับรถ
เพื่อเป็นการตอบโต้ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยออกมาระบุว่า จะบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวดต่อผู้ใดก็ตามที่บ่อนทำลาย “ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม”
กลุ่มนักเคลื่อนไหว ระบุว่า ในทางเทคนิคแล้วการขับรถของสตรีไม่ผิดกฎหมาย แต่ชี้ว่า การห้ามดังกล่าวถูกผูกไว้ขนบธรรมเนียมประเพณีในราชอาณาจักรอนุรักษ์นิยมแห่งนี้