เอเอฟพี – การโจมตีนักข่าวส่งผลให้ความป่าเถื่อนแผ่ขยายเพิ่มมากขึ้น และการลักพาตัวได้ทะยานเพิ่มสูงขึ้น องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders หรือ RSF) ระบุวันนี้ (16) หลังจากช่วงหนึ่งปีที่ความรุนแรงต่อสื่อได้กลายมาเป็นเป้าความสนใจและมีผู้สื่อข่าวถูกสังหารไปแล้ว 66 คน
การตัดศีรษะ เจมส์ โฟลีย์ และ สตีเฟน ซอตลอฟฟ์ โดยฝีมือกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) เน้นย้ำถึงภัยอันตรวยร้ายแรงที่บรรดาผู้สื่อข่าวกำลังเผชิญในความขัดแย้งสมัยใหม่ที่กำลังปกคลุมอยู่ในตอนนี้
“การที่ผู้สื่อข่าวถูกฆาตกรรมด้วยความอารมณ์อันป่าเถื่อนจากโฆษณาชวนเชื่อ จนสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้ไม่บ่อยนัก “ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน กล่าวในรายงานประจำปีที่เผยแพร่ในวันนี้ (16)
จำนวนนักข่าวที่ถูกฆาตกรรมมีการลดลงเล็กน้อย โดยลดจาก 71 รายเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งหลักๆ แล้วเป็นเพราะการเสียชีวิตที่น้อยลงกว่าเดิมในประเทศที่ “มีความสงบ” โดยนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ตัวเลขโดยรวมของผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารคือ 720 คน
อย่างไรก็ตาม การลักพาตัวพุ่งทะยานขึ้นเป็น 119 ราย เพิ่มขึ้นถึง 37 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อปีที่แล้ว เหตุเพราะยุทธวิธีต่างๆ ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนภาคตะวันออกของยูเครนและกลุ่มติอาวุธที่ปฏิบัติการในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ในจำนวนเหยื่อลักพาตัวเหล่านั้น มีอยู่ 33 คนถูกลักพาตัวในยูเครน , 29 คนในลิเบีย และ 27 คนในซีเรีย โดยพวกเขาเหล่านี้ร้อยละ 40 ยังคงถูกคุมตัวไว้อยู่
“นักข่าวท้องถิ่นจ่ายค่าตอบแทนราคาแพงที่สุด จากจำนวนถึงร้อยละ 90 ของผู้ที่ถูกลักพาตัว” รานงานฉบับนี้ เน้นย้ำ และเสริมว่า “ในจำนวนนักข่าวทั้ง 22 คนที่ปัจจุบันถูกกลุ่มติดอาวุธในซีเรียควบคุมตัวไว้ มีอยู่ 16 คนเป็นชาวซีเรีย ขณะที่นักข่าวทั้ง 8 คนที่ปัจจุบันถูกจับเป็นตัวประกันในอิรักล้วนเป็นชาวอิรัก”
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเน้นย้ำถึงหลายคดีที่มีนักข่าวถูกรัฐบาลประเทศตนเองลงโทษ รวมถึงคดีของ ราอีฟ บาดาวี นักข่าวพลเมืองชาวซาอุดีอาระเบียที่ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อขององค์กรนี้ในปีนี้ และถูกตัดสินในเดือนกันยายนให้ต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี และเฆี่ยน 1,000 ทีฐาน “หมิ่นศาสนาอิสลาม” จากการแสดงทัศนคติของเขาบนเว็บไซต์ ลิเบอรัล ซาอุดี เน็ตเวิร์ก (Liberal Saudi Network)
องค์กรนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงกรณีของ คาดิจา อิสมาอิลโลวา ในอาเซอร์ไบจาน ที่ตอนนี้จำคุกอยู่เรือนจำสำหรับบุคคลากรสื่อมวลชนที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป งานเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลของเธอได้ทำให้เธอตกเป็นเป้าปฏิบัติการใส่ร้ายป้ายสี , การแบล็กเมล์ และการอุปโลกน์ข้อหาทางกฎหมายต่างๆ นานา
“ในตอนนี้เธอถูกคุมขังในข้อหาไร้สาระอย่างการ ‘กดดัน’ ให้อดีตเพื่อนร่วมงานพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นข้อหาที่ระวางโทษจำคุก 3-7 ปี” รายงาน ระบุ
นับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมเป็นต้นมา มีผู้สื่อข่าวอาชีพถูกจำคุกอยู่ทั้งหมด 178 คนทั่วโลกเท่ากันกับเมื่อปีที่แล้ว โดยจีนครองแชมป์ประเทศที่จองจำผู้สื่อข่าวมากที่สุด เป็นจำนวน 33 คน ตามมาด้วยเอริเทรีย 28 คน และอิหร่าน 19 คน