xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเริ่มบังคับใช้กม.ห้ามเปิดเผย “ความลับชาติ” ฝ่าฝืนจำคุก 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น
รอยเตอร์ – ผู้ประท้วงชาวญี่ปุ่นหลายร้อยคนออกมาชูป้ายคัดค้านกฎหมายว่าด้วยความลับชาติซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้(10) ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่ากฎหมายดังกล่าวอาจกลายเป็นเครื่องมือปิดบังความผิดของรัฐบาล และจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ได้เอ่ยถึงกฎหมายปกป้องความลับชาติซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาเมื่อปีที่แล้วว่า มีความจำเป็น เพื่อที่ชาติพันธมิตรเช่นสหรัฐฯ จะได้ไว้เนื้อเชื่อใจ และยอมแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองกับรัฐบาลโตเกียว

อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์โต้แย้งว่า จากนี้ไปอาจไม่มีใครกล้าเปิดโปงการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล ขณะที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ติเตียนกฎหมายฉบับนี้ว่า “เป็นอันตรายต่อเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”

“กฎหมายเลวร้ายเช่นนี้สมควรถูกยกเลิก แต่อย่างน้อยถ้าเรายังประท้วงต่อไปเรื่อยๆ รัฐบาลก็ไม่สามารถทำตามใจตัวเองได้” ยูมิ นากาโกมิ วัย 59 ปี หนึ่งในผู้ชุมนุมหลายร้อยชีวิตที่ฝ่าลมหนาวมายืนประท้วงที่หน้าสำนักนายกรัฐมนตรีในวันนี้(10) กล่าว

“ถ้าเรายอมแพ้ ญี่ปุ่นจะมีสภาพไม่ต่างจากรัสเซีย จีน หรือเกาหลีเหนือ”

กฎหมายฉบับนี้ตั้งระวางโทษจำคุกสูงสุด 10 ปีสำหรับพนักงานรัฐหรือบุคคลทั่วไปที่นำความลับทางการออกไปเผยแพร่ ส่วนสื่อมวลชนหรือคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนสนับสนุนเผยแพร่ข้อมูลจะมีโทษจำคุก 5 ปี

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า กฎหมายนี้จะทำให้เอกสารทางการราว 460,000 ฉบับกลายเป็นความลับที่ห้ามเผยแพร่ทันที

“กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า การเผยแพร่ข้อมูลของรัฐบาลเป็นความผิดไม่ว่าในกรณีใดๆ” ยูกิโกะ มิกิ จาก เคลียริงเฮาส์ เจแปน ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลอย่างเสรี กล่าว

ฮิโรชิเกะ เซโกะ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น พยายามที่จะคลายความกังวลของประชาชน โดนยืนยันว่า “รัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม มีการอธิบายถึงวิธีพิจารณา แจ้งรายงานต่อรัฐสภา และทำให้ประชาชนเข้าใจว่ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้อย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิพลเมืองเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลอาเบะผิดสัญญาที่ว่าจะทำให้สาธารณชนเข้าใจและยอมรับกฎหมายนี้ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้พยายามอธิบายอะไรเลย

มิกิ ชี้ว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่ทราบชัดเจนว่าข้อมูลประเภทใดบ้างที่จัดเป็นความลับห้ามเผยแพร่ และมีบล็อกเกอร์หลายรายโทรศัพท์มาสอบถามสำนักงานของเธอเพราะไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่พวกเขาโพสต์จะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่



กำลังโหลดความคิดเห็น