xs
xsm
sm
md
lg

“14 แพทย์ผู้ดี” ถอนตัว หลังเซียร์ราลีโอนใช้ “ยาโรคหัวใจ” ทดสอบรักษาอีโบลา หลัง WHO ประกาศยอดดับแตะ 7,518 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายล่าง)แพทย์ศัลยกรรมโรคหัวใจชาวอีตาลี จีโน สตราดา(Gino Strada)
เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - หลังจากองค์การอนามัยโลกประกาศตัวเลขจำนวนผู้ป่วยอีโบลาเสียชีวิตล่าสุดในแอฟริกาตะวันตกที่ 7,518 ราย ที่มีผู้เสียชีวิตในเซียร์ราลีโอนล่าสุดที่ 2,556 ราย และมีผู้ติดเชื้อถึง  8,939  เจ้าหน้าที่สมาชิกการแพทย์อังกฤษ 14 รายประกาศถอนตัวออกจากเซียร์ราลีโอนหลังพบ Emergency หน่วยงานการแพทย์อิตาลีที่ไม่แสวงหาผลกำไรใช้ “ยารักษาโรคหัวใจ” “แอมิโอดาโรน” (Amiodarone) ที่ไม่ได้รับการทดสอบต่อต้านไวรัสทั้งในสัตว์และมนุษย์ใช้รักษาผู้ป่วยในศูนย์อีโบลาในฟรีทาวน์

เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(22)ว่า เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉิน ชาวอังกฤษรวม 14 คนประกาศถอนตัวออกจากศูนย์การแพทย์ลาคกา(Lakka)ขนาด 22 เตียงในฟรีทาวน์ เซียร์ราลีโอน หลังตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ และอันตรายจากการใช้ยารักษาโรคหัวใจที่ Emergency หน่วยงานการแพทย์อิตาลีที่ไม่แสวงหาผล ซึ่งก่อตั้งโดยแพทย์ศัลยกรรมโรคหัวใจชาวอีตาลี จีโน สตราดา(Gino Strada) นำมาใช้ในศูนย์การแพทย์แห่งนี้ด้วยความหวังว่า จะนำระบบการรักษามาตรฐานโลกด้านการศัลยกรรมหัวใจมายังเซียร์ราลีโอน

โดย Emergency ประกาศความมุ่งมั่นจะให้ผู้ป่วยอีโบลาชาวเซียร์ราลีโอนประจำศูนย์การแพทย์ลาคกา และศูนย์การแพทย์แห่งใหม่ โกเดริช(Goderich)ขนาด 100 เตียงได้รับการรักษาเหมือนเฉกเช่นที่ชาวยุโรปได้รับในทวีปยุโรป ซึ่งศูนย์การแพทย์โกเดริชสร้างโดยกองทัพอังกฤษ และได้รับทุนอุดหนุนโดยกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศของอังกฤษ  (DFID)

แต่ทว่าทีมแพทย์อังกฤษที่ถูกส่งไปทำงานประจำศูนย์การแพทย์ลาคกาในปลายเดือนพฤศจิกายน มีความเห็นว่า การตัดสินใจในการใช้”ยารักษาโรคหัวใจ” ที่ยังไม่เคยได้รับการทดสอบถึงประสิทธิภาพรักษาไวรัสอีโบลาทั้งในสัตว์และคนนั้นเป็นการกระทำที่ขาดความยั้งคิด และอาจทำให้ยอดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ศูนย์แห่งนี้สูงกว่าศูนย์การแพทย์อื่น

ซึ่งล่าสุดรอยเตอร์รายงานในวันจันทร์(22)ว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานตัวเลขรวมของผู้ป่วยอีโบลา19,340 ราย และยอดเสียชีวิตรวม 7,518 ราย โดยไลบีเรียยังเป็นประเทศที่มียอดเสียชีวิตมากที่สุดที่ 3,376 ราย และผู้ป่วยติดเชื้อ 7,830  ราย และเซียร์ราลีโอนมียอดเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2ที่ 2,556  ราย และมีผู้ป่วยติดเชื้อ8,939  ราย นอกจากนี้ กีนามียอดเสียชีวิตรวม 1,586  คน และยอดผู้ติดป่วย2,571  คน ตามลำดับ

โดยยอดเสียชีวิตใน 3ประเทศนี้เพิ่มสูงมากกว่า 175 รายหลังจากวันที่ 20 ธันวาคมเป็นต้นมา

ทั้งนี้ Emergency ยอมหยุดการทดลองใช้ยา “แอมิโอดาโรน” (Amiodarone) หลังจากได้รับคำขอจาก DFID ที่ได้รับการร้องจากเจ้าหน้าที่แพทย์อังกฤษ อย่างไรก็ตาม Emergency ประกาศจะเริ่มการทดลองการใช้ แอมิโอดาโรนอย่างเป็นทางการ

สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยอีโบลาประจำศูนย์การแพทย์ลาคกาได้รับการแจกจ่ายยาเป็นจำนวนมาก รวมถึง ยาแอมิโอดาโรน ผ่านทางท่อที่ต่อเข้าเส้นเลือดที่เรียกว่า "Cannulae" ซึ่งเจ้าหน้าที่การแพทย์แจ้งว่าวิธีการนี้อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน และการใช้เข็มฉีดยาบ่อยครั้งจะทำให้เกิดความเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงาน โดยพบว่ามีแพทย์ 2 รายก่อนหน้านี้ประจำศูนย์การแพทย์ลาคกา ฟรีทาวน์ ติดเชื้ออีโบลา และถูกส่งตัวไปรักษายังเยอรมันและอิตาลีในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนตามลำดับ

ถึงแม้ยาแอมิโอดาโรนจะเป็นยาที่ได้รับอนุญาตสามารถใช้ในการควบคุมการเต้นของหัวใจ และในการทดลองยาชนิดนี้กับโรคอีโบลาของหน่วยงาน Emergency ในเซียร์ราลีโอน โดยอ้างอิงจากการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคมล่าสุดของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันในฮาโนเวอร์ ชี้ว่า “ยาแอมิโอดาโรน” สามารถใช้ยับยั้งไม่ให้ไวรัส เช่น อีโบลา เข้าสู่เซลล์ได้จากผลการทดลองในห้องวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ทางกลุ่มแพทย์อังกฤษแย้งว่า ยังไม่มีการทดลองทางคลินิกในการใช้ยาชนิดนี้ในการทดลองกับสัตว์หรือมนุษย์เพื่อตรวจถึงผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอวัยวะของคนเช่น “ตับ” “ไต” “หรือปัญหาทางการหายใจ” ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นหลังติดเชื้ออีโบลา

อย่างไรก็ตาม รอสเซลลา มิคซิโอ(Rossella Miccio) เจ้าหน้าที่ประสานงานของ Emergency ประจำเซียร์ราลีโอนอ้างว่า ถึงแม้ทางหน่วยงานมีแผนที่จะทดลองตัวยาแอมิโอดาโรน แต่ทว่าในขณะนี้นั้น “ยาตัวนี้ถูกใช้ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม และการช่วยเหลือฉุกเฉิน” นอกจากนี้ยาชนิดนี้ไม่ใช่ยาขั้นทดลองแต่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมานานกว่า 50ปี และผลข้างเคียงต่างเป็นที่ปรากฏดังนั้นจึงทำให้หน่วยงานรู้สึกมั่นใจที่จะใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วย

แต่เจ้าหน้าที่การแพทย์อังกฤษแย้งว่า สภาพร่างกายผู้ป่วยอีโบลาในเซียร์ราลีโอนต่างจากสภาพคนไข้ที่มีปัญหาระบบการเต้นหัวใจในยุโรป เพราะผู้ป่วยอีโบลามีปัญหาตับถูกทำลายอย่างหนัก และปัญหาระดับสารเคมี Electrolyteในเลือด ซึ่งเจ้าหน้าที่อังกฤษยืนยันว่า มีการให้ยาแอมิโอดาโรนโดยไม่มีการคอยควบคุม และไม่ได้รับความยินยอมจากคนไข้ “เจ้าหน้าที่ Emergency ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าคนไข้อีโบลาได้รับยา Emergency มากกว่าที่จะตรวจสอบคนไข้เหล่านั้นได้รับของเหลวอย่างพอเพียง มีสุขอนามัยดี และได้รับความสะดวกสบาย” เจ้าหน้าที่การแพทย์อังกฤษเขียนในรายงาน และพบว่ามีคนไข้บางส่วนเริ่มมีอาการอักเสบหลังจากได้รับยาชนิดนี้จากท่อที่ต่อตรงผ่านเข้าเส้นเลือดหลักใกล้ตำแหน่งหัวใจ

และเจ้าหน้าที่การแพทย์อังกฤษยังแสดงความกังวลที่ Emergency สั่งจ่ายยาขับปัสสาวะให้กับคนไข้อีโบลาประจำศูนย์การแพทย์ในฟรีทาวน์ ซึ่งยามีฤทธิทำให้คนไข้อีโบลาที่มีปัญหาไตล้มเหลวจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ต้องขับถ่ายปัสสาวะมากกว่าปกติ และเป็นผลทำให้คนไข้ต้องประสบปัญหาขาดน้ำอย่างหนัก

แต่ทาง Emergency กลับอ้างว่า ทางหน่วยงานได้เติมของเหลวให้กับคนไข้อีโบลา และใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อล้างไตของคนไข้ และยังติดตามอาการของคนไข้อีโบลา พร้อมกับมีห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์ที่เรียกรหัส “เรด โซน”

ทั้งนี้ DFID ได้ส่งจดหมายร้องให้ Emergency หยุดใช้ยาแอมิโอดาโรนเพราะยาตัวนี้ไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ “ทันทีที่ทางกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศของอังกฤษได้รับแจ้งถึงปัญหานี้ เราขอให้ Emergency หยุดการใช้ยาแอมิโอดาโรน พร้อมกับถอนเจ้าหน้าที่การแพทย์อังกฤษออกจากศูนย์แห่งนี้ ซึ่งทาง Emergency ยอมปฎิบัติตามคำขอของทางกระทรวงทันที และทางเราได้ร่วมมือใกล้ชิดกับหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรทางการแพทย์ของอิตาลีนี้เพื่อทำให้มั่นใจว่ากระบวนการทางแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์โกเดริชจะเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับชาติ” โฆษกของDFID กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น