เอเอฟพี – นโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีส่วนทำให้ระบบสาธารณสุขใน 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตกไม่อาจรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดแคลนเงินทุนและบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือในการสกัดกั้นโรค คณะนักวิจัยในอังกฤษแถลงวันนี้(22)
นักวิจัยจากภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และวิทยาลัยสุขวิทยาและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน ได้ร่วมกันศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายของ ไอเอ็มเอฟ กับการลุกลามอย่างรวดเร็วของไวรัสอีโบลา ซึ่งก็พบว่า โครงการปล่อยกู้ของไอเอ็มเอฟเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขในกินี, ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่อีโบลาระบาดหนักที่สุด
ผลการศึกษาพบว่า แผนปฏิรูปที่ไอเอ็มเอฟเสนอกลับกลายเป็น “ตัวถ่วง” ความสามารถของระบบสาธารณสุขในการรับมือไวรัสร้ายแรงชนิดนี้ รวมไปถึงมาตรการฉุกเฉินอื่นๆ
“ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้อีโบลาแพร่กระจายอย่างรวดเร็วคือความอ่อนแอด้านสาธารณสุข และคงน่าเสียดายยิ่งหากสาเหตุที่แท้จริงของมันถูกมองข้ามไป” อเล็กซานเดอร์ เคนติเคเลนิส นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้เรียบเรียงงานวิจัย ระบุ
“นโยบายที่ไอเอ็มเอฟใช้มีส่วนทำให้ระบบสาธารณสุขใน 3 ประเทศดังกล่าวขาดแคลนทั้งงบประมาณ บุคลากร และการเตรียมการที่ดี”
นักวิจัยได้ศึกษานโยบายที่ ไอเอ็มเอฟ ใช้ก่อนเกิดการระบาดของเชื้ออีโบลา โดยอาศัยข้อมูลจากโครงการกู้ยืมในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงปี 2014 และวิเคราะห์ผลกระทบต่อที่มีต่อกินี, ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน
ผลการศึกษาพบว่า ระบบสาธารณสุขใน 3 ประเทศดังกล่าวอ่อนแอลง หลังจาก ไอเอ็มเอฟ ตั้งเงื่อนไขปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งทำให้รัฐบาลต้องตัดทอนงบประมาณ ลดเงินเดือนพนักงานในภาคสาธารณะ และกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข
ในส่วนของการตัดงบรายจ่ายนั้น นักวิจัยชี้ว่า “นโยบายเช่นนี้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด และปิดกั้นเงินทุนที่ควรจะถูกผันไปใช้แก้ไขวิกฤตสาธารณสุขที่เกิดขึ้น”
“เมื่อปี 2013 ก่อนที่อีโบลาจะระบาด ทั้ง 3 ประเทศสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขกู้ยืมที่ไอเอ็มเอฟกำหนดไว้ แต่ไม่อาจเพิ่มรายจ่ายด้านสังคม ทั้งๆ ที่มีความจำเป็นอย่างสูง” ลอว์เรนซ์ คิง นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เรียบเรียงงานวิจัย กล่าว
นโยบายลดค่าแรงพนักงานส่งผลให้รัฐบาลทั้ง 3 ประเทศไม่สามารถจ้างพยาบาลและแพทย์ในอัตราเงินเดือนที่เหมาะสม ขณะที่การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขก็ทำให้การระดมกำลังตอบสนองโรคระบาด เช่น อีโบลา ทำได้ยาก
โฆษก ไอเอ็มเอฟ ได้ออกมาตอบโต้งานวิจัยชิ้นนี้ โดยระบุว่า มาตรการรัดเข็มขัดที่ ไอเอ็มเอฟ กำหนดไม่ได้ครอบคลุมไปถึงภาคสาธารณสุข และการสรุปว่าไวรัสอีโบลาแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางเพราะนโยบายของ ไอเอ็มเอฟ “ก็ไม่เป็นความจริงเลยสักนิดเดียว”
“ข้ออ้างลักษณะนี้เกิดจากความเข้าใจผิด และในบางครั้งอาจเป็นเพราะตีความนโยบายของ ไอเอ็มเอฟ ผิดพลาด” โฆษกผู้นี้กล่าว
“ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ไอเอ็มเอฟปล่อยเงินกู้ให้แก่ประเทศที่มีรายได้น้อยโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์ ซึ่งช่วยให้ประเทศเหล่านั้นสามารถนำทรัพยากรไปใช้ในด้านสาธารณสุขและการศึกษาได้มากขึ้น”
โฆษกไอเอ็มเอฟ กล่าวเสริมว่า เมื่อเดือนกันยายนกองทุนฯ ได้จัดสรรเงินทุนฉุกเฉินจำนวน 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยต่อสู้วิกฤตอีโบลา และเตรียมที่จะมอบวงเงินช่วยเหลือเทียบเท่ากันนี้ต่อรัฐบาลกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ในปีหน้า