เอเอฟพี – เกิดเหตุคนร้ายตะโกน “อัลลอฮุอักบัร” (อัลเลาะห์ทรงยิ่งใหญ่) ขับรถพุ่งใส่ทางเท้าในเมืองดิฌง (Dijon) ทางภาคตะวันออกของฝรั่งเศส ส่งผลให้มีคนเดินเท้าได้รับบาดเจ็บ 11 คน เมื่อวานนี้(21) โดยก่อนหน้านั้นเพียง 1 วันก็มีชายอีกคนที่ถูกยิงเสียชีวิตเพราะถือมีดไล่แทงตำรวจ และป่าวร้องถ้อยคำเดียวกัน
ตำรวจระบุว่า เหยื่อที่ถูกรถชน 2 รายได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนตัวคนขับถูกจับกุมแล้ว
“ชายซึ่งเกิดในปี 1974 คนนั้นมีสติไม่สมประกอบ และเคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชมาก่อน” แหล่งข่าวใกล้ชิดพนักงานสอบสวนให้สัมภาษณ์ พร้อมระบุว่า “เวลานี้เรายังไม่ทราบแรงจูงใจที่ชัดเจน”
แหล่งข่าวคนเดิมบอกว่า ชายคนนี้ขับรถพุ่งใส่คนเดินเท้า 5 จุดรอบๆ เมืองดิฌง โดยใช้เวลาปฏิบัติการประมาณครึ่งชั่วโมง
“มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 9 คน ส่วนอีก 2 คนอาการสาหัส แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต” เขากล่าว
เจ้าหน้าที่ในแวดวงสอบสวนอีกคนเปิดเผยว่า ผู้เห็นเหตุการณ์แจ้งต่อตำรวจว่าคนขับรถรายนี้ตะโกน “อัลลอฮุอักบัร” และประกาศว่าลงมือ “เพื่อเด็กๆ ในปาเลสไตน์”
ตำรวจยังมีข้อมูลอีกว่า ชายคนนี้มีประวัติทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ หลายครั้งตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา
นายกรัฐมนตรี มานูเอล วอลลส์ แห่งฝรั่งเศส ได้โพสต์ทวิตเตอร์ให้กำลังใจผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้
ก่อนหน้านั้น 1 วัน ชายชาวฝรั่งเศสเชื้อสายบุรุนดีซึ่งเพิ่งเปลี่ยนไปนับถืออิสลามก็ถูกยิงเสียชีวิตขณะถือมีดเข้าทำร้ายตำรวจที่เมือง ฌู-เลส์-ตูร์ (Joue-les-Tours) และได้ตะโกนคำว่า “อัลลอฮุอักบัร” เช่นกัน
คนร้ายซึ่งมีชื่อว่า แบร์ทรองด์ โซอาโบนาโย วัย 20 ปี ใช้มีดฟันเข้าที่ใบหน้าตำรวจ 1 นาย และทำให้ตำรวจอีกนายได้รับบาดเจ็บ
เหตุการณ์นี้ได้ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังสถานีตำรวจ และสถานีดับเพลิงทั่วประเทศ
โซฮาโบนาโย ไม่ได้มีชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของตำรวจฝรั่งเศสแม้จะเคยก่อคดีลหุโทษหลายครั้ง ทว่าพี่ชายของเขาเป็นที่ทราบว่ามีแนวคิดหัวรุนแรง และเคยวางแผนเดินทางไปซีเรีย
แผนกต่อต้านการก่อการร้ายของสำนักงานอัยการฝรั่งเศสได้ตั้งทีมสอบสวนคดีดังกล่าว เพื่อระบุให้แน่ชัดว่าเป็นการกระทำซึ่งเกิดจากค่านิยมอิสลามแบบสุดโต่งหรือไม่
ทางการเมืองน้ำหอมเชื่อว่า มีพลเมืองหรือผู้พำนักในฝรั่งเศสราว 1,200 คนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายนักรบญิฮาดในอิรักและซีเรีย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เหตุบุกจี้ตัวประกันที่นครซิดนีย์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาตระหนักถึงภัยคุกคามของพวก “หมาป่าโดดเดี่ยว” (lone-wolf attacks) ซึ่งอาจจะเป็นพลเมืองที่เดินทางไปร่วมต่อสู้กับนักรบญิฮาดในต่างแดนและกลับมาวางแผนทำลายบ้านเกิด หรือไม่ก็บุคคลที่คล้อยตามแนวคิดของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งเรียกร้องให้ชาวมุสลิมก่อเหตุรุนแรงในประเทศที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรต่อต้านไอเอส