xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: วิกฤตตัวประกันซิดนีย์ชี้ภัยคุกคามจาก “หมาป่าโดดเดี่ยว” ยังยากจะป้องกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวประกันในร้านกาแฟของ Lindt ถูกบังคับใช้ชูธงภาษาอาหรับไว้ที่ข้างกระจกหน้าต่าง
กลายเป็นข่าวสะเทือนขวัญคนทั่วโลกเมื่อมือปืนมุสลิมบุกเดี่ยวเข้าจี้ตัวประกันภายในร้านกาแฟ “ลินดต์” (Lindt) ซึ่งตั้งอยู่ในย่านมาร์ตินเพลสใจกลางนครซิดนีย์ เมื่อเช้าวันที่ 15 ธันวาคม จนสุดท้ายเรื่องราวจบลงเมื่อตำรวจตัดสินใจบุกชิงตัวประกันในช่วงกลางดึกเพื่อยุติการเผชิญหน้าที่ยืดเยื้อนานถึง 16 ชั่วโมง

แม้ตัวประกันส่วนใหญ่จะหนีรอดมาได้ทั้งก่อนและหลังปฏิบัติการรุกฆาตของตำรวจ แต่ผู้จัดการคาเฟ่วัย 34 ปี กับคุณแม่ลูกสามรายหนึ่ง กลับต้องสังเวยชีวิตให้กับเหตุการณ์นี้

มือปืนเป็นชายเชื้อสายอิหร่านวัย 49 ปี นามว่า มาน ฮารอน โมนิส ซึ่งอ้างตัวเป็น “ผู้รู้ศาสนาอิสลาม” ข้อมูลระบุว่าเขามีความผิดปกติทางจิต เคยส่งจดหมายไปด่าทอครอบครัวทหารออสเตรเลียที่เสียชีวิตในสงครามอัฟกานิสถาน และยังอยู่ระหว่างประกันตัวชั่วคราวในคดีฆาตกรรมอดีตภรรยา

แม้จะถูกมองเป็นเพียง “ผู้ร้ายชายขอบ” ที่ปฏิบัติการอย่างโดดเดี่ยว แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า สิ่งที่ โมนิส กระทำอาจถือเป็นชัยชนะทางอุดมการณ์สำหรับกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งเรียกร้องให้ชาวมุสลิมในโลกตะวันตกก่อเหตุโจมตีในบ้านเกิด

แมทธิว เฮ็นแมน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย IHS Jane’s ซึ่งศึกษาความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มก่อความไม่สงบ ชี้ว่า “ประเด็นสำคัญของการโจมตีลักษณะนี้ไม่ได้อยู่ที่จำนวนคนตาย แต่อยู่ที่การสร้างกระแสให้คนหันมาสนใจและกล่าวขานในสิ่งที่พวกเขากระทำ”

“ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ต่อให้ไม่มีผู้เสียชีวิตเลยก็ตาม แต่ไอเอสก็อาจนำไปคุยโอ่ได้ว่ายังมีผู้ร่วมอุดมการณ์ทั่วโลกที่พร้อมจะก่อเหตุโจมตีในนามของพวกเขา”

กลุ่มติดอาวุธไอเอสซึ่งยึดพื้นที่กว้างขวางในอิรักและซีเรียเพื่อจัดตั้ง “รัฐคอลีฟะห์” และกำลังสร้างความหวาดผวาไปทั่วทั้งโลกด้วยการยุยงให้ชาวมุสลิมเข่นฆ่า “ผู้ปฏิเสธ” พยายามใช้สื่อออนไลน์แสวงหาแนวร่วมใหม่ๆ อบู มูฮัมหมัด อัล-อัดนานี ซึ่งเป็นโฆษกไอเอสเคยประกาศเชิญชวนให้ชาวมุสลิมในประเทศใหญ่ๆ เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส แคนาดา และสหรัฐฯ สังหาร “ผู้ไม่ศรัทธา... รวมถึงพลเมืองของประเทศที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ต่อต้านแนวทางของไอเอส”

เป็นเวลากว่า 1 ปีมาแล้วที่ตำรวจและหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียหวั่นเกรงว่าพวกเขาอาจไม่สามารถป้องกันการก่อการร้ายแบบ “หมาป่าโดดเดี่ยว” (lone-wolf) เนื่องจากช่วงนั้นมีพลเมืองแดนจิงโจ้ที่ไม่ได้ถูกทางการเพ่งเล็งเดินทางไปยังซีเรียและอิรักเพื่อร่วมต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์เป็นจำนวนมาก และนั่นหมายความว่า บุคคลที่ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อนอาจจะกลายมาเป็นภัยคุกคามต่อชาติบ้านเมืองอย่างยากที่จะคาดเดา
มาน ฮารอน โมนิส หนุ่มเชื้อสายอิหร่านวัย 49 ปี (ภาพถ่ายเมื่อเดือนเมษายน ปี 2011)
นับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐฯ เรื่อยมาจนถึงเหตุระเบิดไนต์คลับบนเกาะบาหลีในอีก 13 เดือนให้หลัง และการทลายเครือข่ายก่อการร้ายครั้งใหญ่ในนครซิดนีย์และเมลเบิร์นเมื่อปี 2005 หน่วยข่าวกรองและตำรวจออสเตรเลียจึงได้ตระหนักถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มอิสลามิสต์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และแม้ว่าสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานจะค่อยๆ ปิดฉากลงในอีก 5 ปีต่อมา ทว่าอันตรายจากพวกหัวรุนแรงกลับไม่ได้ลดลง

ขณะที่สหรัฐฯ และอังกฤษเผชิญเหตุโจมตีที่เปลี่ยนแปลงเป้าหมายไปเรื่อยๆ สถานการณ์ในออสเตรเลียขณะนั้นยังถือว่า “ควบคุมได้” มากกว่า

ทว่าสงครามซีเรียได้ทำให้แนวโน้มเช่นนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

หลังจากไอเอสสามารถยึดเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิรักไว้ได้ สัญญาณบ่งชี้ถึง “การเปลี่ยนรุ่น” ของประชากรที่เป็นภัยคุกคามต่อรัฐก็ยิ่งชัดเจนขึ้น บุคคลเช่นเครือข่ายก่อการร้าย 18 คนที่ถูกจับในปฏิบัติการเพนเดนนิส (Operation Pendennis) เมื่อปี 2005 รวมถึงลูกสมุนของพวกเขาที่ทางการออสเตรเลียเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดไม่ใช่กลุ่มที่น่าหวาดกลัวที่สุดอีกต่อไป หากแต่เป็นบุคคลธรรมดาที่อาจได้แรงบันดาลใจจากการสู้รบในดินแดนอันไกลโพ้น และคล้อยตามอุดมการณ์ของไอเอสจนผันตัวมาเป็นผู้ก่อการร้ายเองในที่สุด

ตามข้อมูลจากรัฐบาลแคนเบอร์รา มีพลเมืองออสเตรเลียอย่างน้อย 90 คนที่เดินทางไปซีเรียเพื่อเข้าเป็นสมาชิกไอเอส หรือไม่ก็กลุ่ม ญับฮัต อัล-นุสรา ซึ่งเป็นเครือข่ายอัลกออิดะห์ ในจำนวนนี้ทราบแน่นอนว่าเสียชีวิตแล้ว 20 คน นอกจากนี้ยังมีพวกที่สนับสนุนนักรบญิฮาดอยู่เบื้องหลัง หรือยังไม่แน่ใจว่าจะพาตัวเองเข้าสู่สมรภูมิดีหรือไม่

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หน่วยงานความมั่นคงออสเตรเลียยึดหนังสือเดินทางบุคคลต้องสงสัยมากถึง 4 รายต่อสัปดาห์

นอกจากกลุ่มที่เอ่ยไปข้างต้น ยังมีพลเมืองอีกบางกลุ่มที่รู้สึกไม่พอใจต่อสงครามต่อต้านก่อการร้ายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และตัดสินใจอุทิศตนเพื่ออุดมการณ์ของกลุ่มติดอาวุธที่ตนศรัทธาเพื่อสร้างเครดิตให้กับตนเอง ซึ่งมือปืนที่บุกจี้ตัวประกันในย่านมารตินเพลสอาจจัดอยู่ในกลุ่มนี้

ไม่ว่า มาน ฮารอน โมนิส จะมีเหตุผลกลใดซุกซ่อนอยู่ในใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ที่ชาวออสเตรเลียเคยเชื่อว่าเป็นเพียง “ฝันร้าย” ที่คงไม่เกิดขึ้นกับพวกเขาได้ส่อเค้ากลายเป็นจริงในอีก 10 ปีให้หลัง

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีพลเมืองร่วมต่อสู้กับไอเอสมากที่สุดเมื่อเทียบต่อหัวประชากร ซึ่งเป็นสถิติที่สร้างความหนักใจอย่างยิ่งต่อรัฐบาลแดนจิงโจ้
ตัวประกันสาวที่หนีรอดออกจากคาเฟ่วิ่งเข้าหาตำรวจด้วยสีหน้าตื่นกลัวสุดขีด
ชาวมุสลิมในซิดนีย์วางช่อดอกไม้แสดงความอาลัยต่อตัวประกัน 2 รายที่เสียชีวิต

กำลังโหลดความคิดเห็น