xs
xsm
sm
md
lg

‘โครงการนิวเคลียร์’ กับ ‘ยุทธศาสตร์’ ของอิหร่าน

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The view from Tehran
By Brian M Downing
15/12/2014

การที่อิหร่านกับพวกชาติมหาอำนาจ ตัดสินใจประกาศยืดระยะเวลาในการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานออกไปอีก อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการซื้อเวลาให้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งมากยิ่งขึ้น ทว่าในสภาพปัจจุบันที่พวกหัวรุนแรงชาวสุหนี่กำลังเดินหน้าขยายตัว ขณะที่ลัทธิอนุรักษนิยมใหม่ก็ทำท่าว่าจะสามารถกลับไปส่งอิทธิพลในนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯได้อีกคำรบหนึ่ง เตหะรานจึงมองว่าตนเองกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่างน่าวิตกอีกแล้ว ทั้งนี้อิหร่านจะตัดสินใจทำอย่างไรกับโครงการนิวเคลียร์ของตนต่อไป ยังคงขึ้นอยู่ที่ผลการประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงของตัวเอง ไม่ใช่อิงอยู่กับแรงบีบคั้นกดดันของประชาคมระหว่างประเทศ

การเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน (ระหว่างผู้แทนของอิหร่านกับพวกชาติมหาอำนาจ 5+1 ซึ่งประกอบด้วย 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, และจีน บวกกับอีก 1 คือ เยอรมนี ) จบลงโดยยังไม่มีการทำข้อตกลงใดๆ นอกจากการขยายกำหนดเส้นตายของการหารือออกไปอีกครั้งเป็นเดือนกรกฎาคมปีหน้า ทั้งนี้ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เหตุการณ์ต่างๆ ของโลกอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจุดยืนของเหล่ามหาอำนาจที่เข้าร่วมการเจรจาเหล่านี้ก็ได้ นอกจากนั้นการหยุดพักก็ยังเป็นการให้เวลาสำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับทัศนะมุมมองของแต่ละฝ่ายให้ดียิ่งขึ้น

แต่ละประเทศ รวมทั้งอิหร่านด้วย ย่อมมีการตระเตรียมและเข้าสู่การหารือด้วยทัศนะมุมมองซึ่งอิงอยู่กับผลประโยชน์, ความเชื่อ, และประสบการณ์แห่งชาติที่ผิดแผกแตกต่างกัน การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯหรือมหาอำนาจอื่นๆ รายใดก็ตาม ควรที่จะยินยอมอ่อนข้อให้แก่ทัศนะมุมมองของอิหร่าน หรือกระทั่งยอมเชื่อพวกเขา หรือเปลี่ยนแปลงจุดยืนในการเจรจาของตนเสียใหม่ จุดประสงค์ของผู้เขียนมีเพียงแค่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับจุดยืนของอิหร่าน และจากนั้นบางทีก็อาจทำให้เราพอจะทราบว่าเป้าหมายอะไรบ้างที่อาจจะบรรลุได้ และเป้าหมายอะไรที่ไม่มีทางบรรลุได้เลย

ความรู้สึกว่าถูกปิดล้อมเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล

คนอิหร่านมองประวัติศาสตร์แห่งชาติของประเทศตนว่า ช่างเต็มไปด้วยการถูกชาติอื่นเข้ามาแทรกแซง, การถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม, และการถูกข่มขู่คุกคาม นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาเชื่อกันอย่างกว้างขวางและอย่างลึกซึ้ง พอๆ กับที่ชาวอเมริกันเชื่อว่าชาติของพวกเขามีพลังอำนาจและมีภารกิจที่จะต้องทำในโลกใบนี้ และก็เป็นไปอย่างกว้างขวางและอย่างลึกซึ้งพอๆ กับที่พวกมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมเชื่อว่า พวกเขากำลังเป็นผู้เผยแพร่อารยธรรมไปยังส่วนอื่นๆ ที่ยังมืดมัวต่ำต้อยด้อยกว่าของโลก ตลอดจนเป็นไปอย่างกว้างขวางและอย่างลึกซึ้งพอๆ กับที่คนจีนเชื่อว่าชาติของพวกเขาได้รับการลิขิตจากสวรรค์ให้กลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่สามารถครอบงำทั่วโลก

ผู้นับถือศรัทธาศาสนาอิสลามนิกายชิอะห์ ดูจะมีความรู้สึกกันอย่างยาวนานแล้วว่า พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกรุกรานย่ำยีในศาสนาอิสลาม และถูกเหยียดหยามตลอดจนถูกเข่นฆ่าทำร้ายอยู่เป็นระยะๆ ในข้อหาความผิดฐานแตกต่างหันเหออกมาจากพวกนิกายสุหนี่ที่เป็นชนส่วนใหญ่ ความเชื่อดังกล่าวนี้ได้รับการตอกย้ำนับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่ที่อิหม่ามอาลีพ่ายแพ้ปราชัยที่ใกล้ๆ เมืองการ์บาลา (Karbala) เมื่อปี ค.ศ.680

เหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เป็นเสียงก้องสะท้อนทัศนะมุมมองเช่นนี้ของชาวชิอะห์ เป็นต้นว่า อังกฤษเกิดมีอิทธิพลอย่างชนิดไม่เป็นการสมควรเลย ต่อกษัตริย์หลายองค์ที่แสนจะเกียจคร้านไม่เอาไหนของราชวงศ์กอจาร์ (Qajar ปี 1785-1925) และด้วยการร่วมมือกับรัสเซียในเวลาต่อมา อังกฤษก็สามารถเข้ายึดครองอิหร่านเอาไว้ได้ในระหว่างสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงไปได้ 8 ปี อังกฤษกับสหรัฐฯก็ได้จับมือกันโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรีโมฮัมหมัด โมซัดเดก (Mohammad Mosaddegh) และสนับสนุนให้ราชวงศ์ปาห์เลวี (Pahlavi) ขึ้นครองอำนาจในอิหร่าน ซึ่งราชวงศ์นี้ก็เริ่มดำเนินโครงการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดความเป็นปรปักษ์ขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาล เหตุการณ์ต่างๆ ที่ตัดทอนจากหน้าหนังสือประวัติศาสตร์เปื้อนฝุ่นเหล่านี้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่มิได้สอดคล้อง มิได้เข้ากับความเชื่อของชาวอิหร่านดังกล่าวข้างต้นเอาเสียเลย

หันมาพิจารณาประวัติศาสตร์ยุคใหม่กันบ้าง ในปี 1980 อิรักได้เข้ารุกรานอิหร่านด้วยความสนับสนุนของชาติทรงอำนาจชาวสุหนี่หลายราย สงครามกินระยะเวลา 8 ปีที่ติดตามมา ได้ทำให้ชาวอิหร่านหลายแสนคนเสียชีวิต ถึงแม้จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายอย่างแน่นอนชัดเจนยังไม่เป็นที่ทราบกัน แต่ก็แทบจะเป็นสิ่งที่มั่นใจได้แล้วว่า เป็นตัวเลขซึ่งสูงกว่าจำนวนการบาดเจ็บล้มตายของสหรัฐฯในสงครามโลกครั้งที่ 2 แทบไม่มีครอบครัวชาวอิหร่านครอบครัวใดเลยที่ไม่ได้ประสบกับการสูญเสียสืบเนื่องจากการบาดเจ็บล้มตายในคราวนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้

การที่สหรัฐฯส่งกองทัพเข้าไปรุกรานและยึดครองอิรักในปี 2003 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงถึงระดับรากฐานในภูมิภาคแถบนี้, ระบอบปกครองเก่าๆ พากันล่มสลายไปและเกิดระบอบปกครองใหม่ที่นิยมตะวันตกขึ้นมาแทนที่ นอกจากนั้นสงครามคราวนี้ยังสาธิตให้เห็นถึงแสนยานุภาพทางทหารอันล้ำเลิศเหนือชั้นของสหรัฐฯ สงครามอิหร่าน-อิรักสู้รบกันยาวนานอยู่ 8 ปีและยุติลงในสภาพชะงักงันทั้งสองฝ่ายตรึงกำลังกัน แต่สหรัฐฯกลับสามารถทำลายกองทัพอิรักจนยับเยินได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน เหมือนกับที่ได้เคยกระทำสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 12 ปีก่อนหน้านั้น อิหร่านรู้สึกว่าตนเองกำลังตกเป็นเป้าหมายรายต่อไป คณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็สำทับด้วยการโหมประโคมถ้อยคำอันไม่เป็นมงคลซึ่งพุ่งตรงไปที่อิหร่าน

เตหะรานตอบสนองด้วยการส่งสัญญาณเกี้ยวพาขอเปิดการสนทนากัน โดยรวมถึงการพูดจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในเวลานั้น ซึ่งคือ คอลิน พาวล์ (Colin Powell) ปรารถนาที่จะเดินหน้าสานต่อเรื่องนี้ ทว่าพวกอนุรักษ์นิยมใหม่ (neo-conservative) ซึ่งทรงอำนาจอิทธิพลเหลือเกินในคณะบริหารบุช ได้ปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยไม่ยอมให้กระทำ ถึงตอนนั้นอิหร่านจึงสั่งการให้กองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชิอะห์ในอิรัก เปิดการโจมตีเล่นงานทหารอเมริกัน ครั้นเมื่อการพูดจากันในสหรัฐฯเกี่ยวกับการเปิดโจมตีอิหร่านค่อยเงียบสงบลง การโจมตีของกองกำลังอาวุธท้องถิ่นเหล่านี้ก็สูญสลายไปเช่นกัน

สงครามรุกรานอิรักในปี 2003 นั้น ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ช่างขัดแย้งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในตอนแรกเริ่ม เพราะในที่สุดมันก็นำไปสู่การจัดตั้งคณะรัฐบาลอิรักที่กุมอำนาจโดยชาวชิอะห์ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้อยู่แล้ว โดยที่รัฐบาลนี้ก็มีความเอนเอียงหันมาหาเตหะรานด้วย อย่างไรก็ดี ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอื่นๆ รัฐบาลชิอะห์ทั้งในเลบานอนและในซีเรีย ต่างก็ถูกโจมตีหนัก ส่วนประชากรชาวชิอะห์ในรัฐที่เป็นราชอาณาจักรทางแถบอ่าวเปอร์เซีย ก็ถูกจำกัดสิทธิเสียงและถูกกดขี่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มหัวรุนแรงชาวสุหนี่กำลังเติบใหญ่ขยายตัว และกลุ่มต่อต้านชิอะห์หลายๆ กลุ่มซึ่งแสดงพฤติการณ์เข่นฆ่าผู้คนมากขึ้นๆ กำลังออกปฏิบัติการรอบๆ อิหร่านตลอดจนรอบๆ รัฐพันธมิตรทั้งหลายของอิหร่าน กลุ่มหัวรุนแรงชาวสุหนี่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น แนวร่วมอัล-นุสราห์ ฟรอนต์ (al-Nusrah Front), รัฐอิสลาม (Islamic State หรือ IS) เครือข่ายของอัลกออิดะห์ (al-Qaeda) ซึ่งแตกออกเป็นหลายๆ ส่วน, ตอลิบานอัฟกานิสถาน (Afghan Taliban), เตห์รีค-อี-ตอลิบาน (Tehreek-e-Taliban Pakistan) หรือ ตอลิบานปากีสถาน, ลัชคาร์-อี-จังวี (Lashkar-e-Jhangvi), และอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ได้รับความสนับสนุนจากผู้บริจาคชาวสุหนี่ บางกลุ่มก็ได้รับความสนับสนุนจากกองทัพและรัฐปากีสถาน

เอาเข้าจริง กลุ่มหัวรุนแรงชาวสุหนี่เหล่านี้ ก็มีความโน้มเอียงที่จะโค่นล้มพวกรัฐสุหนี่ มากกว่าจะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่ออิหร่าน แต่กระนั้นการที่เกิดเหตุสังหารหมู่ชาวชิอะห์ขึ้นมาเป็นประจำ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้แก่เตหะราน รวมทั้งการที่กลุ่มหัวรุนแรงหลายหลาก อาจจะมีการรวมตัวผนึกกำลังกัน ย่อมจะเป็นสิ่งที่ประเทศใดก็ตาม แม้กระทั่งสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถปฏิเสธไม่นำเอามาคาดคำนวณในทางด้านความมั่นคงด้วย

สำหรับอิสราเอล และกลุ่ม “มูจาฮิดีน-อี-คัลก์ (Mujahideen-e-Khalq) ที่เป็นกลุ่มชาวอิหร่านซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศ พวกเขาก่อการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ชาวอิหร่านเสียชีวิตไปจำนวนหนึ่ง ถึงแม้ระยะหลังๆ เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นน้อยลงไปแล้วโดยอาจจะมีสาเหตุเนื่องจากมีการรักษาความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น หรือว่ามีเป้าหมายให้เล่นงานลดน้อยลงก็ตามที เมื่อไม่กี่เดือนก่อน คือ ในเดือนตุลาคม 2014 มีรายงานว่าศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ในเมืองปาร์ชิน (Parchin) อยู่ในอาการสะท้านสะเทือนเนื่องจากเกิดการระเบิดที่รุนแรงมาก บุคคลภายนอกทั้งหลายอาจจะมองดูพฤติการณ์เหล่านี้ว่าเป็นเพียงความพยายามที่จะชะลอโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเท่านั้น ทว่าสำหรับในสายตาของเตหะรานแล้ว มันเป็นสัญญาณแสดงถึงความเป็นศัตรูโดยองค์รวม จากพวกมหาอำนาจภายนอก

เวลานี้ไม่ว่า ลิเบีย, ซีเรีย, เยเมน, หรือ อิรัก ต่างกำลังเกิดการแตกแยกออกเป็นภาคส่วนต่างๆที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน มหาอำนาจต่างชาติจำนวนมากทีเดียวก็ปรารถนาที่จะเห็นกระบวนการเช่นนี้บังเกิดขึ้นในอิหร่านด้วย ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากปากีสถานอยู่เป็นระยะ ได้เข้าไปให้ความสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ของชาวบาโลจ (Baloch) ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน ส่วนอิสราเอลและพวกรัฐแถบอ่าวเปอร์เซียก็กำลังส่งเสริมสนับสนุนสิ่งเดียวกันนี้ในหมู่ชาวเคิร์ด, ชาวอาเซอร์ไบจาน, ตลอดจนชาวอาหรับ ทางภาคตะวันตกของอิหร่าน

นี่ยังไม่ได้พูดถึงการที่ประชาคมระหว่างประเทศได้ดำเนินมาตรการแชงก์ชั่นลงโทษอันทารุณต่ออิหร่านหลายต่อหลายระลอก ซึ่งกำลังทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ประสบความลำบากเดือดร้อนสาหัส เงินจับจ่ายใช้สอยที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ได้กำลังร่อยหรอลง เช่นเดียวกับค่าเงินเรียลอิหร่านที่กำลังอ่อนตัว อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูง แม้กระทั่งพวกอาหารพื้นฐานทั้งหลายก็กำลังมีราคาแพงขึ้น ชาวอิหร่านส่วนใหญ่มองความยากลำบากเหล่านี้ว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการกดขี่ทางการเมืองและทางนิกายศาสนาที่ดำเนินมาหลายศตวรรษแล้ว ตลอดจนมองมันเป็นบททดสอบทั้งในด้านความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของประเทศชาติ และการอุทิศตนเพื่อศาสนาของชาวอิหร่าน

ความร่วมมือกับสหรัฐฯ

เมื่อตอนที่พวกเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองและหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯเข้าไปยังภาคเหนือของอัฟกานิสถาน ภายหลังเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 พวกเขาจึงได้ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่อิหร่านเข้าไปอยู่ที่นั่นตั้งแต่สงครามขับไล่พวกรัสเซียในยุคทศวรรษ 1980 และที่ปรึกษาชาวอิหร่านก็ยังคงอยู่กับกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของ “พันธมิตรภาคเหนือ” (Northern Alliance) สืบต่อมาอีกนาน ภายหลังจากทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้ผละออกจากพื้นที่แถบนี้ไปแล้ว อิหร่านได้ช่วยเหลือการปฏิบัติการของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน ทั้งในรูปของการแบ่งปันข่าวกรอง และการเสนอให้ความช่วยเหลือนักบินอเมริกันที่อากาศยานของพวกเขาถูกยิงตก

ทุกวันนี้ อิหร่านกับสหรัฐฯก็มาอยู่ข้างเดียวกันในการทำสงครามปราบปรามกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) อิหร่านได้วางที่ปรึกษาจำนวนหนึ่งเอาไว้ในกองทหารอิรักและกองทหารชาวเคิร์ด นอกจากนั้นกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชิอะห์ในอิรักก็ได้รับการหนุนหลังให้เข้าร่วมสู้รบกับไอเอสด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ อิหร่านยังเริ่มต้นให้ความสนับสนุนทางอากาศในทางยุทธวิธี กองทหารอเมริกันนั้นก็กำลังปฏิบัติภารกิจอย่างเดียวกันนี้ ทว่าพยายามอย่างฉลาดที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการปรากฏตัวหรือมีการอ้างอิง ถึงการร่วมมือประสานงานกับฝ่ายอิหร่าน ถึงแม้นายทหารหนุ่มๆ จากทั้งสองประเทศกำลังอยู่ห่างกันเพียงไม่กี่กิโลเมตร เล่ากันเป็นเรื่องขำขันว่า ถ้าหากรถจิ๊ปของฝ่ายอิหร่านเกิดชนกับรถจิ๊ปฝ่ายอเมริกันแล้ว คนขับของทั้งสองคันคงจะต้องติดต่อกับเมืองหลวงของประเทศพวกตน ก่อนที่จะมาแลกเปลี่ยนบัตรประกันภัยรถยนต์ของกันและกัน

ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯพยายามประโคมป่าวร้องเรื่องความช่วยเหลือที่มาจากกองทัพอากาศของรัฐสุหนี่ ในการทำสงครามต่อสู้กับพวกไอเอส ถึงแม้จำนวนของประเทศเหล่านี้ช่างน้อยนิดเสียจนกระทั่งนายพลระดับ 3 ดาวที่เป็นโฆษกผู้แถลงข่าวของเพนตากอน ยังอยู่ในอาการเหมือนยิ้มเยาะในเวลาที่ไม่ทันระวังตั้งตัว สหรัฐฯยังได้จัดส่งอาวุธให้แก่พวกชนเผ่าชาวสุหนี่ในอิรักแล้ว ถึงแม้ความเคลื่อนไหวเช่นนี้หมายถึงการปูพื้นฐานให้แก่การสู้รบระหว่างคนต่างนิกายศาสนาอีกครั้งในอนาคตข้างหน้า ดังนั้น อิหร่านจึงมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯได้มีการเอนเอียงไปทางข้างถือหางฝ่ายสุหนี่อย่างแน่นอนแล้ว ทั้งๆ ที่อิหร่านสู้อุตส่าห์ทุ่มเทลงแรงไปถึงขนาดนี้

แนวโน้มทางการเมืองภายในสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เป็นไปในทิศทางซึ่งให้ผลดีต่ออิหร่านเอาเสียเลย พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประสบความเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากถูกโจมตีว่าไม่ได้ดำเนินนโยบายการต่างประเทศด้วยความเข้มแข็ง มีโอกาสอยู่มากทีเดียวที่ทำเนียบขาวอาจจะกลับไปตกอยู่ในกำมือของพรรครีพับลิกันอีกครั้งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใน 2 ปีข้างหน้า อิทธิพลของพวกอนุรักษนิยมใหม่ไม่ได้สงบเงียบหายไป หากแต่กำลังแทรกเข้าไปในทีมงานนโยบายการต่างประเทศของบุคคลเด่นๆ ที่อาจจะได้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ขณะที่พวกผู้สมัครซึ่งมีแนวความคิดเป็นอิสระ มิได้มีอิทธิพลของพวกอนุรักษนิยมใหม่เหล่านี้ กำลังถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ

มองโครงการนิวเคลียร์อิหร่านในบริบททางภูมิรัฐศาสตร์

อิหร่านได้ระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมของตนไปแล้ว รวมทั้งยังดำเนินการลดความเข้มข้นของยูเรเนียมที่มีอยู่ในครอบครองอีกด้วย ทั้งนี้ยูเรเนียมที่มีอยู่ในคลังเก็บของประเทศนี้กำลังถูกลดความเข้มข้นให้อยู่ในระดับไม่เกิน 5% อย่างไรก็ดี เตหะรานจะยังคงพยายามหาทางให้ตนเองมีความสามารถ หรือพยายามรักษาความสามารถ ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ เอาไว้ เนื่องจากเหตุผลสภาพความเป็นจริงทางด้านความมั่นคง นี่ย่อมหมายความว่า เตหะรานยังต้องการที่จะรักษาศักยภาพความสามารถในการเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียมให้อยู่ในเกรดทำอาวุธนิวเคลียร์ได้ --ซึ่งเป็นจุดยืนที่ไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับการยอมรับจากมหาอำนาจส่วนใหญ่ของโลก

สำหรับอิหร่านแล้ว โครงการนิวเคลียร์มีประโยชน์ใน 3 ด้านด้วยกัน ประการแรก มันเป็นแหล่งที่มาของความภาคภูมิใจและความสำเร็จของประเทศชาติ เป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกถูกต้องชอบธรรมให้แก่ประเทศซึ่งมองว่าตนเองถูกปิดล้อมและถูกโดดเดี่ยวเรื่อยมา ประการที่สอง การผลิตพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้นในอนาคต จะเป็นการเปิดทางให้อิหร่านสามารส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก และก็จะนำรายได้เข้ารัฐสูงขึ้นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เตหะรานใช้เรียกความสนับสนุนภายในประเทศได้มากขึ้นไปด้วย ประการที่สาม แม้กระทั่งความก้าวหน้าที่มีอยู่ในระดับปัจจุบัน โครงการนิวเคลียร์ก็สามารถที่จะใช้เป็นเครื่องมือป้องปรามไม่ให้ชาติอื่นๆ เข้ามารุกรานรังแก ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมซึ่งกำลังมีภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้นทุกที

พวกนักวิเคราะห์จำนวนมากมักส่งเสียงเตือนว่า ถ้าหากอิหร่านสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ชาติทรงอำนาจอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็จะสร้างด้วย เรื่องนี้ทางฝ่ายอิหร่านข้องใจสงสัยว่า ทำไมจึงไม่มีการใช้หลักเหตุผลนี้เอากับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถานบ้าง และทำไมอิสลามาบัดจึงไม่ต้องเจ็บปวดกับมาตรการแซงก์ชั่นอันทารุณและยาวนานแบบเดียวกับที่เตหะรานได้รับอยู่ ยิ่งกว่านั้น ฝ่ายอิหร่านชี้อีกว่า ระเบิดนิวเคลียร์ของปากีสถานนั้นสร้างขึ้นมาได้ก็โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างมหาศาลจากซาอุดีอาระเบีย จึงทำให้กลายเป็นหลักฐานข้อพิสูจน์ยืนยันถึงความวิตกกังวลที่ว่า ริยาดสามารถที่จะเรียกร้องอาวุธดังกล่าวมาใช้ได้ หรือไม่ในวันหนึ่งข้างหน้าอิสลามาบัดก็จะขายอาวุธเหล่านี้ให้แก่ริยาด ทั้งนี้ปากีสถานยังคงกำลังผลิตอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องด้วยอัตราความเร็วที่น่าตื่นตระหนกทีเดียว

อิหร่านกำลังมองว่าเวลานี้ตนเองต้องตกอยู่ในอันตรายอย่างน่าวิตกอีกครั้งหนึ่งแล้ว พวกหัวรุนแรงชาวสุหนี่กำลังเดินหน้าขยายตัว, พวกนักการเมืองอิสราเอลก็ต้องการทำให้อิหร่านอ่อนแอปวกเปียก, การก่อความไม่สงบกำลังคุกรุ่นอยู่ในดินแดนชนเผ่าต่างๆ ภายในอิหร่าน, และลัทธิอนุรักษนิยมใหม่ทำท่าจะสามารถก้าวผงาดขึ้นมาในนโยบายการต่างประเทศอเมริกันอีกคำรบหนึ่ง จุดยืนของอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของตน จะขึ้นอยู่ที่ผลการประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงของตัวเอง ไม่ใช่อิงอยู่กับแรงบีบคั้นกดดันของประชาคมระหว่างประเทศ โดยที่หลายๆ ส่วนของประชาคมนี้กำลังหาทางทำให้อิหร่านอ่อนแอลง –หรือไม่ก็จะหาทางทำเช่นนั้นเมื่อถึงตอนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ขึนปกครองประเทศในปี 2017

ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น