xs
xsm
sm
md
lg

เหตุระเบิดสังหารชาวชิอะห์ในเขตชนเผ่าของปากีสถาน

เผยแพร่:   โดย: มาลิก อายุบ ซุมบัล

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Tribals blame Haqqani offshoot for blast
By Malik Ayub Sumbal
13/09/2012

แรงระเบิดที่คร่าชีวิตชาวมุสลิมนิกายชิอะห์ไปอย่างน้อย 14 คน และยังทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกสิบกว่าคน ณ ตลาดอันคึกคักจอแจในพื้นที่ชาวชนเผ่าของปากีสถาน เมื่อตอนกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้เหล่าผู้อาวุโสชาวชนเผ่าทั้งที่เป็นชิอะห์และที่เป็นสุหนี่ พากันประณามว่า เป็นฝีมือของกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากเครือข่ายฮักกอนี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะไม่ทำการเข่นฆ่าชาวมุสลิมผู้บริสุทธิไม่รู้อิโหน่อิเหน่

อิสลามาบัด, ปากีสถาน – พวกผู้อาวุโสของชนเผ่า ต่างกำลังประณามกล่าวโทษกลุ่มที่แตกออกมาจากเครือข่ายฮักกอนี (Haqqani network) ภายหลังเกิดเหตุการณ์รถยนต์ที่บรรทุกวัตถุระเบิดจำนวนมากคันหนึ่ง ถูกขับเข้าไปในตลาดที่คักคักจอแจที่สุดแห่งหนึ่งในเขตพื้นที่ของชาวชนเผ่าปากีสถาน ซึ่งอยู่ประชิดกับอัฟกานิสถาน และแรงระเบิดได้คร่าชีวิตชาวมุสลิมนิกายชิอะห์ไปอย่างน้อยที่สุด 14 คน ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสมีกว่า 70 คน

ระเบิดในรูปรถยนต์คันนี้ ถูกขับไปในตลาดของเมืองปาราชินาร์ (Parachinar) ศูนย์กลางของ เขตเอเยนซี อัปเปอร์ คุร์รัม (Upper Kurram agency) และถูกจุดระเบิดขึ้นมาในตอนบ่ายวันจันทร์ที่ 10 กันยายน ชาวบ้านหลายรายเล่าว่า การกระทำอันโหดเหี้ยมคราวนี้ เป็นฝีมือของกลุ่ม เตห์ริก-อี-ตอลิบาน อิสลามี ปากีสถาน (Tehrik-e-Taliban Islami Pakistan หรือ TTP-Islami) ที่มี ฟาซาล ซาเอด ฮักกอนี (Fazal Saeed Haqqani) เป็นหัวหน้า พวกเขาก่อเหตุเช่นนี้ก็ด้วยความประสงค์ที่จะโหมกระพือความรุนแรงระหว่างคนต่างนิกายศาสนาในพื้นที่แถบนี้ให้ปะทุขึ้นมาอีก โดยที่เมืองนี้มีประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรงนองเลือดเช่นนี้มาแล้วหลายระลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2005 และ 2007

แหล่งข่าวหลายๆ รายที่เป็นชาวชนเผ่า ตูลี ( Turi) และชาวชนเผ่าบังแอช (Bangash) บอกว่า การโจมตีคราวนี้คือการแก้แค้นต่อการที่กองกำลังความมั่นคงของทางการได้ดำเนินการจู่โจมกวาดจับผู้ต้องสงสัยหลายครั้งในพื้นที่เขตเอเยนซี โลเวอร์ คุร์รัม (Lower Kurram Agency) และที่บริเวณเมืองบากัน (Bagan) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้จับกุมบุคคลสำคัญของกลุ่มทีทีพี-อิสลามี ไปหลายคน ผู้สื่อข่าวส่วนท้องถิ่นหลายรายซึ่งขอไม่ให้ระบุนามโดยบอกว่าพวกเขากลัวว่าจะเป็นภัยถึงชีวิตหากเอ่ยชื่อของ ฟาซาล ซาเอด เอาไว้ในรายงานข่าวของพวกเขา ก็ชี้นิ้วไปที่กลุ่มนี้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 2011 หลังจากเกิดความขัดแย้งภายในกลุ่มตอลิบานชาวปากีสถาน (Pakistani Taliban หรือชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ เตห์ริก-อี-ตอลิบาน ปากีสถาน Tehreek-e-Taliban Pakistan ใช้อักษรย่อว่า TTP) และทำให้ ฟาซาล ซาเอด แยกตัวออกมา

“กลุ่ม ทีทีพี-อิสลามี ของ ฟาซาล ซาเอด ฮักกอนี เป็นพวกที่มีรากเหง้าฝังลึกอยู่ในเขตเอเยนซี คุร์รัม และในบริเวณเมืองบากัน ถึงแม้พวกเขาจะแยกตัวออกจากกลุ่มตอลิบานชาวปากีสถาน และ เครือข่ายฮักกอนี แล้วก็ตามที” ผู้สื่อข่าวส่วนท้องถิ่นรายหนึ่งบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์โดยขอไม่ให้ระบุนาม ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวผู้นี้ยังเล่าด้วยว่า พวกชิอะห์ตกเป็นเป้าหมายหลักของ ฟาซาล ซาเอด ในความพยายามที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบและความรุนแรงแห่งการแตกแยกระหว่างนิกายศาสนาขึ้นในเขตเอเยนซี คุร์รัม (ทั้ง อัปเปอร์ คุร์รัม และ โลเวอร์ คุร์รัม)

ภายหลังเกิดเหตุระเบิดรถยนต์ในวันจันทร์ที่ 10 กันยายนแล้ว เหล่าผู้อาวุโสของชนเผ่าตูลี และชนเผ่าบังแอช ได้จัดการประชุมมหาสภาชนเผ่า (grand jirga) ขึ้นในวันอังคารที่ 11 กันยายน เพื่อประณามผู้ก่อเหตุร้ายแรงนี้ขึ้นมา ที่ประชุมประกาศให้ทั้งชาวชิอะห์และชาวสุหนี่ไว้อาลัยเป็นเวลา 3 วัน พร้อมกับเรียกร้องให้กองกำลังความมั่นคงลงมือปฏิบัติการปราบปรามพวกผู้กระทำความผิดเหล่านี้ ทั้งนี้ชนเผ่าตูลีเป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ ขณะที่ชนเผ่าบังแอช ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นชาวชิอะห์

ทางด้าน ไซเอด ชาฮับ อาลี ชาห์ (Syed Shahab Ali Shah) ผู้แทนฝ่ายการเมือง (Political Agent) ของเขตเอเยนซี คุร์รัม กล่าวกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า “เรายังไม่สามารถหาข้อมูลข่าวสารใดๆ เกี่ยวกับการโจมตีชาวชิอะห์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันก่อนได้เลย แต่ผมก็เห็นว่ายังเร็วเกินไปหน่อยที่จะด่วนสรุปโดยระบุชื่อ ฟาซาล ซาเอด ฮักกอนี ว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุร้ายคราวนี้” ผู้บริหารของเขตเอเยนซี คุร์รัม ผู้นี้กล่าวด้วยว่า กองทัพปากีสถานมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในเขตเอเยนซี คุร์รัม และเวลานี้กำลังมีการปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่ตัวเขาเองไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าสถานที่หลบซ่อนตัวอย่างชัดเจนแน่นอนของ ฟาซาด ซาเอด ได้ เนื่องจากกลุ่ม ทีพีพี-อิสลามี ไม่ได้มีการตั้งค่ายอย่างถาวร

สำหรับประวัติความเป็นมาของ ฟาซาล ซาเอด เท่าที่ทราบกันนั้น ก่อนที่จะเข้าร่วมกับขบวนการตอลิบานชาวปากีสถาน เขาเคยเป็นสมาชิกอยู่ในเครือข่ายฮักกอนี ซึ่งนำโดย มาวลาวี จาลาลุดดิน ฮักกอนี (Maulvi Jalaluddin Haqqani) และบุตรชายคนสำคัญของเขา ซิราชอุดดิน ฮักกอนี (Sirajuddin Haqqani) ในเขตเอเยนซี นอร์ท วาซิริสถาน (North Waziristan) เมื่อต้นเดือนกันยายนนี้เอง รัฐบาลสหรัฐฯเพิ่งประกาศขึ้นบัญชี เครือข่าย ฮักกอนี เป็นองค์การก่อการร้าย และตั้งค่าหัว ซิราชอุดดิน เป็นเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในอดีตเมื่อตอนที่สหรัฐฯให้ความสนับสนุนแก่กลุ่มต่างๆ ที่ทำการสู้รบต่อต้านการยึดครองอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตนั้น พวกฮักกอนีคือกลุ่มต่อต้านโซเวียตที่อยู่ในระดับแนวหน้าที่สุด

ฟาซาล ซาเอด ผู้นำกลุ่มทีทีพี-อิสลามี ในปัจจุบัน ได้ขึ้นเป็นผู้นำของกลุ่มตอลิบานชาวปากีสถาน (ทีทีพี) ในเขตเอเยนซี คุร์รัม ตามคำเชื้อเชิญของ ฮากิมุลลาห์ เมห์ซุด (Hakimullah Mehsud) ผู้เป็นหัวหน้าของทีทีพี เมื่อปี 2007 ในตอนที่แยกตัวจาก ทีทีพี และจัดตั้งกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มใหม่ของเขาขึ้นมาในปีที่ที่แล้ว ฟาซาล ซาเอด เคยประกาศว่า กลุ่มที่แยกตัวออกมาของเขา คัดค้านนโยบายของทางตอลิบานชาวปากีสถาน ที่ทำการโจมตีชาวมุสลิมผู้บริสุทธิไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ตลอดจนกองกำลังความมั่นคงของปากีสถาน

“เราชิงชังการเข่นฆ่าคนบริสุทธิ์ที่ต้องล้มตายไปด้วยวิธีการโจมตีแบบฆ่าตัวตายและการโจมตีด้วยระเบิด ตลอดจนการโจมตีใส่กองทัพของพวกเราเอง และทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมให้พินาศเสียหาย ... องค์การใหม่ของเราแห่งนี้จะไม่โจมตีกองกำลังความมั่นคงของพวกเราเอง” เขาเคยพูดเช่นนี้กับหนังสือพิมพ์ดอว์น (Dawn) ของปากีสถาน ในวันที่ 28 มิถุนายน 2011

แต่หลังจากนั้นมา กลุ่มนี้ก็เข้าเกี่ยวข้องพัวพันกับการสังหารชาวชิอะห์จำนวนหนึ่ง ตลอดจนเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายครั้งในเขตเอเยนซี คุร์รัม รวมทั้งการโจมตีในเมืองปาราชินาร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งทำให้ชาวชิอะห์เสียชีวิตไป 42 คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน โดยที่ ทีทีพี-อิสลามี ก็ออกมาประกาศความรับผิดชอบ และบอกว่าจะออกปฏิบัติการในลักษณะเช่นนี้ต่อไป

แหล่งข่าวหลายรายที่เป็นชนเผ่าตูลี และชนเผ่าบังแอช ระบุว่า ฟาซาล ซาเอด มีฐานกำลังและอิทธิพลสูงมากในเมืองบากัน โดยมีนักรบอยู่ในสังกัดระหว่าง 2,500 ถึง 3,000 คนทีเดียว อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายกองกำลังความมั่นคงของปากีสถานให้ตัวเลขไว้เพียง ระหว่าง 200 ถึง 500 คนเท่านั้น ทั้งนี้ บากัน เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ในเขตเอเยนซี คุร์รัม รองลงมาจาก เมืองปาราชินาร์ และ เมืองซัดดา (Sadda)

เมื่อเดือนเมษายน และเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมของปี 2007 เขตเอเยนซี คุร์รัม ได้เคยเกิดการปะทะระหว่างคนต่างนิกายศาสนาครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมา โดยที่มีผู้ถูกฆ่าตายไปหลายร้อยคน ถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างเมืองปาราชินาร์ กับ เมืองธอลล์ (Thall) ของเขตฮันกู (Hangu) ยังคงถูกปิดแม้เวลาผ่านพ้นไปราว 4 ปีแล้ว เวลานี้ชาวบ้านใน อัปเปอร์ คุร์รัม ถ้าหากต้องการไปที่เมืองเปชาวาร์ (Peshawa) หรือส่วนอื่นๆ ของประเทศ พวกเขาก็จะต้องเดินทางอ้อมผ่านดินแดนของอัฟกานิสถาน

เมื่อกลุ่มทีทีพี-อิสลามี แสดงความมุ่งมั่นที่จะสร้างความไม่สงบให้ลุกลามต่อไป ก็ดูเหมือนจะเป็นที่แน่นอนว่า เขตเอเยนซี คุร์รัม จะต้องจมปลักลงไปในความรุนแรงระหว่างนิกายศาสนาอีกระลอกหนึ่ง ถึงแม้เหล่าผู้อาวุโสชาวชนเผ่าทั้งที่เป็นฝ่ายสุหนี่และที่เป็นฝ่ายชิอะห์ พยายามที่จะฟื้นฟูสันติภาพขึ้นมาก็ตามที

มาลิก อายุบ ซุมบัล เป็นนักหนังสือพิมพ์แนวสืบสวนสอบสวนระดับอาวุโส ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงอิสลามาบัด เขาได้รับรางวัล Syracuse University Mirror Award ประจำปี 2012 ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ ayubsumbal@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น