xs
xsm
sm
md
lg

‘กลุ่มตอลิบานปากีสถาน’ เล็งยึดประเทศด้วย ‘โมเดลอัฟกัน’

เผยแพร่:   โดย: ตันเวียร์ จาฟรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pakistan Taliban eyes Afghan-style takeover
By Tanveer Jafri
13/02/2014

“กลุ่มตอลิบานปากีสถาน” หรือ “เตห์รีก-อี-ตอลิบาน ปากีสถาน” กำลังพยายามบ่อนทำลายศักยภาพความสามารถทั้งของทางรัฐบาลและทั้งของทางกองทัพ ในการพิทักษ์รักษาความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยวิธีเปิดการโจมตีในลักษณะการก่อการร้ายอย่างหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์เช่นนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า พวกเขาอาจปรารถนาที่จะลอกเลียนแบบ “กลุ่มตอลิบานอัฟกานิสถาน” ในตอนที่โค่นล้มระบอบปกครองโมฮัมหมัด นาจิบุลเลาะห์ เมื่อปี 1992 และจากการหลอกล่อให้ทางการปากีสถานเข้าสู่การเจรจาต่อรองกัน โดยที่โอกาสจะตกลงอะไรกันได้ดูมืดมนมากเนื่องจากการตั้งเงื่อนไขเอาไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีการนำเอากฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) มาใช้ ดังนั้น มันจึงเป็นเพียงการเปิดเวทีให้กลุ่มนี้ได้โอกาสที่จะนำเสนอตัวเอง ในฐานะที่เป็นหนทางแก้ไขหนทางหนึ่ง ของความปั่นป่วนวุ่นวายในปากีสถานเวลานี้เท่านั้น

ตลอดช่วงระยะเวลาราว 20 ปีหลังมานี้ ปากีสถานค่อยๆ กลายเป็นเป้าหมายของการก่อความรุนแรงของพวกผู้ก่อการร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีก่อการร้ายแบบมุ่งเพิ่มขยายความแตกแยกทางนิกายศาสนา ในขณะที่กองกำลังความมั่นคงของทางการ ไม่สามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่ามีความสามารถในการต่อสู้กับพวกผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้ได้อย่างทัดเทียมกัน ด้วยเหตุนี้เอง พวกเศรษฐีผู้มั่งคั่งและชนชั้นนำที่เป็นปัญญาชนจึงต่างกำลังหลบลี้ออกไปพำนักอาศัยในต่างประเทศกันเป็นแถวๆ

การก่อเหตุรุนแรงอย่างสุดโต่งที่แผ่ลามขยายตัวเช่นนี้ ได้สร้างเสียหายให้แก่ภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของปากีสถาน แล้วเรื่องก็ยังเลวร้ายลงไปอีกเมื่อกลุ่ม “ฮิวแมน ไรต์ วอตช์” (Human Rights Watch) เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่ากลุ่มก่อการร้ายหลายๆ กลุ่ม กำลังสามารถเปิดการปฏิบัติการจากท้องที่บางแห่งอย่างชนิดที่ไม่กลัวเกรงว่าจะถูกปราบปรามถูกจับกุมลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น

สถานการณ์ดูราวกับว่า รัฐบาลและฝ่ายทหารนั้น ถ้าหากไม่ได้ปิดตาทำเป็นไม่สนใจความเคลื่อนไหวต่างๆ ของผู้ก่อการร้ายแล้ว ก็จะต้องขาดไร้ศักยภาพความสามารถที่จะจัดการกับกลุ่มเหล่านี้ มีการแสดงความวิตกกังวลออกมาว่า อีกไม่ช้าไม่นานพวกผู้ก่อความไม่สงบน่าจะสามารถเข้ายึดครองนครการาจีเอาไว้ได้ ทำนองเดียวกับที่พวกกลุ่มติดอาวุธหลายๆ กลุ่มสามารถยึดเมืองใหญ่ๆ ในอิรักและซีเรียมาแล้ว

นายกรัฐมนตรีนาวาซ ชาริฟ (Nawaz Sharif) และผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ราฮีล ชาริฟ (Raheel Sharif) ต่างกำลังเผชิญกับภาระหน้าที่ซึ่งดูเหมือนลำบากยากเย็นจนเกินกว่าจะกระทำได้สำเร็จ โดยที่ทั้งจะต้องปลุกปลอบขวัญให้กำลังใจพวกเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคง เวลาเดียวกันก็ยังจะต้องเข้าสู้รบขัดขวางการแพร่ขยายของการก่อการร้ายไปด้วย

การฆาตกรรมและการลอบสังหารกำลังกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในตลอดทั่วทั้งประเทศปากีสถานไปแล้วในเวลานี้ และการที่กลุ่มหัวรุนแรงชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ อย่างเช่นกลุ่มเตห์รีก-อี-ตอลิบาน ปากีสถาน (Tehreek-e-Taliban Pakistan ใช้อักษรย่อว่า TPP และนิยมเรียกชื่อกันในภาษาอังกฤษว่า Pakistani Taliban กลุ่มตอลิบานปากีสถาน) กำลังก่อเหตุโจมตีอย่างเข้มข้นเพิ่มขึ้นมากในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่าแรงจูงใจสำคัญที่สุดของพวกเขา คือการก่อให้เกิดภาวะอนาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบขึ้นมา อย่างไรก็ดี มองกันในอีกแง่มุมหนึ่ง กองกำลังหัวรุนแรงเหล่านี้อาจจะยังกำลังมีแผนการที่จะลอกเลียนโมเดลที่กลุ่มตอลิบานอัฟกานิสถาน (Afghan Taliban) ใช้ในการโค่นล้มระบอบการปกครองของโมฮัมหมัด นาจิบุลเลาะห์ (Mohammad Najibulla) ในอัฟกานิสถานเมื่อปี 1992 ไปด้วยก็เป็นได้

หลักฐานของเรื่องนี้สามารถมองเห็นได้จากการที่เป้าหมายการโจมตีของพวกเขานั้น เน้นหนักไปที่พวกค่ายทหาร, จุดตรวจของฝ่ายความมั่นคง, และอาคารสถานที่ทางด้านกลาโหม ในเวลาเดียวกันนั้นพวกเขาก็มักทำการโจมตีชาวมุสลิมนิกายชิอะห์ ซึ่งส่งผลทำให้ความแตกแยกทางด้านนิกายศาสนายิ่งบาดลึกลงไปเรื่อยๆ

เพื่อให้สามารถก่อเหตุรุนแรงต่างๆ เหล่านี้ได้ พวกเขาจึงกำลังปลุกระดมรับสมัคร “มือระเบิดฆ่าตัวตาย” หรือที่เรียกกันว่า “ฟิดายีน” (fidayeen) เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างของเหตุร้ายเหล่านี้ก็ดังเช่น มีบุคลากรฝ่ายความมั่นคง 12 คนถูกสังหารในเหตุโจมตีหลายๆ เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 22 มกราคมวันเดียว โดยที่ก่อนหน้านั้นเพียง 2 วัน บุคลากรของกองทัพบกปากีสถานก็ต้องดับชีพไป 22 คนในเหตุโจมตีด้วยระเบิดต่อค่ายทหารชั่วคราว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตบันนู (Bannu) ของแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa province) ทั้งนี้ กลุ่ม TPP ได้ออกมาประกาศยืนยันเป็นผู้รับผิดชอบการโจมตีเหล่านี้แล้ว

ชาฮิดุลเลาะห์ ชาฮิด (Shahidullah Shahid) ซึ่งทำหน้าที่เป็นโฆษกผู้หนึ่งของกลุ่ม TPP กล่าวอ้างว่าเหตุระเบิดค่ายทหารชั่วคราวที่บันนู เป็นการโจมตีที่มุ่งแก้แค้นกรณีการสังหาร วาลี-อูร์-เระห์มาน (Wali-ur-Rehman) ผู้บัญชาการอาวุโสของกลุ่มตอลิบานปากีสถาน เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เขาบอกว่ากองทัพปากีสถานเป็นศัตรูของพวกเขา และพวกเขายังจะเปิดการโจมตีต่อไปอีก

ถึงแม้ภายหลังเกิดเหตุโจมตีเหล่านี้แล้ว ปากีสถานอ้างว่าพวกเขาได้เปิดการโจมตีต่อสถานที่หลบซ่อนแห่งต่างๆ ของพวกตอลิบาน และสังหารผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ไปได้อย่างน้อย 40 ชีวิต ทว่ารัฐบาลก็ยังคงไม่สามารถตัดสินใจให้ชัดเจนแน่นอนว่า จะเปิดการปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มขั้นในในบริเวณพื้นที่ชาวชนเผ่าริมชายแดนอัฟกานิสถาน ซึ่งกำลังถูกใช้เป็นที่พักพิงซุกซ่อนของพวก TTP หรือไม่

การรีรอเช่นนี้ทำให้ชาวปากีสถานบางคนบางฝ่ายรู้สึกท้อแท้ผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ บิลาวัล บุตโต (Bilawal Bhutto) บุตรชายของนางเบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) ผู้ล่วงลับ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอันสะท้อนความรู้สึกของชาวปากีสถานเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี โดยเขากล่าวว่ามีความจำเป็นอันเร่งด่วนที่จะต้องใช้การปฏิบัติการทหารมาโจมตีปราบปรามผู้ก่อการร้ายเหล่านี้

บิลาวัล กล่าวว่า จะต้องไม่ปล่อยให้พวกคนอย่าง อุซามะห์ บิน ลาดิน (Osama bin Laden) หรือผู้ก่อการร้ายคนอื่นๆ กลายเป็นโฉมหน้าระหว่างประเทศของปากีสถาน ตรงกันข้าม ปากีสถานจะต้องยืนยันจุดยืนในการต่อต้านปราบปรามพวกผู้ก่อความไม่สงบ และปลุกปลอบสร้างความหวังให้แก่ประชาชนอย่างน้อยที่สุดก็ในบางเรื่องบางระดับ

อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลนาวาซ ชาริฟ ก็ได้เดินหน้าไปอีกก้าวหนึ่งในการเปิดการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มตอลิบาน โดยที่ได้จัดตั้งคณะเจรจาขึ้นมาชุดหนึ่งจำนวน 4 คน ในจำนวนนี้เป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโส 2 คน คือ รอฮิมุลลาห์ ยูซุฟไซ (Rahimullah Yousufzai) กับ อิร์ฟาน ซิดดิกุย (Irfan Siddiqui) ส่วนอีก 2 คน ได้แก่ รุสตัม ชาห์ โมฮัมเหม็ด (Rustam Shah Mohammed) ที่เป็นอดีตนักการทูต และ พ.ต.อามีร์ ชาห์ (Aamir Shah) นายทหารปลดเกษียณที่เคยทำงานในกรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intellgence) ของปากีสถาน

คณะเจรจาชุดนี้จะเป็นผู้นำในการพูดคุยต่อรองกับฝ่ายตอลิบาน ซึ่งตอนแรกทีเดียวเคยกำหนดเริ่มต้นขึ้นตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อได้ผลลัพธ์อย่างไรก็จะยื่นเสนอรายงานต่อกระทรวงมหาดไทยของปากีสถานต่อไป[1] อย่างไรก็ตาม เห็นกันว่าสิ่งที่น่าจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญตั้งแต่แรกๆ เลยประการหนึ่ง ก็คือ การที่ TTP กำหนดเงื่อนไขล่วงหน้าออกมาว่า การที่จะให้เกิดสันติภาพขึ้นมาได้นั้น ปากีสถานจำเป็นที่จะต้องนำเอาหลักกฎหมายอิสลาม “ชาริอะห์” (sharia) มาบังคับใช้

“การนำเอากฎหมายชาริอะห์มาบังคับใช้ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล, กฎหมายประกาศกฎอัยการศึก, และประชาธิปไตย ต่างก็ล้มเหลวไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศชาติได้ทั้งสิ้น” มาวลานา ซามิ-อุล-ฮัก (Maulana Sami-ul-Haq) หัวหน้าคณะเจรจาจำนวน 3 คนซึ่ง TPP แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อเจรจาสันติภาพกับฝ่ายรัฐบาลแถลงย้ำ เขากล่าวต่อไปว่า “ตอลิบานนั้นกำลังสู้รบทำสงครามก็เพื่อให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ (ของปากีสถาน ที่มีการกำหนดเรื่องกฎหมายชาริอะห์) ซึ่งได้ถูกละเมิดโดยคณะผู้นำรัฐบาล”

จากการตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าเช่นนี้ ทำให้ยิ่งเป็นที่สงสัยข้องใจกันว่า ตอลิบานนั้นเอาจริงเอาจังต่อข้อเสนอการเจรจาสันติภาพของรัฐบาลชาริฟมากน้อยแค่ไหน ในเวลาเดียวกัน ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่า กองทัพปากีสถานจะยังคงทำตามคำสั่งของรัฐบาลต่อไปหรือไม่ ถ้าหากกองทัพยังคงต้องสูญเสียบุคลากรไปมากมายเช่นนี้จากการถูกกลุ่มตอลิบานโจมตีอยู่เรื่อยๆ

เหล่านายทหารและกองทัพจะยังคงวางตัวเหมือนกับผู้เฝ้ามองที่เป็นใบ้ในท่ามกลางสมรภูมิความรุนแรงเช่นนี้หรือ? รัฐบาลนาวาซ ชาริฟ หรือ พล.อ.รอฮีล ชาริฟ ทราบหรือไม่ว่าพวกหัวรุนแรงเหล่านี้ได้แทรกซึมเข้าไปในขบวนแถวของพวกเขาอย่างล้ำลึกกว้างขวางเพียงใดแล้ว?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารัฐบาลชาริฟรู้สึกว่าตนเองถูกตอลิบานคุกคาม นั่นน่าจะเป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไมชาริฟจึงเริ่มต้นเปิดการเจรจากับพวกก่อความไม่สงบเหล่านี้ มีรายงานด้วยว่าการที่เขาตัดสินใจแต่งตั้งคณะผู้เจรจา 4 คนเพื่อเดินหน้าการพูดจาหารือเหล่านี้ขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อสกัดกั้นทัดทานกระแสความท้อแท้หดหู่ที่กำลังลุกลามขยายตัวภายในกองทัพในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับการก่อการร้ายที่ใช้อยู่

ดูเหมือนว่ากองทัพปากีสถานไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะอดกลั้นอดทนต่อการสูญเสียบุคลากรและต่อการที่สถานที่ตั้งของฝ่ายทหารถูกโจมตีอย่างไม่หยุดหย่อนต่อไปอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม พวกผู้ก่อการร้ายนั้นไม่น่าที่จะให้ความเคารพอย่างเต็มที่ต่อจิตวิญญาณแห่งเจรจาหาทางออกด้วยการสนทนากัน ในเมื่อความป็นจริงพวกเขาได้เลือกเส้นทางแห่งการใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว

ในสภาวการณ์เช่นนี้ โอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารจึงกำลังเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่พวกเขาต้องการที่จะกระทำก็คือการเข้าโจมตีปราบปรามพวกตอลิบานอย่างใหญ่โต, ต่อเนื่อง, และเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นแล้ว มันคงไม่ต้องใช้เวลานานนักหรอก ก่อนที่ปากีสถานจะกลายเป็นอัฟกานิสถานไปอีกแห่งหนึ่ง

**หมายเหตุผู้แปล**
[1] นายกรัฐมนตรีนาวาซ ชาริฟ ประกาศเมื่อวันที่ 29 มกราคม ว่ารัฐบาลปากีสถานจะเปิดการเจรจากับกลุ่ม TPP “เพื่อให้โอกาสแก่สันติภาพอีกครั้งหนึ่ง” และคณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเปิดการหารือกันนัดแรกในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งของ TPP จากเขตโมห์มันด์ (Mohmand) ได้แถลงในคืนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ระบุว่าพวกเขาได้สังหารเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาชายแดนของปากีสถาน 23 คนซึ่งพวกเขาจับตัวไว้ตั้งแต่เมื่อเกือบ 4 ปีก่อน ไปทั้งหมดแล้ว ข่าวนี้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ทางการปากีสถานมาก และคณะผู้เจรจาฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศถอนตัวจากการพูดคุยทันที การเจรจาสันติภาพคราวนี้จึงอยู่ในอาการชะงักงันตั้งแต่ยังไม่ทันจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.skynews.com.au/world/article.aspx?id=950984)

ข้อเขียนนี้ปรากฏอยู่ในส่วน “Speaking Freely ” ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดทางให้เหล่านักเขียนรับเชิญสามารถแสดงความคิดเห็นของพวก ตน โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่ เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

ตันเวียร์ จาฟรี เป็นคอลัมนิสต์ที่ตั้งฐานอยู่ในอินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น