xs
xsm
sm
md
lg

‘ศาล’ปากีสถานให้‘กรมข่าวกรอง’เลิกสอดแนมนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: มาลิก อายุบ ซุมบัล

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pakistan’s courts take on the ISI
By Malik Ayub Sumbal
18/07/2012

การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างศาลยุติธรรมกับฝ่ายทหารของปากีสถาน กำลังเคลื่อนเข้าสู่ระยะใหม่ ด้วยการที่ฝ่ายตุลาการสั่งให้กรมประมวลข่าวกรองกลาง (ไอเอสไอ) ยุบหน่วยงานระดับกองของตน ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าติดตามนักการเมืองตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขา แต่เนื่องจากคำสั่งนี้พุ่งเป้าเล่นงานช่องทางสำคัญที่สุดสำหรับการที่ไอเอสเอจะเข้าถึงแวดวงแห่งอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานแห่งนี้เสพติดคุ้นเคยมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 แล้ว จึงไม่น่าที่ไอเอสเอซึ่งอยู่ใต้การควบคุมอย่างแน่นหนาของฝ่ายทหาร จะยินยอมปฏิบัติตาม

ศาลสูงสุดของปากีสถาน มีคำสั่งให้กรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence ใช้อักษรย่อว่า ISI) อันเป็นองค์การสืบราชการลับที่ทรงอำนาจอิทธิพลอย่างยิ่งของประเทศ ยุบเลิกหน่วยงานฉาวโฉ่ของตนซึ่งทำหน้าที่คอยเฝ้าติดตามจับตาการเมืองภายในประเทศ คำตัดสินคราวนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการบังคับกันตรงๆ ให้ไอเอสไอต้องลิดรอนความสามารถในการปฏิบัติการที่ทำให้ตนเองกลายเป็น “รัฐภายในรัฐ”

คำพิพากษาของศาลสูงสุดของปากีสถานคราวนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะกดดันให้หน่วยงานแห่งนี้ต้องแสดงความรับผิดชอบยอมรับการตรวจสอบจากนายกรัฐมนตรีของประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ศาลประกาศในคำตัดสินว่า หน่วยงานสอดแนมทางการเมืองของไอเอสไอแห่งนี้ “void ab initio” (ภาษาลาตินที่ใช้เป็นภาษากฎหมาย แปลว่า เป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก)

การตัดสินครั้งนี้เป็นผลของการพิจารณาคำร้องที่มีชื่อเรียกขานกันว่า คำร้อง “อัสการ์ ข่าน” ("Asghar Khan" petition) ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญประการหนึ่งก็คือ การกล่าวหาหน่วยงานระดับกองของไอเอสไอแห่งนี้ว่า มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงกับความพยายามที่จะชักใยควบคุมผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 1990 เอกสารคำร้องฉบับนี้ระบุว่า พล.อ.มีร์ซา อัสลัม เบ็ก (Mirza Aslam Beg) ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น และ พล.ท.อาซัด ดูร์รานี (Asad Durrani) อธิบดีกรมประมวลข่าวกรองกลางในตอนนั้น ได้แจกจ่ายเงินทุนต่างๆ ให้แก่พวกนักการเมืองในระหว่างการเลือกตั้งปี 1990 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะป้องกันไม่ให้พรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan People's Party หรือ PPP) ขึ้นครองอำนาจ

ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ถึงแม้ศาลสูงสุดออกคำสั่งครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กระทรวงกลาโหมก็ไม่เคยนำเอาเอกสารกฤษฎีจัดตั้งกองการเมืองของไอเอสไอ ที่อ้างกันว่าออกมาเมื่อราว 39 ปีที่แล้ว มาแสดงต่อศาลเลย

“ถ้าหากไม่มีเอกสารกฤษฎีกาเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานนี้เลย ถ้าเช่นนั้นกองการเมืองของกรมนี้จะทำงานได้อย่างไร” จาววัด เอส คาวาจา (Jawwad S Khawaja) ผู้พิพากษาของศาลสูงสุดในคดีนี้ ตั้งคำถามเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

น.ท.ชาห์บาซ (Shahbaz) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกระทรวงกลาโหม ให้การในศาลว่า ทางกระทรวงไม่มีสำเนาเอกสารกฤษฎีกาฉบับนี้เลย เขาพยายามพูดอ้างอิงว่า พล.ท.อาซัด ดูร์รานี อดีตอธิบดีกรมไอเอสไอ “เคยบอกว่าเพื่อนของท่านคนหนึ่งเคยนำเอาสำเนาของเอกสารกฤษฎีกาฉบับนี้มาให้ท่านดู”

คำตัดสินที่สั่งยุบกองการเมืองของกรมประมวลข่าวกรองกลางคราวนี้ นับเป็นการท้าทายจากฝ่ายตุลาการระลอกล่าสุดต่อไอเอสไอ โดยที่หน่วยงานแห่งนี้ตลอดจนหน่วยงานของฝ่ายทหาร ถูกพิพากษาตัดสินให้เป็นฝ่ายแพ้ หรือถูกผู้พิพากษาตำหนิ มาหลายคดีแล้ว นับตั้งแต่ที่มีการฟื้นฟูอำนาจฝ่ายตุลาการของปากีสถานในปี 2008 เป็นต้นมา หลังจากที่มีผู้พิพากษาถึง 60 คนถูก ประธานาธิบดี เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ (Pervez Musharraf) ในตอนนั้น สั่งไล่ออกเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้น

เป็นต้นว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ศาลสูงสุดได้กล่าวตำหนิอธิบดีไอเอสไอ และเจ้ากรมการข่าวกรองทหาร (Military Intelligence หรือ MI) จากการที่มีพลเรือน 4 คนถูกสังหารในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของหน่วยงานทั้งสอง นอกจากนั้นศาลยังสั่งให้หน่วยงานทั้งสองต้องส่งฟ้องหรือไม่ก็ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยที่เหลืออยู่อีก 7 คนในทันที ทั้งนี้ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้กำลังถูกสอบปากคำเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทในพฤติการณ์ก่อการร้ายหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์โจมตีแบบฆ่าตัวตายต่อกองบัญชาการใหญ่ของกองทัพบก ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองราวัลปินดี ที่เป็นศูนย์กลางของฝ่ายทหาร เมื่อปี 2009

หรือเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะผู้พิพากษาของศาลสูงสุด ก็ได้กล่าวหาในระหว่างการพิจารณาคดีว่า กองกำลังรักษาชายแดน (Frontier Corps) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหาร มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับการหายตัวของบุคคลซึ่งสาบสูญไปในดินแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่ไร้ความสงบของปากีสถาน ถึงประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมดทีเดียว

ภาพลักษณ์ในทางระหว่างประเทศของไอเอสไอก็ได้ตกต่ำลงไปมากในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มตอลิบานอัฟกานิสถาน อีกทั้งหน่วยงานนี้รู้มานานแล้วว่า อุซามะห์ บิน ลาดิน กำลังหลบซ่อนตัวอยู่ในปากีสถาน ก่อนที่สหรัฐฯจะพิสูจน์ทราบและส่งหน่วยรบพิเศษของกองทัพเรือออกปฏิบัติการสังหารผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ผู้นี้ที่บ้านพักในเมืองอับบอตตาบัด ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2011

ไอเอสไอกำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้นทุกทีว่าทำงานกันอย่างไร โดยที่หน่วยงานนี้ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นรายวัน ทั้งจากนักหนังสือพิมพ์, องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, ตลอดจนพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เกี่ยวกับการปฏิบัติการแบบมีเงื่อนงำไร้ความโปร่งใส

ทั้งนี้ ไอเอสไอมีฐานะเป็นองค์การด้านข่าวกรองสูงสุดของปากีสถาน และจากอำนาจอิทธิพลของหน่วยงานนี้ ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศบางคนพูดถึงกรมนี้ว่าเป็น “รัฐภายในรัฐ” กรมประมวลข่าวกรองกลางนี้จัดตั้งขึ้นมาไม่นานนักหลังจากปากีสถานได้รับเอกราชในปี 1947 ในช่วงต้นๆ ภายหลังการสถาปนาประเทศ ปากีสถานมีหน่วยงานด้านข่าวกรอง 2 องค์การหลัก ได้แก่ กรมการข่าวกรอง (Intelligence Bureau ใช้อักษรย่อว่า IB) และกรมการข่าวกรองทหารทหาร (MI) แต่เนื่องจากผลงานอันย่ำแย่ของ เอ็มไอ ในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนข่าวกรองกันระหว่างกองทัพบก, กองทัพเรือ, และกองทัพอากาศ ในช่วงที่เกิดสงครามอินเดีย-ปากีสถานปี 1947 จึงนำไปสู่การก่อตั้งกรมประมวลข่าวกรองกลางขึ้นมาในปี 1948

ช่วงปลายทศวรรษ 1950 ประธานาธิบดีอายุบ ข่าน (Ayub Khan) ในเวลานั้น ได้มอบหมายภารกิจให้ ไอเอสไอ และ เอ็มไอ ทำหน้าที่เฝ้าติดตามกิจกรรมความเคลื่อนไหวของพวกนักการเมือง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะยืดอายุการปกครองแบบเผด็จการทหารของเขาออกไปให้ได้นานที่สุด

ไอเอสไอต้องปรับองค์กรครั้งใหญ่ในปี 1966 ภายหลังมีความบกพร่องล้มเหลวทางด้านข่าวกรองหลายครั้งในช่วงสงครามอินเดีย-ปากีสถานปี 1965 แล้วยังมีการปฏิรูปอีกครั้งในปี 1969 อายุบ ข่าน ให้ความไว้วางใจแก่ไอเอสไอในการเป็นผู้รับผิดชอบงานรวบรวมข่าวกรองทางการเมืองภายในที่ปากีสถานตะวันออก (ปากีสถานตะวันออกแยกตัวเป็นประเทศเอกราชในปี 1971 ซึ่งก็คือ บังกลาเทศ ในปัจจุบัน) ในเวลาต่อมา ระหว่างเกิดการกบฏของพวกชาตินิยมชาวบาโลช(Baloch) ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ไอเอสไอได้รับมอบภารกิจให้ดำเนินปฏิบัติการรวบรวมข่าวกรองภายในทำนองเดียวกันอีก

หน่วยงานนี้ยังมีการปฏิบัติการร่วมกับหน่วยข่าวกรองจำนวนมากในทั่วโลก โดยเป็นไปตามข้อตกลงและสัญญาที่ทำกันไว้ในเรื่องการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือกับสำนักข่าวข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ของสหรัฐฯ ใน “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย”

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า คำสั่งของศาลสูงสุดคราวนี้จะมีผลกระทบแค่ไหนต่อเครือข่ายเฝ้าติดตามอันใหญ่โตมหึมาของไอเอสไอ ซึ่งมีทั้งหน่วยดักฟังโทรศัพท์, หน่วยเฝ้าติดตามอินเทอร์เน็ตและหนังสือพิมพ์ อย่างไรก็ดี เป็นที่แน่นอนทีเดียวว่ากองทัพปากีสถานและไอเอสไอ จะไม่มีทางน้อมรับการถูกสั่งให้ตัดช่องทางสำคัญที่สุดในการเข้าถึงแวดวงแห่งอำนาจเช่นนี้ กิจกรรมของไอเอสไอนั้นแผ่กระจายครอบคลุมวงการเมืองของประเทศอย่างกว้างไกลเกินไปเสียแล้ว

มาลิก อายุบ ซุมบัล เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระที่ทำงานข่าวเชิงสืบสวน โดยมีฐานอยู่ในกรุงอิสลามาบัด, ปากีสถาน เขาเคยทำงานมากว่า 9 ปีให้แก่หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, สำนักข่าว, และโทรทัศน์ช่องต่างๆ ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ ayubsumbal@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น