เอเอฟพี - เปาลู กูเอลญู (Paulo Coelho) นักเขียนชื่อดังชาวบราซิล เสนอเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ “ดิ อินเทอร์วิว” จาก โซนี่ พิคเจอร์ส วานนี้ (18) หลังสตูดิโอชื่อดังแห่งฮอลลีวูดตัดสินใจไม่นำภาพยนตร์ล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือออกฉายเพราะกลัวคำขู่ของแฮกเกอร์
โซนี่ พิคเจอร์ส ยกเลิกการปล่อยภาพยนตร์เข้าฉายในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ หลังเครือโรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ และแคนาดาปฏิเสธที่จะฉายหนังเกี่ยวกับผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ 2 คนที่ถูกฝึกให้เข้าไปลอบสังหารผู้นำ คิม จองอึน แห่งรัฐโสมแดง
เหตุที่หลายฝ่ายไม่อยากจะข้องเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เพราะกลุ่ม การ์เดียนส์ ออฟ พีซ (จีโอพี) ซึ่งอ้างความรับผิดชอบในเหตุโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของโซนี่ พิคเจอร์ส เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ประกาศเตือนคอหนังทั้งหลายไม่ให้ไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยนำเหตุวินาศกรรมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ขึ้นมาขู่
อย่างไรก็ตาม การที่โซนี่ยอมโอนอ่อนตามคำขู่ของพวกอาชญากรไซเบอร์ก็ทำให้นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพด้านการแสดงออกและนักนโยบายต่างประเทศออกมาติเตียน
“ผมขอเสนอเงินให้ @SonyPictures 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ ดิ อินเทอร์วิว ผมจะอัปโหลดหนังเรื่องนี้ให้คนเข้ามาดูฟรีๆ ในบล็อกของผม กรุณาติดต่อผมได้ทาง @SonyPicturesBr” กูเอลญู เขียนในบัญชีทวิตเตอร์ของเขา
ต่อมาเขาได้ทวีตเพิ่มเติมว่า “ข้อเสนอต่อ @SonyPictures จะมีผลถึงวันศุกร์ เวลา 12.00 น. คุณเองก็จะได้ต้นทุนคืน 0.01% ส่วนผมก็ได้เซย์โนกับคำขู่ของพวกก่อการร้าย”
ผู้แต่งนวนิยายเรื่อง The Alchemist ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อเรื่องว่า “ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน” ยังให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ โอ โกลโบ ของบราซิลว่า การเลิกนำภาพยนตร์เข้าฉาย “จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อไป”
“ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับว่าคำขู่ของคนพวกนั้นได้ผล เป็นชัยชนะของผู้ก่อการร้าย” กูเอลญูกล่าว โดยเปรียบเทียบกับกรณีนวนิยาย The Satanic Verses ของ ซัลมาน รุชดี ที่ถูกชาวมุสลิมเผาทำลายและกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศมุสลิม แต่เขาชี้ว่ากรณีของหนัง ดิ อินเทอร์วิว “ร้ายแรงยิ่งกว่า”
นอกจากข่มขู่คนดูหนังแล้ว แฮกเกอร์ยังได้นำอีเมลส่วนตัว สคริปต์ เงินเดือน และประวัติสุขภาพของพนักงานโซนี่ พิคเจอร์สออกมาเผยแพร่ด้วย
รัฐบาลเกาหลีเหนืออ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการโจมตีทางไซเบอร์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าอาจเป็นฝีมือพนักงานโซนี่ที่ไม่พอใจบริษัท หรือไม่ก็ผู้สนับสนุนรัฐบาลต่างชาติ