เอเอฟพี - ประธานหน่วยงานอุตสาหกรรมยานยนต์ของแดนอาทิตย์อุทัยระบุวันนี้ (18 ธ.ค.) ว่า บรรดากิจการผู้ผลิตรถยนต์กำลังครุ่นคิดว่า ควรกำหนดให้ถุงลมนิรภัยมี “วันหมดอายุ” หรือไม่ ภายหลังที่มีการประกาศเรียกคืนรถยนต์หลายล้านคันทั่วโลก เนื่องจากตรวจพบปัญหาในอะไหล่ส่วนดังกล่าว
ฟูมิฮิโกะ อิเกะ ประธานสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น ระบุในการแถลงข่าวว่า “ผมคิดว่า อาจเกิดการโต้เถียงกันในประเด็นที่ว่า ควรหรือไม่ที่จะต้องมีการเปลี่ยน (ถุงลมนิรภัย) ใหม่ หลังอันเก่าผ่านการใช้งานมานานหลายปี”
อิเกะ ซึ่งเป็นประธานกิจการผู้ผลิตยานยนต์ยักษ์ใหญ่ฮอนด้ามอเตอร์ ระบุว่า “เราได้เริ่มต้นหารือกันอย่างไม่เป็นทางการแล้ว”
กิจการยนตกรรมยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น ฮอนด้า โตโยต้า และเจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ได้ประกาศเรียกคืนยานพาหนะหลายล้านคันทั่วโลก สืบเนื่องจากถุงลมนิรภัยที่ติดตั้งภายในรถยนต์เหล่านี้ อาจบรรจุพลังงานที่เป็นตัวจุดระเบิดให้ถุงลมนิรภัยกาง ในปริมาณมากเกินไป ส่งผลให้เศษโลหะภายในระบบสูบลมปลิวกระจายใส่ผู้ขับขี่จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ในช่วงที่เกิดกระแสความกังวลว่า กิจการอะไหล่ยนต์ “ทากาตะ” ของแดนอาทิตย์อุทัยจะยังไม่ทราบต้นตอของปัญหา ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่า ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นกับถุงลมนิรภัยนั้นอาจเป็นผลมาจากความเสื่อมสภาพ มากกว่าที่จะเป็นความผิดพลาดในกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ มีรายงานว่า การเสียชีวิตของผู้ขับขี่อย่างน้อย 5 รายในสหรัฐฯ และมาเลเซีย มีส่วนเกี่ยวพันกับความบกพร่องของถุงลมนิรภัยในรถยนต์ นอกจากนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหนึ่งรายในจำนวนนี้ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า อาจถูกฆาตกรรม เนื่องจากสภาพศพเต็มไปด้วยบาดแผลสยดสยอง ซึงเกิดจากเศษโลหะปลิวกระจายออกมาจากระบบสูบลม
ฮอนด้า คือลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของทากาตะ และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นที่ถือครองหุ้นกำไรโตของทากาตะไว้ 1.2 เปอร์เซ็นต์จนกระทั่งถึงวันที่ 30 กันยายน