เอเอฟพี – ชาวทิเบตรายหนึ่งเสียชีวิตลงหลังจากจุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงการปกครองภูมิภาคหิมาลัยแห่งนี้ของจีน ซึ่งนับเป็นการเผาตัวตายเพื่อประท้วงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน กลุ่มสิทธิและสื่อต่างแดนระบุวันนี้ (17)
ซังเย คาร์ จุดไฟเผาตัวเองนอกสถานีตำรวจแห่งหนึ่งของเทศมณฑลเซี่ยเหอในมณฑลกานซูทางภาคตะวันตกของจีน โครงการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อชนชาติทิเบต (International Campaign for Tibet หรือ ICT) ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และกลุ่มวิทยุปลดปล่อยเอเชีย (Radio Free Asia- RFA) ซึ่งได้รับทุนจากสหรัฐฯ ระบุ
ชายวัย 33 ปีรายนี้จุดไฟเผาตัวเองในย่านอามูชูเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (16) และเสียชีวิต “ขณะประท้วงต่อต้านนโยบายจีนในพื้นที่ต่างๆ ของทิเบต” RFA ระบุ โดยอ้างจากแหล่งข่าวท้องถิ่นซึ่งไม่เผยนาม
การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่มีรายงานว่าทางการได้ยกระดับการปราบปรามเพื่อความมั่นคง ขณะที่ชาวทิเบตหลายคนมารวมตัวกันเนื่องในวันเทศกาลทางศาสนาที่สำคัญฯ
วันเทศกาลเมื่อวานนี้ (16) เป็นวันครอบรอบการมรภาพของท่าน สองขะปะ ผู้ก่อตั้งนิกายเกลุกปะหรือนิกายหมวกเหลืองของพุทธศาสนาในทิเบตในศตวรรษที่ 15
ทางการได้ “ยกระดับความมั่นคงในย่านอัมช็อกและควบคุมการสื่อสาร รวมถึงอินเตอร์เน็ต” ภายหลังเกิดเหตุเผาตัวตายประท้วงดังกล่าว RFA ระบุโดยเรียกพื้นที่ดังกล่าวด้วยชื่อทิเบต ในขณะเดียวกัน ICT กล่าวเสริมว่า “สถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวกำลังตึงเครียด” โดยเมื่อเอเอฟพีติดต่อไปยังตำรวจและหน่วยงานปกครองท้องถิ่นในเซี่ยเหอก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ
นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา มีการประท้วงลักษณะนี้ในทิเบตและที่อื่นๆ มากกว่า 130 ครั้ง ซึ่งส่วนมากผู้พลีชีพเหล่านี้จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ICT และ RFA ระบุ
การเผาตัวตายประท้วงเคยเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงก่อนการประชุมใหญ่ที่มีปีละ 5 ครั้งของพรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์ในเดือนพฤศจิกายน 2012 และได้ลดน้อยลงมาในช่วงไม่กี่เดือนมานี้
การเผาตัวตายครั้งล่าสุดก็เกิดขึ้นนอกสถานีตำรวจในพื้นที่ชาวทิเบตแห่งหนึ่งของมณฑลกานซู โดยรายงานระบุว่า เมื่อเดือนกันยายน ลาโม ทาชี นักศึกษารายหนึ่งเสียชีวิตลงหลังจากจุดไฟเผาตัวเองที่หน้าสถานีตำรวจในเทศมณฑลเหอโจว ขณะที่มีการายงานเหตุเผาตัวตายก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนสิงหาคม
ชาวทิเบตจำนวนมากในแดนมังกรกล่าวหารัฐบาลว่า กดขี่ข่มเหงทางศาสนาและทำให้วัฒนธรรมของพวกเขาเสื่อมโทรม ขณะที่ชาวฮั่นซึ่งเป็นชนหมู่มากของประเทศนี้ย้ายถิ่นฐานเข้ามายังพื้นที่ต่างของทิเบตมากขึ้นเรื่อยๆ
ปักกิ่งประณามการกระทำดังกล่าวและโทษว่าเป็นความผิดขององค์ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตที่ถูกเนรเทศ โดยระบุว่า ท่านใช้พวกเขาเพื่อกระพือประเด็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดน
องค์ทะไล ลามะ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งอาศัยในอินเดียมาตั้งแต่ปี 1959 ภายหลังการลุกฮือที่ไม่เป็นผลสำเร็จในทิเบต ได้อธิบายว่าการเผาตัวตายเช่นนี้เป็นการกระทำเพราะความสิ้นหวังซึ่งท่านไม่มีอำนาจพอที่จะหยุดยั้งได้