เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - หลังจากเหตุการณ์บุกเดี่ยวยึด “ลินดต์” คาเฟ่ช็อกโกแลตในซิดนีย์จบลงพร้อมกับการเสียชีวิตของตัวประกันจำนวน 2 คน และรวมไปถึงมือปืนชาวอิหร่าน มัน ฮารอน โมนิส วัย 50 ปี ผู้ก่อเหตุอีก 1 คน จนเป็นที่ตั้งคำถามถึงสมรรถภาพหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งล่าสุดพบ อิหร่านเคยเตือนหน่วยงานข่าวกรองและความมั่นคงออสเตรเลียให้จับตาชายผู้นี้ ซึ่งมีประวัติโชกโชนในอาชญากรรมตั้งแต่มีส่วนในการสังหารอดีตภรรยา ข้อหาละเมิดทางเพศ และอ้างว่าเคยทำงานให้กับหน่วยข่าวกรองอิหร่าน ก่อนที่จะลี้ภัยทางการเมืองในออสเตรเลียในปี 1996
หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ส รายงานเมื่อวานนี้(15) ถึงรายละเอียดเพิ่มเติมของคนร้ายชาวอิหร่านบุกเดี่ยวยึด “ลินดต์” คาเฟ่ช็อกโกแลต ในมาร์ติน เพลส ซิดนีย์ เป็นเวลา 16 ชม. ก่อนจะจบลงด้วยการถูกวิสามัญโดยตำรวจคอมมานโดออสเตรเลีย
ทำให้มีการตั้งคำถามถึงความสามารถของรัฐบาลออสเตรเลียในการรับมือการก่อการร้ายที่นับว้นจะแฝงมาในรูปปฎิบัติการเดี่ยว เช่น มัน ฮารอน โมนิส วัย 50 ปี ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับมือปืนกราดยิงชาวควิเบก ไมเคิล ซีฮาฟ-บิบู วัย 32 ปี บุกเดี่ยวกราดยิงรัฐสภาแคนาดาในปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และในนิวยอร์กในช่วงเวลาเดียวกันที่มีชายใช้ขวานไล่ทำร้ายตำรวจ ทำให้มีการเกรงว่า จะมีรูปแบบการโจมตีประเภทนี้เพิ่มขึ้นโดยอาศัยฝีมือพลเมืองในประเทศนั้นเริ่มลงมือจากภายใน ประกอบกับกลุ่มก่อการร้ายได้เผยแพร่ข้อมูลชวนเชื่อทางอินเตอร์เนตสอนถึงวิธีการที่จะให้พลเมืองมุสลิมหรือผู้อาศัยในประเทศตะวันตกเหล่านั้นลงมือก่อการร้ายภายในประเทศที่ตนอาศัยอยู่โดยไม่ต้องเสี่ยงภัยเดินทางออกนอกประเทศไปยังซีเรียหรืออิรักอีกต่อไป
ซึ่งล่าสุดหลังจากเกิดเหตุ สื่อสหรัฐฯชี้ว่า มือปืนชาวอิหร่านนี้ไม่ถูกหน่วยงานความมั่นคงออสเตรเลีย “จับตา” เพราะเขาไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ และทำให้เกิดช่องโหว่ขึ้น เพราะตามทั่วไปแล้วหน่วยงานความมั่นคงจะจับตากลุ่มคนที่มีความเคลื่อนไหวติดต่อกับกลุ่มมุสลิมติดอาวุธในต่างแดน ซึ่งหลังเกิดเหตุบุกคาเฟ่ลินดต์ ทำให้คาดการณ์ว่าจะต้องมีการปรับกระบวนท่ารับมือใหม่
“ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะสามารถจับตาความเคลื่อนไหวใครคนหนึ่งตลอดเวลา 24 ชม. นอกเสียจากว่า คนผู้นี้เป็นผู้ต้องสงสัย” เกร็ก บาร์ตัน (Greg Barton) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยก่อการร้ายโลกประจำมหาวิทยาลัยโมนาชให้ความเห็น
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคีซาร์ ทราด (Keysar Trad) โฆษกกลุ่ม Islamic Friendship Association of Australia ที่เปิดเผยว่า “หากโมนิสร่วมกับกล่มก่อการร้ายระดับข้ามชาติ คงเป็นการง่ายสำหรับตำรวจออสเตรเลียที่จะจับตามองเขา แต่จากความจริงที่ว่าโมนิสลงมือตามลำพัง”
ทั้งนี้ในรายงานเปิดเผยว่า โมนิส วัย 50 ปี เป็นที่รู้จักในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจออสเตรเลียและบรรดาผู้นำองค์กรมุสลิมต่างๆในออสเตรเลีย จากสาเหตุที่เขามีคดีความยาวเป็นหางว่าว รวมถึงคดีที่ยังคงคาศาลในขณะนี้ ซึ่งพบว่าชายชาวอิหร่านผู้นี้มีประวัติเกี่ยวพันกับการสังหารอดีตภรรยาของตนเอง รวมไปถึงคดีล่วงละเมิดอีกมากมาย
ด้านแมนนี คอนดิตซิส (Manny Conditsis ) อดีตทนายความของโมนิสเปิดเผยว่า อดีตลูกความของเขาไม่เป็นที่ยอมรับของใคร และจากประวัติพบว่า โมนิสเคยเป็นนักการศาสนาชีอะห์ในอิหร่านก่อนที่จะขอลี้ภัยทางการเมืองในออสเตรเลียสำเร็จในช่วงปี 1996 และหลังจากนั้นชายผู้นี้เปลี่ยนนิกายมานับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่แทน
และทราด โฆษกองค์การมุสลิมที่มีฐานในซิดนีย์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เขารู้จักโมนิสและพบปะหลายครั้ง ทั้งนี้ชายผู้นี้อยู่ในความสนใจของบรรดาผู้นำองค์กรชุมชนมุสลิมออสเตรเลียและเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้ง
ซึ่งจากประวัติพบว่า โมนิสได้เคยส่งจดหมายตำหนิไปยังครอบครัวของเจ้าหน้าที่ทหารออสเตรเลียที่เสียชีวิตในการทำหน้าที่ในอัฟกานิสถาน และเป็นผลทำให้ชายชาวอิหร่านผู้นี้ถูกศาลออสเตรเลียสั่งให้ทำงานรับใช้ชุมชน
และในเดือนพฤศจิกายนปี 2013 โมนิสถูกตั้งข้อหารู้เห็นเป็นใจในเหตุฆาตกรรมอดีตภรรยา โนลีน เฮย์สัน พาล ( Noleen Hayson Pal) ที่โดนแทงก่อนที่จะเสียชีวิตจากการถูกเผา ในคดีที่มีผู้กระทำผิดคือ Amirzh Droudis หญิงวัย 34 ปี ส่วนโมนิสได้รับการประกันตัวชั่วคราว และอยู่ระหว่างรอการไต่สวนในคดีนี้
ซึ่งอดีตทนายของโมนิสให้ความเห็นถึงเหตุจูงใจในการลงมือว่า “เขาไม่มีอะไรจะเสีย บางทีโมนิสอาจได้รับแรงจูงใจจากในสิ่งที่เขาเห็น จากการที่ชีวิตของเขาอาจต้องจบลงที่การถูกจำคุก” คอนดิตซิสกล่าว
และพบว่าในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โมนิสถูกตั้งข้อหาล่วงละเมิดทางเพศหญิงคนหนึ่งจากเหตุที่เกิดขึ้นในซิดนีย์ตะวันตกในปี 2002 และหลังจากคดีนั้นเกิดขึ้นพบว่า มีอีกมากกว่า 40 กระทงตามมาในข้อหากล่าวหาเดียวกันในความผิดล่วงละเมิดหญิงอื่นอีก 6 คน
และนิวยอร์กไทม์สยังรายงานเพิ่มเติมว่า ดูเหมือนโมนิสได้รับผลกระทบจากการที่เขาไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวที่อิหร่านได้ และรวมไปถึงความทรมานที่เขาอ้างว่าได้รับจากผู้คุมในระหว่างที่ถูกคุมตัวในเรือนจำ
นอกจากนี้ยังพบว่า ก่อนที่โมนิสจะอพยพมายังอิหร่านในปี 1996 โมนิสเป็นที่รู้จักในนาม “Manteghi Boroujerdi “ หรือ “Mohammad Hassan Manteghi” และในการให้สัมภาษณ์ออกสื่อในปี 2001 โมนิสอ้างตัวว่า “เคยทำงานให้กับหน่วยงานข่าวกรองอิหร่าน”
และ Iranwire สื่ออนไลน์อิหร่าน รายงานว่า โมนิสเคยตีพิมพ์หนังสือบทกวีในอิหร่าน นอกจากนี้ Fars กระบอกเสียงรัฐบาลอิหร่านทางออนไลน์รายงานคำแถลงของ มาซิเยห์ อัฟคาม (Marziyeh Afkham) โฆษกระทรวงต่างประเทศอิหร่านว่า ทางอิหร่านได้เคยเตือนรัฐบาลออสเตรเลียถึง "มัน ฮารอน โมนิส”
"อิหร่านได้เตือนหน่วยงานออสเตรเลียหลายครั้งให้เฝ้าจับตาชายผู้นี้ที่ได้ขอสถานภาพลี้ภัยทางการเมืองยาวนานกว่า 20 ปีเนื่องมาจากประวัติตลอดจนปัญหาทางสุขภาพจิตของเขา” อัฟคามกล่าว