เอเอฟพี - ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) วานนี้ (9 ธ.ค.) ระบุว่า หลายประเทศต่างเต็มใจอ้าแขนรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัวเป็น 100,000 คน
ภายหลังเข้าร่วมประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง ณ นครเจนีวา อันโตนิโอ กูเตร์เรส ประธานองค์การชำนาญการพิเศษด้านผู้ลี้ภัยของยูเอ็นแห่งนี้ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าว ว่า “เราประมาณการว่าจะ (มี) ผู้ลี้ภัยได้รับโอกาสในการตั้งถิ่นฐาน และเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากกว่า 100,000 คน”
เขากล่าวว่า 28 ประเทศได้ร่วมแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวซีเรียหลายล้านคนที่ลี้ภัยจากบ้านเกิดเมืองนอนอันบอบช้ำจากสงคราม รวมทั้งแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาติเพื่อนบ้านของซีเรียอย่างเลบานอน ตุรกี อิรัก และอียิปต์ที่เริ่มอ่อนเพลียกับคลื่นผู้ลี้ภัยที่ถาโถมเข้าสู่ประเทศ
กูเตร์เรส กล่าวกับบรรดาผู้แทนจากชาติต่างๆ ว่า “โลกของเราเป็นหนี้บุญคุณประเทศเพื่อนบ้าน (ของซีเรีย) ที่เราอาจไม่มีทางชดใช้ได้หมด หรือแสดงความขอบคุณได้เต็มที่” พร้อมกันนี้เขาได้กระตุ้นให้ทั้ง 28 ชาติทุ่มเทความพยายามช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประเทศใดสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร แต่กูเตร์เรสสรรเสริญบทบาทของเยอรมนี สวีเดน และสหรัฐฯ ที่ดำเนินโครงการเปิดรับการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย
ขณะที่ชาติต่างๆ ให้คำมั่นก่อนประชุมวานนี้ (9) ว่าจะจัดตั้งนิคมผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัวจากเดิมราว 400 จุด แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะรองรับเป้าหมายและจำนวนผู้ลี้ภัยของ UNHCR ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าจำเป็น
นอกจากนี้ UNHCR ได้เรียกร้องให้ภายในปี 2016 ชาติต่างๆ ช่วยกันอ้าแขนรับชาวซีเรียผู้มีสถานะผู้ลี้ภัยถูกต้องราว 130,000 คน จากทั้งหมดกว่า 3.2 ล้านคน ที่หลั่งไหลเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านของซีเรียนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2011
ในเวลาเดียวกัน เมื่อวันจันทร์ (8) องค์การด้านมนุษยธรรมกว่า 30 แห่งได้วิงวอนให้ประเทศต่างๆ รับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียราว 180,000 คนจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่กูเตร์เรสระบุว่า ผู้ลี้ภัยร้อยละ 10 หรือราว 300,000 คนกำลังต้องการที่ตั้งถิ่นฐาน
เขาสำทับว่า การให้คำมั่นวานนี้ (9) “ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกระบวนการ (แต่) เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการ”
*** ชะตากรรมอันเลวร้าย ***
เหล่าประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของซีเรียกล่าวเตือนในที่ประชุมว่า คลื่นผู้ลี้ภัยกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โครงสร้างทางสังคมของพวกเขา
ราชิด เดอร์บาส รัฐมนตรีสังคมเลบานอนชี้ว่า มีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในดินแดนเล็กๆ แห่งนี้มากถึง 1.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรเลบานอน
ทางด้าน ฮุสเซน ฮัซซา อัลมาจาลี รัฐมนตรีมหาดไทยจอร์แดนเตือนว่า ผู้ลี้ภัยราว 630,000 คนในประเทศของเขา “กำลังใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเรา”
เขากล่าวในที่ประชุมว่า “หากจอร์แดนไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติ เราก็จะแบกรับภาระนี้ต่อไปได้ยากลำบาก”
กูเตร์เรสได้กล่าวยกย่องบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของซีเรียอีกครั้ง สำหรับความใจกว้างอย่างหาที่สุดไม่ได้ พร้อมกระตุ้นเตือน “ให้ประชาคมนานาชาติร่วมกันส่งความช่วยเหลือระดับมหาศาล”
ทางฝ่ายเยอรมนี ซึ่งตอนนี้เปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียไปแล้วประมาณ 80,000 คน โดยรวมถึง 20,000 คน ที่เข้ามาทางโครงการตั้งถิ่นฐานของยูเอ็น ยังไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะสร้างนิคมผู้ลี้ภัยเพิ่มทันที โดยระบุว่า เมืองเบียร์กำลังรอสัญญาณจากสหภาพยุโรป (อียู) และเรียกร้องให้มีการดำเนินโครงการทั่วยุโรป เพื่อให้ชาติอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมในการแบ่งเบาภาระกันอย่างเท่าเทียม
ในขณะเดียวกัน ดิมิทริส อวราโมปูโลส กรรมาธิการด้านการอพยพย้ายถิ่นของสหภาพยุโรปชี้ว่า จนถึงตอนนี้ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปได้รับผู้ลี้ภัยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศแล้ว 34,000 คน ซึ่งนับเป็นความพยายามเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากที่สุดเท่าที่อียูเคยตกปากรับคำมา
สวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากที่สุด เมื่อเทียบกับขนาดประชากร โดยรองรับผู้แสวงหาที่พักพิงที่พลัดหนีจากดินแดนอันบอบช้ำจากสงครามราว 60,000 คน กล่าวว่า จะขยายขนาดนิคมผู้ลี้ภัยเพิ่มอีกเท่าตัวจากในปัจจุบันที่มี 1,500 จุด
กูเตร์เรสได้กล่าวยกย่องสหรัฐฯ ที่ให้คำมั่นจะ “เร่ง” โครงการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งในตอนนี้กำลังตรวจสอบหนังสือขอลี้ภัยของชาวซีเรียราว 9,000 คน