รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุวันนี้ (9 ธ.ค.) ว่า นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ยอดผู้เสียชีวิตจากไข้มาลาเรียได้ลดฮวบลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ติดเชื้อก็มีจำนวนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผู้ป่วยเข้ารับการวินิจฉัยโรคเพิ่มขึ้น และได้รับมุ้งกันยุงกันมากขึ้น
กระนั้น องค์การชำนาญการด้านสุขภาพของสหประชาชาติยังระบุว่า กระบวนการยับยั้งโรคที่มียุงเป็นพาหะชนิดนี้ยังคงเปราะบาง และมีความเสี่ยงสูง ที่ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ “อีโบลา” ในระดับรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาจต้องเผชิญมาลาเรียระบาดซ้ำ
WHO ระบุในรายงานประจำปีว่าด้วยสถานการณ์ไข้มาลาเรียว่า ในช่วงปี 2000 ถึง 2013 ยอดผู้เสียชีวิตด้วยไข้มาเลเรียทั่วโลกลดลงไป 47 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาซึ่งผู้เสียชีวิต 90 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่นั้นดิ่งลงไปถึง 54 เปอร์เซ็นต์
บทวิเคราะห์ผลกระทบจากโรคมาลาเรียทั่วภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮาราพบว่า แม้ว่าประชากรในพื้นที่นี้จะเพิ่มขึ้น 43 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็พบผู้ติดเชื้อมาลาเรียลดลงทุกปี
เปโดร อาลอนโซ ผู้อำนวยการโครงการมาลาเรียโลกของ WHO ชี้ว่า “ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การรักษาอัตราผู้เสียชีวิตและติดเชื้อมาลาเรียให้อยู่ในระดับคงที่ และลดน้อยลงจะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น”
รายงานฉบับนี้ระบุว่า การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้ออีโบลาในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกได้ “ส่งผลกระทบอย่างเลวร้าย” ต่อการรักษามาลาเรีย และการนำเสนอโครงการควบคุมมาลาเรียแก่ประชาชน
ที่กินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของอีโบลาหนักที่สุด โดยคลินิกที่รับรักษาผู้ป่วยในพากันปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก และสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยนอกก็รับรักษาคนไข้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของอัตรา ในช่วงก่อนอีโบลาแพร่ระบาด
***มาตรการชั่วคราว***
WHO ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินมาตรการชั่วคราวเพื่อควบคุมมาลาเรีย เป็นต้นว่า การแจกยารักษามาลาเรียแก่ผู้ป่วยทุกคนที่มีไข้ และตั้งเต็นท์รักษาชาวบ้านตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากเชื้ออีโบลาและมาลาเรีย ในประเทศเหล่านี้ที่พบผู้ติดเชื้อมาลาเรียราว 6.6 ล้านคน และเสียชีวิต 20,000 คนเมื่อปี 2013
รายงานนี้ระบุว่า “นานาชาติได้เพิ่มเงินบริจาคเพื่อดำเนินการตามแนะนำ คือการแจกจ่ายมุ้งให้แก่ชาวบ้านในทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก (อีโบลา)”
เมื่อปี 213 มาลาเรียได้คร่าชีวิตประชาชนไปราว 584,000 คน โดยในจำนวนนี้มากถึงราว 453,000 คนเป็นเด็กที่มีอายุไม่ถึง 5 ขวบ แม้ว่าเงินบริจาคเพื่อยับยั้งโรคมาลาเรียจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากยอดในปี 2005 โดยยังขาดเงินบริจาคเพียง 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกระบุในคำแถลงว่า ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงชัยชนะในการต่อสู้กับมาลาเรีย เนื่องจาก “เรามีเครื่องมือที่ถูกต้อง และวิธีการป้องกันที่ได้ผล”
“แต่หากเราจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตให้ลดลงอย่างยั่งยืน เรายังต้องหาเครื่องมือเหล่านั้นให้คนอีกมากมาย”