xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียหันพึ่งต่างชาติช่วยเร่งพัฒนา “กองเรือดำน้ำ” หวั่นถูกทัพเรือจีน “ทิ้งห่าง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - อินเดียกำลังเร่งเดินหน้าโครงการพัฒนากองเรือให้ทันสมัย และเริ่มหันมาพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านเพื่อควบคุมการดำเนินกิจกรรมของเรือดำน้ำจีน ในมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้ก็เริ่มแสดงออกถึงความกระวนกระวายใจต่อกิจกรรมใต้ทะเลอันบุ่มบ่ามของปักกิ่ง

เพียงไม่กี่เดือนหลังเกิดการประจันหน้าตามแนวพรมแดนจีน-อินเดีย แถบเทือกเขาหิมาลัย อันเป็นพื้นที่พิพาท ก็พบว่ามีเรือดำน้ำของจีนออกมาผลุบๆ โผล่ๆ ให้เห็นในศรีลังกา ประเทศที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของแดนภารตะ นอกจากนี้ แดนมังกรยังหันหน้ากระชับสัมพันธ์กับมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ของจีนได้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศนี้กำลังมุ่งเสริมกำลังทหารในมหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันเข้าสู่แดนมังกร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 4 ใน 5 จากน้ำมันทั้งหมดที่จีนนำเข้า ในยามที่สถานการณ์ความตึงเครียดในกรณีพิพาททะเลจีนใต้โหมรุนแรงขึ้น และกองทัพเรืออันทรงพลังของแดนมังกรเริ่มสร้างความกระวนกระวายใจให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน

อรุณ ปรากาช อดีตผู้บัญชาการทหารเรืออินเดียระบุว่า จริงอยู่ที่ “เราควรจะกังวลเรื่องที่กองเรือดำน้ำของเรามีสภาพเก่าซอมซ่อเต็มทน แต่เนื่องจากจีนกำลังข่มเรา เช่นเดียวกับกรณีที่เทือกเขาหิมาลัย ทะเลจีนใต้ รวมถึงตอนนี้ที่มหาสมุทรอินเดีย เราควรต้องกังวลหนักกว่านั้นเสียอีก”

เขากล่าวว่า “โชคยังดีที่มีสัญญาณว่า รัฐบาลเริ่มตื่นตัวกับวิกฤตนี้ ... แต่การต่อเรือขึ้นมาใหม่นั้นต้องใช้เวลา เราควรตั้งความหวังว่าจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับจีน และตั้งความหวังว่า สายสัมพันธ์ทางการทูต และความเป็นพันธมิตรระห่างเราจะยังดำเนินต่อไปตามปกติ”

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียได้สั่งการให้เร่งเปิดประมูลโครงการสร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซล 6 ลำ ด้วยงบประมาณราว 5 แสนล้านรูปี (ราว 2.65 แสนล้านบาท) นอกเหนือจากเรือดำน้ำ 6 ลำที่บริษัท DCNS ของฝรั่งเศสกำลังต่อประกอบที่ท่าเรือนครมุมไบ เพื่อส่งเข้าประจำการแทนกองเรืออันเก่าแก่เกือบ 30 ปีที่ประสบอุบัติเหตุหลายครั้งซ้อน

เจ้าหน้าที่กองทัพเรืออินเดียชี้แจงกับรอยเตอร์ว่า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่อินเดียสร้างขึ้นเองเป็นลำแรก ซึ่งบรรทุกขีปนาวุธติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ และถูกนำออกทดสอบทางทะเลในเดือนนี้ จะถูกส่งเข้าประจำการในกองเรือในปลายปี 2016 ทั้งนี้ เมื่อปี 2012 อินเดียได้เช่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มาจากรัสเซียหนึ่งลำ และกำลังติดต่อขอเช่าลำที่สอง

แหล่งข่าวผู้มีความใกล้ชิดกับเรื่องนี้เปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียได้หันหน้าไปพึ่งกลุ่มอุตสาหกรรม บจก.ลาร์เซนแอนด์ทูโบร ซึ่งเป็นผู้สร้างตัวเรือของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกที่ผลิตในประเทศ เพื่อขอให้สร้างเรือดำน้ำเพิ่มอีก 2 ลำ

ทางด้านออสเตรเลียกำลังมีแผนสั่งซื้อเรือดำน้ำล่องหนมากถึง 12 ลำจากญี่ปุ่น ขณะที่เวียดนามก็วางแผนจะซื้อเรือดำน้ำชั้นกิโลอีก 4 ลำ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้แก่กองเรือดำน้ำในปัจจุบันมีเพียง 2 ลำ ส่วนไต้หวันนั้นกำลังขอถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เพื่อเดินหน้าสร้างกองเรือดำน้ำด้วยตนเอง

ทางฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งกำลังพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะแห่งหนึ่งในทะเลจีนตะวันออกก็กำลังเล็งจะเพิ่มเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซลเป็น 22 ลำในอีกราวหนึ่งทศวรรษข้างหน้า จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 16 ลำ

นอกเหนือจากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่เช่ามาจากรัสเซียแล้ว ปัจจุบันกองทัพเรืออินเดียมีเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้าทั้งสิ้น 13 ลำ แต่ในจำนวนนี้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ยังใช้การได้ภายหลังผ่านการปรับปรุงดัดแปลง และเมื่อปีที่แล้ว มีเรือดำน้ำลำหนึ่งในกองเรือแดนภารตะอับปาง ภายหลังเกิดระเบิดและเพลิงลุกไหม้ ขณะที่จอดเทียบท่าในนครมุมไบ

ทั้งนี้ มีการประมาณการว่าจีนมีเรือดำน้ำแบบทั่วไป 60 ลำ และเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 10 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 ลำที่ติดอาวุธนิวเคลียร์

หม่า เจี้ยหลี่ ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ของสภาปฏิรูปจีน ซึ่งเป็นสถาบันในเครือโรงเรียนพรรคกลางชี้ว่า สิ่งที่จีนให้ความสำคัญมากที่สุดในมหาสมุทรอินเดีย คือการปกป้องเส้นทางลำเลียงโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน

“คนมากมายในอินเดียต่างเชื่อว่ามหาสมุทรอินเดียเป็นของอินเดียแต่เพียงผู้เดียว และไม่มีประเทศอื่นใดเป็นเจ้าของ ความคิดทำนองนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่แน่ๆ คือไม่ควรฝังใจเชื่อเรื่องแบบนั้น แนวคิดของ (จีน) ก็คือควรมีการปรึกษาหารือกันระหว่างจีนกับอินเดีย”

เจ้าหน้าที่กองทัพเรือ และผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่า เนื่องด้วยอินเดียสั่งสมกองเรือไว้ราว 150 ลำ รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ ในขณะที่จีนมีเรือราว 800 ลำในครอบครอง จึงมีแนวโน้มที่สองชาติยักษ์ใหญ่ในเอเชียจะกระโจนเข้าใส่กัน มากกว่าที่จะไม่ทำ

เดวิด บรูว์สเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการยุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวว่า อินเดียจะทำทุกวิถีทางเพื่อกอบกู้สถานะอันทรงอิทธิพลในมหาสมุทรอินเดีย

เขาชี้ว่า แดนภารตะอาจหาทางร่วมมือกับญี่ปุ่นและออสเตรเลีย และขยายฐานทัพบนหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ซึ่งอยู่ห่างจากช่องแคบมะละกาไปราว 140 กิโลเมตร

นอกจากนี้ อินเดียได้กระชับสายสัมพันธ์ทางการทูตกับศรีลังกา เพื่อหาทางควบคุมกิจกรรมใต้น้ำของจีน โดยย้ำเตือนศรีลังกาว่า ต้องแจ้งให้อินเดียทราบ เมื่อพบเห็นเรือดำน้ำแดนมังกรป้วนเปี้ยน ตามข้อตกลงทางทะเลที่ทั้งสองทำร่วมกับมัลดีฟส์ในปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น