xs
xsm
sm
md
lg

อินเดีย-ฝรั่งเศสเร่งผลักดันข้อตกลงขายบินรบ “ราฟาล” 126 ลำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินขับไล่ ราฟาล กำลังบินเหนือน่านฟ้าอิรักขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวน หลังนำเครื่องขึ้นจากฐานทัพอากาศอัล-ดาฟราในสหรัฐอาหรับเอมิเรต เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ปี 2014 (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี – รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสและอินเดียเห็นพ้องที่จะเร่งผลักดันการเจรจาว่าด้วยการขายเครื่องบินขับไล่ราฟาล 126 ลำ ให้แก่อินเดีย ทั้งสองฝ่ายกล่าววันนี้ (2) หลังจากความคืบหน้าที่ล่าช้าทำให้เกิดความไม่มั่นใจในข้อตกลงมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.9 แสนล้านบาท) ฉบับนี้

การที่เส้นตายเพื่อบรรลุหนึ่งในข้อตกลงซื้อขายอากาศยานทางทหารที่มีมูลค่าสูงที่สุดฉบับหนึ่งของโลกได้ผ่านเลยไปหลายครั้งติดๆ กันโดยไม่เกิดความคืบหน้าใดๆ ทำให้มีรายงานออกมาว่า เครื่องบินขับไล่ยูโรไฟเตอร์ของอังกฤษอาจกำลังพยายามหวนกลับเข้ามาสู่การแข่งขันประกวดราคาซื้อเครื่องบินขับไล่นี้อีกครั้ง

ฌอง-อีฟ เลอ ดริอง รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส กล่าวว่า การเจรจาต่างๆ กำลัง “ดำเนินไปด้วยดี” หลังจากเขาได้พบปะกับ มโนหะร์ ปาร์ริกะร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอินเดียที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งมาหมาดๆ ในกรุงนิวเดลีเมื่อวานนี้ (1)

“สำหรับโครงการที่ใหญ่และซับซ้อนขนาดนี้ อัตราความคืบหน้าในระดับนี้ถือว่าไม่ได้ต่างกับอัตราความคืบหน้าของการเจรจาอื่นๆ” เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์รายวัน เดอะ ไพโอเนีย ของอินเดียวันนี้ (2)

“ทั้งสองรัฐบาลต่างมีความตั้งใจที่จะบรรลุข้อตกลงราฟาล และสิ่งนี้ย่อมจะขาดไม่ได้”

โฆษกกระทรวงกลาโหมอินเดียบอกกับเอเอฟพีว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือกัน “ทุกประเด็นรวมถึงข้อตกลงราฟาล” และระบุว่า “ได้มีการตัดสินใจแล้วว่าความเห็นแย้งที่ยังคงมีอยู่จะได้รับการแก้ไขด้วยวิธีที่รวดเร็วและตรงจุดที่สุด”

เมื่อปี 2012 แดสเซาท์ อาเวียชอง บริษัทแดนน้ำหอมได้รับสิทธิในการเจรจาแต่เพียงผู้เดียวกับอินเดียเพื่อจัดส่งเครื่องบินขับไล่ 126 ลำ หลังจากเสนอราคาต่ำกว่าบริษัทคู่แข่งอย่าง ยูโรไฟเตอร์ โดยภายใต้ข้อตกลงนี้ บริษัท แดสเซาท์ จะจัดส่งเครื่องบินขับไล่หลายภารกิจสองเครื่องยนต์ “ราฟาล” 18 ลำภายในปี 2015

อินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาวุธชั้นนำของโลก อยู่ระหว่างดำเนินโครงการยกระดับด้านความมั่นคงมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3 ล้านล้านบาท) และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อินเดียจำเป็นต้องมีเครื่องบินขับไล่เหล่านี้โดยเร็วเพื่อรักษาข้อได้เปรียบด้านการรบให้เหนือกว่าปากีสถาน ประเทศคู่ขัดแย้งเรื่องนิวเคลียร์

ส่วน ราฟาล อีก 108 ลำที่เหลือจะมีการสร้างขึ้นภายในแดนภารตะเอง โดยบริษัท ฮินดูสถาน แอร์โรนอตทิกส์ (Hindustan Aeronautics) อันเป็นกิจการของรัฐ ภายใต้ข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีกับอินเดีย ซึ่งมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมของตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น