เอเอฟพี - รายงานข่าวฉบับหนึ่งระบุวันนี้ (6 ก.ค.) ว่า ญี่ปุ่นกำลังเตรียมอนุมัติแผนการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ครั้งแรก หลังจากโตเกียวได้ผ่อนปรนกฎห้ามส่งออกอาวุธที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1967 เพื่อตั้งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยกระดับแสนยานุภาพทางทหารให้มีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้น
หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน “นิกเคอิ” รายงานโดยไม่เปิดเผยแหล่งข่าวว่า บริษัท “มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์” วางแผนจะส่งออกอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับสมรรถนะสูงให้แก่สหรัฐฯ ซึ่งจะนำไปติดตั้งเข้ากับระบบต่อต้านขีปนาวุธแพทริออตชนิดศักยภาพสูง (PAC-2) เพื่อส่งออกให้แก่กาตาร์
ภายหลังที่เมื่อเดือนเมษายน ญี่ปุ่นได้ผ่อนปรนกฎห้ามส่งออกอาวุธอันเข้มงวด โดยเฉพาะในกรณีที่สินค้าของแดนอาทิตย์อุทัยอาจถูกซื้อไปขายต่อให้ประเทศที่ประสบความขัดแย้งอีกทอดหนึ่ง ในที่สุดโตเกียวก็ตัดสินใจส่งออกอุปกรณ์เซ็นเซอร์ให้แก่สหรัฐฯ โดยเป็นความเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มจะผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการภายในเดือนนี้
รัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ได้ผ่อนปรนข้อห้ามที่ใช้มานานเกือบ 50 ปี เพื่อเปิดทางให้แดนอาทิตย์อุทัยสามารถส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งเปิดทางให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาวุธ และการยกระดับอุตสาหกรรมกลาโหมร่วมกับนานาชาติ
นิกเคอิ รายงานว่า ญี่ปุ่นได้ลงความเห็นว่า แผนการส่งออกขีปนาวุธให้แก่กาตาร์ที่สหรัฐฯ วางเอาไว้ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ นิกเคอิ ว่า มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ ยังผลิตอุปกรณ์ตรวจจับขีปนาวุธแพทริออต PAC-2 ให้แก่กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นเอง โดยได้รับอนุญาตจากบริษัทเรย์ธีออน (Raytheon) ของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม บริษัทอเมริกันเจ้านี้ได้ลดการผลิตส่วนประกอบขีปนาวุธ PAC-2 ลง เนื่องจากกำลังตั้งเป้าผลิตระบบสกัดกั้นขีปนาวุธแพทริออตรุ่นต่อไปอย่าง PAC-3 แทน
ทั้งนี้ เซ็นเซอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องตรวจจับอินฟราเรดที่ติดตั้งในหัวขีปนาวุธของระบบป้องกัน เนื่องจากอุปกรณ์ชนิดนี้ทำหน้าที่ระบุตำแหน่ง และตามรอยเป้าหมายของฝ่ายศัตรูที่เคลื่อนตัวเข้ามา แล้วส่งขีปนาวุธขึ้นสกัดกลางอากาศได้ทันท่วงที