เอเอฟพี - ผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เห็นพ้องมาตรการอย่างจำกัดเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างชาติสมาชิก วานนี้ (19) ในขณะที่อังกฤษยังค้านเสียงแข็งไม่ให้อียูจัดตั้งกองกำลังของตนเอง
ในการประชุมซัมมิตด้านกลาโหมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 ผู้นำอียูทั้ง 28 ชาติได้ร่วมกันคิดหาวิธีเพิ่มศักยภาพทางทหารของยุโรป ในช่วงเวลาที่หลายประเทศกำลังขาดแคลนงบประมาณ
“รวบรวมและแบ่งปัน” คือวลีเด็ดที่ทุกประเทศเห็นชอบ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะนำไปสู่การจัดตั้ง “กองกำลังอียู” ขึ้นมาต่างหาก หรือเพียงเสริมศักยภาพกองทัพแต่ละประเทศเพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกัน
ถ้อยแถลงร่วมของอียูเรียกร้องให้ชาติสมาชิก “ยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหม โดยปรับปรุงภารกิจทางทหารต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีพื้นฐานอยู่บน “บูรณภาพ” ของอุตสาหกรรมกลาโหมในอียู
ในส่วนของมาตรการสำคัญๆ ผู้นำชาติยุโรปเห็นพ้องให้อียูจัดทำโครงการพัฒนาเครื่องบินไร้คนขับและเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ, ระบบดาวเทียม และการป้องกันทางไซเบอร์
นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ แถลงว่าตนเห็นด้วยกับการขยายความร่วมมือด้านกลาโหม แต่ไม่เห็นด้วยหากอียูจะมีกองทัพเป็นของตนเอง
“การที่ประเทศสมาชิกจะร่วมมือในด้านกลาโหมเพื่อให้เราทั้งหลายปลอดภัยขึ้นนั้นเป็นเรื่องสมเหตุสมผล... แต่ไม่สมควรที่อียูจะมีแสนยานุภาพทางทหาร, กองทัพบก, กองทัพอากาศ หรืออะไรทำนองนั้น” ผู้นำอังกฤษกล่าว
“เราต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความร่วมมือซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง กับการสร้างแสนยานุภาพทางทหารของอียู ซึ่งไม่ถูกต้อง”
คาเมรอนยืนยันว่า กองทัพอังกฤษจะต้องอยู่ภายใต้การบัญชาการของประเทศอังกฤษ และเข้าร่วมภารกิจทางทหารกับนานาชาติผ่านนาโต ไม่ใช่อียู ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของยุโรปเอง
แอนเดอร์ส ฟ็อก ราสมุสเซน ผู้บัญชาการนาโต ได้ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตนคาดหวังที่จะเห็นผู้นำอียูให้ความสำคัญกับกองทัพมากยิ่งขึ้น และย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโดรนและอากาศยานที่เติมเชื้อเพลิงกลางอากาศได้
“หากชาติยุโรปลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพกองทัพมากขึ้น พวกเขาก็จะเป็นกำลังสำคัญให้กับนาโตได้มากยิ่งขึ้น” ราสมุสเซ็น ให้สัมภาษณ์วานนี้ (19) พร้อมกล่าวเสริมว่า “จะไม่มีกองกำลังสหภาพยุโรป มีเพียงกองทัพของแต่ละประเทศเท่านั้น”