เอเจนซีส์ - ชาวอเมริกันในเมืองต่างๆ จำนวนมากทั่วประเทศ ออกมาชุมนุมประท้วงในวันอังคาร (25 พ.ย.) กรณีคณะลูกขุนใหญ่สั่งไม่ฟ้อง “ดาร์เรน วิลสัน” ตำรวจผิวขาวซึ่งยิงไม่ยั้ง “ไมเคิล บราวน์” วัยรุ่นผิวสีที่ไม่มีอาวุธจนเสียชีวิตเมื่อ 3 เดือนที่แล้วในเมืองเฟอร์กูสัน บริเวณชานเมืองเซนต์หลุยส์ ทางด้านผู้ว่าการมลรัฐมิสซูรีสั่งเพิ่มกำลังควบคุมจลาจลสามเท่าตัวเป็นกว่า 2,000 นายเพื่อไม่ให้สถานการณ์ความรุนแรงที่เฟอร์กูสันลุกลามต่อไป ส่วนวิลสันได้เปิดปากให้สัมภาษณ์ครั้งแรก ยืนยันมีสติและปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง อ้างแม้บราวน์เป็นคนผิวขาวก็จะทำแบบเดียวกันเพื่อป้องกันตัว
ในคืนวันอังคาร (25) มีความรุนแรงปะทุต่อเนื่องเป็นคืนที่ 2 ในเฟอร์กูสัน ถิ่นพำนักของคนผิวดำที่ตั้งอยู่บริเวณเมืองเซนต์หลุยส์ เมืองสำคัญของรัฐมิสซูรี หลังจากก่อนหน้านั้นในวันจันทร์ (24) คณะลูกขุนใหญ่ตัดสินใจไม่สั่งฟ้องตำรวจผิวขาวที่ยิงบราวน์ วัยรุ่นผิวสีวัย 18 ปีเสียชีวิต เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยวินิจฉัยว่าเป็นการป้องกันตนเอง
เจย์ นิกสัน ผู้ว่าการรัฐมิสซูรี แถลงว่า ได้เพิ่มกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเข้ามาประจำในเฟอร์กูสันเป็นกว่า 2,000 คนแล้ว เพื่อให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ขณะเดียวกัน ทหารม้าในกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิของมิสซูรี เข้าปิดถนนเวสต์ฟลอริสแซนต์ ซึ่งเป็นถนนหลักของเฟอร์กูสันและเป็นสถานที่เกิดเหตุการปล้นและวางเพลิงรุนแรงที่สุดเมื่อคืนวันจันทร์ (24) หลังคณะลูกขุนใหญ่อ่านคำตัดสิน
ในคืนวันอังคาร ที่สถานีตำรวจเฟอร์กูสัน ตำรวจปราบจลาจลเข้าสลายผู้ชุมนุมราว 100 คนที่ตะโกนและถือป้ายประท้วง ทำให้ผู้ชุมนุมถอยร่นไปยังที่ว่าการเมือง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเผารถสายตรวจคันหนึ่ง และตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาและใช้รถหุ้มเกราะเคลื่อนเข้าไปควบคุมสถานการณ์
อย่างไรก็ดี ต้องถือว่ามีผู้ชุมนุมประท้วงในเฟอร์กูสันน้อยกว่าเมื่อวันจันทร์
ในวันอังคารเช่นกัน ในนครนิวยอร์กมีประชาชนหลายพันคนออกมาเดินขบวนประท้วงไปตามถนนสายต่างๆ ส่งผลให้การจราจรบนสะพานและอุโมงค์ในติดขัด กระทั่งตำรวจต้องเข้าดำเนินการและจับกุมผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง
ที่กรุงวอชิงตัน มีการชุมนุมอย่างสงบหน้าทำเนียบขาว เช่นเดียวกับในอีกหลายเมืองใหญ่น้อยไล่ตั้งแต่โอ๊กแลนด์ และซีแอตเติล ทางฝั่งเวสต์โคสต์ จนถึงแอตแลนตา ฟิลาเดลเฟีย และบัลติมอร์ทางฝั่งอีสโคสต์
ที่ลอสแองเจลิส ฝูงชนราว 500 คนจากหลายเชื้อชาติ และมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เดินขบวนประท้วงไปยังสำนักงานตำรวจ ส่วนที่พอร์ตแลนด์และเดนเวอร์ มีรายงานว่า ตำรวจต้องใช้สเปรย์พริกไทยสลายการชุมนุม
โทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า มีการชุมนุมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ใน 170 ชุมชนทั่วสหรัฐฯ
ทางด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ออกมาแถลงเรียกร้องให้คำเนินคดีกับผู้ก่อจลาจล แต่ยอมรับว่า มีความไม่พอใจฝังลึกในหมู่คนกลุ่มน้อยที่รู้สึกว่า ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากตำรวจ
เช่นเดียวกัน ครอบครัวบราวน์ออกมาแถลงอีกรอบในวันอังคาร โดยย้ำว่า พวกที่จุดไฟเผาทรัพย์สินของรัฐบาลหรือเอกชน ไม่ใช่ผู้สนับสนุนบราวน์
ถึงแม้ไม่เห็นด้วยกับการก่อจลาจล แต่ทางครอบครัวบราวน์ โดย เบนจามิน ครัมป์ ทนายความของครอบครัว ก็ประณามคำวินิจฉัยเมื่อวันจันทร์และยืนยันว่า จะฟ้องร้องต่อศาลของรัฐบาลกลาง ขณะที่แอนโธนี เกรย์ ทนายอีกคนสำทับว่า ทีมทนายเคยพูดกันไว้แต่แรกแล้วว่า การตัดสินใจของคณะลูกขุนใหญ่จะสะท้อนการนำเสนอหลักฐานโดยสำนักงานอัยการของมลรัฐ
เกรย์ยังบอกว่า บ็อบ แม็กคัลลอช อัยการรัฐมิสซูรี เสนอหลักฐานที่บิดเบือนกระบวนการสอบสวน ขณะที่ ครัมป์ สำทับว่า ตอนที่นำตัววิลสันขึ้นให้การต่อคณะลูกขุนใหญ่นั้น ปรากฏว่าไม่ได้มีการซักค้านตำรวจผิวขาวรายนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า ความพยายามในการฟ้องร้องต่อศาลรัฐบาลกลาง โดยเน้นประเด็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากต้องมีข้อพิสูจน์ว่า เจ้าหน้าที่เจตนาละเมิดสิทธิพลเมืองของเหยื่อ ทว่า จากคำให้การของวิลสันที่บอกว่า เขารู้สึกว่า ถูกบราวน์คุกคาม รวมทั้งรอยฟกช้ำบนร่างกายของวิลสัน เกือบจะปิดโอกาสการฟ้องร้องในแนวทางนี้โดยสิ้นเชิง
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ครอบครัวบราวน์ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือ การฟ้องวิลสันฐานทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ
ทางด้านทนายความของวิลสันออกคำแถลงชื่นชมการตัดสินใจของคณะลูกขุนใหญ่ และย้ำว่า บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ ภายในเสี้ยววินาที พร้อมยืนยันว่า วิลสันปฏิบัติตามที่ได้รับการฝึกมาและปฏิบัติตามกฎหมาย
ขณะเดียวกัน วิลสันได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อครั้งแรก โดยบอกกับเอบีซี นิวส์ว่า ณ ขณะนั้นเขามีสติสัมปชัญญะและรู้ว่าตัวเองกำลังปฏิบัติหน้าที่ และตอบคำถามโดยยืนยันว่า แม้บราวน์เป็นคนผิวขาว เขาก็จะตัดสินใจทำแบบเดียวกัน
วิลสันที่ทำงานกับสำนักงานตำรวจเฟอร์กูสันยังไม่ถึง 3 ปีขณะเกิดเหตุ ยังยอมรับว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาลั่นกระสุนขณะปฏิบัติหน้าที่
ในอีกด้านหนึ่ง อัล ชาร์ปตัน ผู้นำการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนสำคัญ กล่าวว่า กรณีบราวน์ช่วยปลุกเร้าให้คนอเมริกันลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้งเพื่อให้ตำรวจเป็นสถาบันที่ไว้วางใจได้มากขึ้น