รอยเตอร์ – องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เห็นพ้องวานนี้ (21) ว่า ประเทศสมาชิกทุกชาติควรผ่านและบังคับใช้กฎหมายห้ามการแต่งงานกับเด็ก และแก้ไขปัญหาเพื่อยุติธรรมเนียมปฏิบัติที่ส่งผลกระทบต่อเด็กสาวราว 15 ล้านคนต่อปี
คณะกรรมาธิการสมัชชาใหญ่แห่งยูเอ็น 193 ประเทศที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนมีฉันทามติเรียกร้องให้ทุกประเทศใช้มาตรการยุติ “การบังคับแต่งงาน , การแต่งงานกับเด็ก และการแต่งงานก่อนวัยอันควร ”
จากสถิติของยูเอ็น ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงกว่า 700 ล้านคนที่แต่งงานก่อนวันเกิดครบรอบ 18 ปีของตน โดยจำนวนมากเป็นไปภายใต้เงื่อนไขความยากจนและไม่ปลอดภัย
การแต่งการกับเด็กในหมู่เด็กสาวเป็นเป็นเรื่องปกติที่สุดในแถบเอเชียใต้และแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา ในไนเจอร์แถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีอัตรารวมสูงที่สุดนั้น ร้อยละ 77 ของผู้หญิงวัยระหว่าง 20 - 49 ปี แต่งงานก่อนที่พวกเธอจะอายุ 18 ปี
บังกลาเทศมีเด็กสาวที่แต่งงานก่อนอายุ 15 ปีมากที่สุดและอินเดียก็เป็นประเทศที่มีจำนวนเจ้าสาววัยเด็กอยู่มากถึง 1 ใน 3 ของทั้งโลก
ครินตีน กาลัมวีนา รองผู้แทนถาวรของแซมเบีย ซึ่งเสนอประเด็นนี้ร่วมกับแคนาดา กล่าวว่า การแต่งงานกับเป็นอุปสรรคต่อการลดความยากจน , การศึกษา , ความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมบทบาทสตรี , อัตราการตายของเด็ก , อนามัยมารดา และการต่อสู้กับเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์และอีกหลายๆ โรค
มติดังกล่าวระบุว่า การแต่งงานก่อนวัยอันควรยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพกายและจิตของเด็กสาวที่ร่างกายยังไม่เจริญเติบโตเพียงพอ ขณะที่มันจะ “เพิ่มความเสี่ยงการตังครรภ์โดยไม่ตั้งใจ อัตราการตายของทารกและมารดา และการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์”
ในจำนวน 118 ประเทศที่สนับสนุนมตินี้คือ มาลี , เอธิโอเปีย และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ซึ่งอยู่ในหมู่ 10 ประเทศที่มีอัตราการแต่งงานกับเด็กสูงที่สุด
มติดังกล่าว ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ รับรองว่าการแต่งงานจะเกิดขึ้นด้วยการยินยอมของคู่บ่าวสาวที่ตั้งใจจริงเท่านั้น ได้รับมาใช้แล้วโดยไม่ผ่านการโหวต มตินี้จะส่งต่อไปยังสมัชชาใหญ่เต็มชุดเพื่อรับการอนุมัติอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม
แม้จะให้การสนับสนุนมติฉบับดังกล่าว แต่สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและซูดานต่างก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับย่อหน้าหนึ่งที่เรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องสิทธิของเด็กสาวในการควบคุมกิจกรรมทางเพศของตนเองและบังคับใช้กฎหมายที่ปกป้องสิทธิการเจริญพันธุ์
มติของสมัชชาใหญ่ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย แต่สามารถเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองต่อประเทศนั้นๆ
“นี่คือถ้อยแถลงที่หนักแน่นจากประชาคมโลกว่าจะไม่มีการยอมให้การแต่งงานกับเด็กเกิดขึ้น” เกิร์ล บีฟอร์ ไบรด์ (Girls Before Brides) กลุ่มพันธมิตรสากลขององค์กรประชาสังคมราว 400 กลุ่ม กล่าวในถ้อยแถลง