(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
The Sino-American comedy of errors
By Spengler
10/11/2014
ความไม่เข้าใจกันซึ่งสร้างความยุ่งยากลำบากให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน – สองประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกปัจจุบัน ยังคงมีลักษณะ “เป็นสุขนาฏกรรม” มากกว่า “เป็นโศกนาฏกรรม” บางทีข้อสรุปเช่นนี้อาจจะเป็นการมองสถานการณ์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะวาดหวังได้ในตอนนี้ เนื่องจากไม่ว่าจะพยายามอธิบายกันมากมายสักเพียงไหนก็ตามที ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ฝ่ายจีนและฝ่ายอเมริกันบังเกิดทัศนคติอันมีเหตุมีผลต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ โดยที่ท่าทีของปักกิ่งต่อวอชิงตันนั้น กำลังบ่ายหน้าไปในทางรู้สึกโกรธขึ้งอย่างเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ
ปักกิ่ง - ในละครโศกนาฏกรรม (tragedy) ทุกสิ่งทุกอย่างบังเกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลมีคำอธิบาย และผลลัพธ์มักจะเป็นความเศร้าสลด แต่สำหรับในละครสุขนาฎกรรม (comedy) สิ่งต่างๆ แทบทั้งหมดบังเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญและอุบัติเหตุ และผลลงเอยมักจะเป็นความสุขสมหวัง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯนั้น ไม่ใช่ว่าถูกลิขิตเอาไว้แล้วว่าจะต้องเดินไปสู่ความขัดแย้งกัน ถึงแม้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเช่นนั้นก็ตามที ความไม่เข้าใจกันซึ่งสร้างความยุ่งยากลำบากให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกปัจจุบัน 2 รายนี้ ยังคงมีลักษณะ “เป็นสุขนาฏกรรม” มากกว่า “เป็นโศกนาฏกรรม” บางทีข้อสรุปเช่นนี้อาจจะเป็นการมองสถานการณ์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะวาดหวังได้ในตอนนี้ เนื่องจากไม่ว่าจะพยายามอธิบายกันมากมายสักเพียงไหนก็ตามที ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ฝ่ายจีนและฝ่ายอเมริกันบังเกิดทัศนคติอันมีเหตุมีผลต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้
ในจุดที่ฝ่ายจีนพยายามทำตนเป็นฝ่ายตั้งรับและระมัดระวังตัว ฝ่ายอเมริกันกลับมีความโน้มเอียงที่จะมองฝ่ายจีนว่ากำลังแสดงความก้าวร้าวรุกราน ในจุดที่ฝ่ายจีนแสดงตนว่ามีความทะเยอทะยานมุ่งแผ่ขยาย ฝ่ายอเมริกันก็จะใช้ท่าทีเพิกเฉยไม่คิดแยแสผ่อนสั้นผ่อนยาวให้บ้างเลย สหรัฐอเมริกานั้นเป็นมหาอำนาจในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมักคุ้นเคยชินกับการมีฐานะครอบงำทางทะเล เมื่อฝ่ายอเมริกันเขม้นมองนโยบายการต่างประเทศของจีนจากกรอบความคิดเช่นนี้ของตน จึงแสดงความตื่นภัยเฝ้าระวังต่อการที่จีนประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนหมู่เกาะเล็กๆ ไร้ผู้คนพำนักอาศัย ซึ่ง ญี่ปุ่น, เวียดนาม, และฟิลิปปินส์ ก็กำลังอ้างกรรมสิทธิ์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากถ้อยคำโวหารเป็นบางครั้งบางคราวจากพวกผู้นำทางทหารของจีนไม่กี่คน ซึ่งมีลักษณะที่ร้อนแรงเกินกว่าเหตุและมุ่งหาประโยชน์ให้แก่ตนเองเป็นสำคัญแล้ว หมู่เกาะเล็กหมู่เกาะน้อยที่กำลังแย่งชิงกันเหล่านี้ มีความสำคัญแค่ขี้ปะติ๋วในเวลาที่ฝ่ายจีนจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาต่างๆ
สิ่งที่กล่าวมานี้ ดูจะได้รับการสนับสนุนจากรายงานข่าวชิ้นหนึ่งที่ว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนกับญี่ปุ่นได้เผยแพร่เอกสารที่ใช้ชื่อว่า “ความตกลงในทางหลักการว่าด้วยการจัดการและการปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคี” (Principled Agreement on Handling and Improving Bilateral Relations) ซึ่งพวกเขาตกลงกันได้ภายหลังการพบปะเจรจากันระหว่าง โชตะโร ยาชิ (Shotaro Yachi) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่น กับ หยาง เจียฉี (Yang Jiechi) มนตรีแห่งรัฐของจีน (Chinese State Councilor มีฐานะเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี) ในเอกสารฉบับนี้ให้คำมั่นสัญญาที่จะ “สถาปนากลไกบริหารจัดการวิกฤต เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย” และเพื่อให้มี “การสนทนาและการปรึกษาหารือกัน”
ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือจีน ต่างไม่ได้มีความสนใจหรือได้รับผลประโยชน์ใดๆ หากเกิดการเผชิญหน้ากันทางทหารในมหาสมุทรแปซิฟิก ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายต่างกำลังใช้ข้อพิพาทการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทับซ้อนกัน เพื่อโอ่อวดและสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนผู้มีแนวความคิดชาตินิยมของพวกเขาเอง เอกสารความตกลงในทางหลักการฉบับนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่า “ละครคาบูกิ” (หรือ “งิ้วปักกิ่ง”) ที่แสดงกันมาระยะหนึ่งแล้วนั้น ได้เล่นกันจนพออกพอใจแล้ว
มีความคิดความเชื่อกันอย่างกว้างขวางประการหนึ่งในฝ่ายอเมริกันที่ว่า เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งซึ่งมองกันว่าเป็นลัทธิมุ่งแผ่ขยายอำนาจของฝ่ายจีนในแปซิฟิก การตอบโต้รับมือที่เหมาะเหม็งก็คือการสร้างพันธมิตรทางทหารอินเดีย-ญี่ปุ่น ขึ้นมาภายใต้การอุปถัมภ์ของสหรัฐฯ เพื่อใช้ทัดทานความทะเยอทะยานของฝ่ายจีน ถึงแม้มีนักชาตินิยมชาวอินเดียสองสามคน ออกมาแสดงความกระตือรือร้นต่อแนวความคิดเรื่องนี้ แต่เมื่อพิจารณากันตามเนื้อผ้าแล้ว มันก็เป็นข้อเสนอเป็นความเชื่อที่ว่างเปล่ายากที่จะเป็นความจริงได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าอินเดียเกิดตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากต้องเผชิญหน้ากับจีนสืบเนื่องจากชายแดนที่พิพาทกันอยู่แล้ว ญี่ปุ่นจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือ?
รัฐบาลอินเดียที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งมาใหม่ๆ หมาดๆ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ไม่เคยนำเอาแนวความคิดนี้มาพิจารณาอย่างจริงจังเลย ตรงกันข้าม หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเดินทางไปเยือนอินเดียอย่างเป็นรัฐพิธีเมื่อเร็วๆ นี้ โมดีกลับให้ความสนใจขบคิดเรื่องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากฝ่ายจีนเข้ามาปรับปรุงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของแดนภารตะซึ่งกำลังเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เศรษฐศาสตร์นั้นมีน้ำหนักเหนือกว่าความวิตกกังวลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนในบริเวณรกร้างเขตเทือกเขาสูงชัน ซึ่งเป็นเครื่องกั้นอาณาเขตระหว่างประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 2 รายนี้
นอกจากนั้น ยังมีมิติทางยุทธศาสตร์ซึ่งเพิ่มน้ำหนักทำให้จีนกับอินเดียวบังเกิดความรู้สึกในทางเห็นพ้องต้องกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาจากจุดได้เปรียบของอินเดียแล้ว การที่จีนให้ความสนับสนุนแก่กองทัพปากีสถานย่อมเป็นเรื่องน่าวิตกกังวล กระนั้นเรื่องนี้ก็มีผลกระทบในสองด้านสองแง่ ปากีสถานอยู่ในฐานะที่มีความเสี่ยงมาโดยตลอดว่าจะเอนเอียงหล่นไปตกอยู่ใต้อิทธิพลของอิสลามแบบหัวรุนแรง และกองทัพปากีสถานนั่นแหละคือตัวหลักในการคอยค้ำประกันให้ประเทศนี้มีเสถียรภาพไม่ลื่นถลำจนน่ากลัว จีนจึงต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กองทัพนี้ เพื่ออาศัยเป็นป้อมปราการขัดขวางพวกหัวรุนแรงอิสลามิสต์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อมณฑลซินเจียงของจีน พอๆ กับที่คุกคามอินเดียอยู่ และบางทีการดำเนินนโยบายเช่นนี้ของจีนจึงอาจจะกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่อินเดียไปด้วยในตัว
พวกนักวิเคราะห์ของจีนต่างพากันตะลึงงัน เกี่ยวกับการสนองตอบของสหรัฐฯ ต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเพียงการแสดงประกอบในทะเลจีนใต้ ขณะที่กลับแสดงความกังวลเพียงผิวๆ ในเรื่องเกี่ยวกับอินเดีย พวกเขายังคงงุนงงไม่หายและพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมสหรัฐฯถึงได้เดินหมากผิดพลาดอย่างร้ายแรงในยูเครน จนกระทั่งส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ที่แดนมังกรมีอยู่กับรัสเซียมีโอกาสปรับปรุงยกระดับดีขึ้นมาอย่างมหาศาลเช่นนี้
เมื่อพูดกันในฐานะที่เป็นหลักการในทางการทูตแล้ว จีนไม่ชอบพวกแบ่งแยกดินแดนเลย เพราะปักกิ่งก็มีปัญหาพวกแบ่งแยกดินแดนของตนเองที่จะต้องจัดการรับมือ ไล่เรียงกันตั้งแต่ชาวอุยกูร์มุสลิมในมณฑลซินเจียง วอชิงตันนั้นคิดว่า การสนับสนุน “การปฏิวัติไมดาน” (Maidan Revolution) ในกรุงเคียฟเมื่อปีที่แล้ว จะทำให้สามารถดึงเอาแหลมไครเมียออกมาให้พ้นจากการควบคุมของรัสเซียได้ ทว่ารัสเซียกลับตอบโต้ด้วยการเข้าผนวกดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือน้ำอุ่นแห่งสำคัญที่สุดของตน กลายเป็นส่วนหนึ่งของแดนหมีขาวเสียเลย
ครั้นเมื่อโลกตะวันตกประกาศตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซียระลอกแล้วระลอกเล่า มอสโกก็บ่ายหน้าเคลื่อนไปทางตะวันออก ซึ่งย่อมเป็นการโต้ตอบที่ควรคาดหมายได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว และก็เป็นความเคลื่อนไหวซึ่งส่งผลกระทบอย่างแรงต่อมหาอำนาจตะวันตก ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่รัสเซียเปิดแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองของตนให้แก่จีนเท่านั้น หากยังตกลงยินยอมจัดส่งเทคโนโลยีทางทหารอันซับซ้อนสุดยอดที่สุดของตนให้แก่แดนมังกร รวมทั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ เอส-400 (S-400 air defense system) ในอดีตที่ผ่านมา รัสเซียแสดงท่าทีลังเลในเรื่องนี้เรื่อยมา เนื่องจากฝ่ายจีนขึ้นชื่อนักในเรื่องการถอดรื้อระบบต่างๆ ของรัสเซียเพื่อนำไปศึกษาปรับปรุงและจัดสร้างระบบของตนเองขึ้นมา ทว่าวิกฤตการณ์ยูเครนเปลี่ยนแปลงทัศนคติของมอสโกในเรื่องนี้
แน่นอนทีเดียว มาถึงเวลานี้พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกสังเกตเห็นแล้วว่า การหันหน้ารอมชอมกันครั้งใหม่ของรัสเซียกับจีนนี้ น่าที่จะกลายเป็นปัญหาท้าทายหนักหนาสาหัสสำหรับฝ่ายตะวันตก หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ (New York Times) อุทิศเนื้อที่ในหน้าแรกของฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน เพื่อตีพิมพ์ความเห็นแสดงความระแวงสงสัยอย่างที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น ของพวกนักเฝ้าจับจ้องมองสหภาพโซเวียตทั้งหลาย
ทว่า นี่คือสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาตั้งหลายเดือนแล้ว และควรที่จะมองเห็นกันได้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า ฝ่ายตะวันตกได้โยน “ปูติน ผู้เจ้าเล่ห์” และกำลังถูกปรปักษ์รุมล้อม ให้ตกลงไปในไม้พุ่มใบหนาทางด้านตะวันออกของเขา จนกระทั่งทำให้เขาหลบหนีไปได้สำเร็จ เหมือนๆ กับในนิทานกระต่ายแสนกล “เบรอ แรบบิต” (B'rer Rabbit) ที่หลอกพวกสุนัขจิ้งจอกและสุนัขจิ้งจอกจนตนเองพ้นภัย
ในบรรดาการคาดคำนวณอย่างผิดพลาดในทางนโยบายของฝ่ายตะวันตกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา บางทีเรื่องนี้น่าจะเป็นความผิดพลาดอันโง่เขลาร้ายแรงที่สุด ฝ่ายจีนยังคงเกาศีรษะแกรกๆ อยู่เลยด้วยความไม่เชื่อว่าตนเองจะมีโชคดีอย่างไม่คาดฝันถึงขนาดนี้
แน่นอนว่า เป็นการไม่ถูกต้อง ถ้าหากจะพูดกันถึงขนาดที่ว่า รัสเซียกับจีนจับมือเป็นพันธมิตรกัน แล้ว กระนั้นสิ่งที่บังเกิดขึ้นก็คือ จีนกับรัสเซียกำลังพัฒนาความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันขึ้นมาในเอเชีย ข้อตกลงทั้งทางด้านพลังงานและทางด้านกลาโหมระหว่างมอสโกกับปักกิ่ง ย่อมมีความสำคัญในตัวมันเองอยู่แล้ว ทว่าข้อตกลงเหล่านี้จะยิ่งดูมีความสำคัญมากขึ้นอีก เมื่อพิจารณาจากบริบทที่ว่า มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางเศรษฐกิจอันสูงส่งทะเยอทะยานที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ โครงการ “เส้นทางสายไหมเส้นใหม่” (New Silk Road) มหาสมุทรแปซิฟิกนั้นแทบไม่ได้ให้ความหวังอะไรแก่จีนเท่าใดเลย เพราะญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ต่างก็เป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจพัฒนาไปอย่างเต็มที่แล้ว จึงเป็นทั้งลูกค้าและทั้งคู่แข่งขันของจีนอย่างชัดเจน
การขยายตัวไปในแปซิฟิกจึงแทบไม่สามารถให้อะไรแปลกใหม่เพิ่มเติมแก่เศรษฐกิจของจีน ในเวลาที่มองไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก สิ่งที่จีนต้องการจึงเน้นหนักไปที่ การอยู่ในฐานะซึ่งใครก็ตามก็ไม่สามารถล่วงล้ำผ่านพรมแดนของตนเข้ามาได้ แดนมังกรพร้อมทุ่มเทใช้จ่ายไปในการพัฒนาขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นดินสู่เรือ (surface-to-ship missiles) ซึ่งจะสามารถผลักไสพวกเรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือดำน้ำล่าสังหารของสหรัฐฯให้ออกไปไกลๆ ตลอดจนในการพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศ
ลู่ทางโอกาสแห่งอนาคตสำหรับจีน แท้จริงแล้วอยู่ที่ทางภาคตะวันตกและภาคใต้ นั่นก็คือ ทรัพยากรพลังงานและแร่ธาตุในเอเชียกลาง, อาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ท่าเรือน้ำอุ่นในมหาสมุทรอินเดีย, ตลาดอันใหญ่โตกว้างขวาง, และโอกาสที่จะเข้าถึงตลาดโลกส่วนที่อยู่ถัดไปจากนั้น เครือข่ายของระบบรางรถไฟ, สายท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, และการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งจีนกำลังสร้างอยู่ในประเทศต่างๆ ทางเอเชียกลางที่เป็นอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต ตลอดจนในทั่วประเทศรัสเซียเองด้วย จะทำให้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหมดความหมายความสำคัญลงไป และยังสามารถที่จะเป็นสปริงบอร์ดสำหรับการค้าของจีนกับยุโรปอีกด้วย
ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของ “ยูเรเชีย” (Eurasia หมายถึง แผ่นดินใหญ่ทวีปเอเชียซึ่งต่อเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ทวีปยุโรป) โดยรวม น่าที่จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจของจีนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อเวลานี้รัสเซียกำลังยินยอมต่อเงื่อนไขข้อกำหนดของฝ่ายจีนมากขึ้นเรื่อยๆ การที่ฝ่ายอเมริกาช่วยให้เรื่องนี้บังเกิดผลเป็นจริงเป็นขึ้นมา ด้วยการ “แทงทวนเข้าใส่กังหันโรงสีลม” ในยูเครน (เหมือนกับอัศวิน ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า ในนวนิยายลือชื่อของ มิเกล เด เซร์บันเตส) เป็นสิ่งที่สร้างความมึนงงให้แก่ฝ่ายจีน ทว่าพวกเขาก็ยังคงกำลังกอบโกยดอกผลที่ตามมาของเรื่องนี้อย่างชื่นชมยินดี
ผลกระทบทางเศรษฐกิจของเรื่องนี้ ยังเป็นสิ่งที่ยากจะหยั่งคาดคำนวณ ทว่าน่าที่จะขยายอิทธิพลของจีนไปทางตะวันตก ในขนาดขอบเขตซึ่งโลกตะวันตกยังไม่ได้เริ่มต้นวาดฝันจินตนาการ นอกจากนั้นยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนหรอกว่า จีนนั้นมีแนวความคิดอันแจ่มแจ้งหรือไม่ว่า เส้นทางสายไหมเส้นใหม่นี้จะมีความหมายโดยนัยถึงขนาดไหน การที่อเมริกาจัดแจงจุดระเบิดทำลายฐานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของตนเองเช่นนี้ ก่อให้เกิดทั้งความเสี่ยงและทั้งโอกาสที่ตรงหน้าประตูของปักกิ่ง ซึ่งสร้างความเซอร์ไพรซ์อย่างใหญ่หลวงให้แก่ปักกิ่ง
เมื่อ 1 ปีมาแล้ว พวกเจ้าหน้าที่จีนพูดจาเป็นการภายในกับอาคันตุกะผู้มาเยือนว่า ประเทศของพวกเขาจะ “เดินตามการนำของอภิมหาอำนาจผู้อยู่ในฐานะครอบงำรายนี้ (ซึ่งก็คือสหรัฐอเมริกา)” ในเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของตะวันออกกลาง รวมไปถึงเรื่องความพยายามของอิหร่านที่จะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนยอมปล่อยให้สหรัฐฯเป็นผู้เฝ้าดูแลพื้นที่อ่าวเปอร์เซีย ขณะที่แดนมังกรเพิ่มการพึ่งพาอาศัยน้ำมันของอ่าวเปอร์เซียนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยภายในปี 2020 จีนคาดหมายว่าน้ำมันที่ตนต้องใช้นั้นจะต้องนำเข้าถึง 70% และส่วนใหญ่ที่สุดจะมาจากอ่าวเปอร์เซียนี้เอง
ระหว่างเวลาไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ ทัศนะในเรื่องนี้ของฝ่ายจีนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬาร ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากการล้มครืนของรัฐซีเรียและรัฐอิรัก และการผงาดขึ้นมาของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ IS) เวลานี้ลำบากเสียแล้วที่จะค้นหาผู้ชำนาญการชาวจีนสักคนหนึ่งซึ่งยังคงคิดว่า สหรัฐฯสามารถยืนหยัดรักษาความมั่นคงของอ่าวเปอร์เซียเอาไว้ได้อย่างแน่นอน เวลานี้กำลังมีความคิดเห็นแตกกัน ในระหว่างพวกที่คิดว่าอเมริกานั้นหมดน้ำยาไร้ความสามารถแน่ๆ แล้ว กับพวกซึ่งเห็นว่าอเมริกาจงใจต้องการสั่นคลอนเสถียรภาพของอ่าวเปอร์เซียต่างหาก
เวลานี้เมื่อสหรัฐฯกำลังก้าวไปสู่ฐานะที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องทรัพยากรด้านพลังงาน จึงมีนักวิเคราะห์อาวุโสชาวจีนบางรายเชื่อว่า วอชิงตันต้องการผลักใสภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียให้เข้าสู่ภาวะไร้ขื่อไร้แป เพื่อทำให้จีนบาดเจ็บเสียหาย นักวิเคราะห์ชาวจีนคนสำคัญมากผู้หนึ่งชี้ว่า กลุ่มรัฐอิสลามนั้นนำโดยพวกนายทหารชาวสุหนี่ซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากสหรัฐฯในช่วงปี 2007-2008 หรือไม่ก็เป็นพวกนายทหารเก่าในกองทัพของซัดดัม ฮุสเซน และจากประวัติความเป็นมาเช่นนี้เอง จึงทำให้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมพวกรัฐอิสลามแสดงให้เห็นถึงความสามารถในทางการทหารและในทางการจัดองค์กรได้ดีถึงขนาดนี้
ความไม่พอใจของฝ่ายจีนดังกล่าวนี้ ต้องถือว่ามีเหตุมีผล เนื่องจาก พล.อ.เดวิด เพเทรอัส (General David Petraeus) นั่นเอง ซึ่งเป็นผู้สั่งการฝึกอบรมกองกำลังอาวุธชาวสุหนี่ ที่เรียกขานกันว่า “สุหนี่ อะเวกเคนนิ่ง” (Sunni Awakening) จำนวน 100,000 คนขึ้นมา เพื่อเอาไว้ใช้ถ่วงดุลอำนาจกับระบอบปกครองของชาวชิอะห์ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของอิรักและได้ขึ้นสู่อำนาจด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯเช่นเดียวกันตั้งแต่เมื่อปี 2006 ดังนั้น ฝ่ายจีนคงต้องตั้งคำถามว่า ทำไมคณะรัฐบาลในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และ พล.อ.เพเทรอัส ถึงได้โง่เขลาถึงขนาดนี้? การที่จะโน้มน้าวชักจูงให้ฝ่ายจีนเชื่อว่า บุช และ เพเทรอัส โง่เขลาได้ถึงขนาดนั้นจริงๆ ย่อมเป็นภารกิจที่หนักหนาทีเดียว
ท่าทีที่จีนแสดงต่อวอชิงตันนั้น กำลังบ่ายหน้าไปในทางแสดงความรู้สึกโกรธขึ้งอย่างเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (Global Times) ของทางการจีน เขียนถึงผลการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ ด้วยน้ำเสียงแบบสวดส่งโอบามา เอาไว้ว่า “ประธานาธิบดีเป็ดง่อยผู้นี้จะยิ่งเป็นอัมพาตหนักขึ้นอีกหรือไม่? เขาทำผลงานที่แสนจะจืดชืด แทบไม่ได้เสนออะไรให้เป็นที่ชื่นใจแก่พวกผู้สนับสนุนเขาเอาเสียเลย สังคมสหรัฐฯสุดจะเซ็งกับความน่าเบื่อหน่ายไร้ความสร้างสรรค์ของเขาแล้ว”
แต่การที่อิทธิพลบารมีของอเมริกันต้องมีอันทรุดโทรมซวนเซลง ในภูมิภาคซึ่งจีนต้องพึ่งพาอาศัยซื้อหาน้ำมันส่วนใหญ่ที่สุดที่ตนต้องใช้ ย่อมไม่ใช่เหตุการณ์ที่น่าปีติยินดีอะไรสำหรับปักกิ่ง
จีนนั้นไม่ได้เคยคาดการณ์มาก่อนว่า บริการฟรีๆ จากฝ่ายอเมริกันเช่นนี้จะต้องยุติลง และก็ยังไม่แน่ใจว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป แดนมังกรพยายามที่จะรักษาความสมดุลในหมู่ประเทศที่ตนเองติดต่อค้าขายด้วย โดยที่ประเทศเหล่านี้ก็กำลังแสดงความเป็นศัตรูต่อกัน ตัวอย่างเช่น จีนยินยอมขายอาวุธตามแบบแผน เป็นจำนวนมหาศาลให้แก่อิหร่าน ตลอดจนขีปนาวุธนำวิถีรุ่นค่อนข้างเก่าและไม่ไฮเทคเท่าใดนักบางรุ่นด้วย
ทว่าจีนกลับจำหน่ายขีปนาวุธพิสัยกลางระดับสุดยอดของตนให้แก่ซาอุดีอาระเบีย ทำให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียมี “สมรรถนะอันน่าเกรงขามในการป้องปราม” (formidable deterrent capability) เมื่อเผชิญกับอิหร่านตลอดจนพวกที่อาจกลายเป็นศัตรูในอนาคตรายอื่นๆ ทั้งนี้จีนได้รับน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียมากยิ่งกว่าจากประเทศอื่นๆ ถึงแม้การนำเข้าจากอิรักและโอเมนก็กำลังเพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย เนื่องจาก 2 ประเทศหลังนี้มีความใกล้ชิดกับอิหร่าน ดังนั้นจึงมองได้ว่าจีนต้องการที่สร้างความสมดุลอีกนั่นแหละ
ภายในจีน มีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่ในประเด็นที่ว่า ถ้าหากอิหร่านได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง นักยุทธศาสตร์บางรายเชื่อว่า ดุลแห่งอำนาจทางอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคนั้น ยังคงเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้มีการใช้อาวุธมหาประลัยประเภทนี้ ขณะที่คนอื่นๆ กลับหวาดกลัวว่า หากเกิดการตอบโต้กันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียแล้ว ก็น่าจะส่งผลให้ซัปพลายน้ำมันหยุดชะงักลง และฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของจีนย่ำแย่ไปด้วย เวลานี้จีนเข้าร่วมในการเจรจาระหว่าง พี 5 บวก 1 ( หมายถึง 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บวกด้วยเยอรมนี) กับอิหร่าน ในเรื่องสถานะทางนิวเคลียร์ของเตหะราน ทว่าไม่ได้เสนอท่าทีเป็นอิสระทางนโยบาย ออกไปจากแนวทางของประธานาธิบดีบารัค โอบามา
เวลาเดียวกันนั้น การผงาดขึ้นมาของพวกอิสลามิสต์หัวสุดโต่ง ก็ทำให้ปักกิ่งรู้สึกวุ่นวายใจ ซึ่งก็สมควรจะเป็นเช่นนั้น มีรายงานว่าชาวอุยกูร์อย่างน้อยที่สุด 100 คนกำลังสู้รบอยู่ในกองกำลังของกลุ่มรัฐอิสลาม โดยสันนิษฐานกันว่าเพื่อให้ได้ทักษะความชำนาญในการก่อการร้ายที่จะนำกลับไปก่อเหตุที่บ้านเกิดในประเทศจีน พวกนักวิเคราะห์ชาวจีนมีความคิดเห็นไปในทางให้ราคาต่ำมากๆ แก่วิธีการจัดการกับพวกไอเอสของคณะรัฐบาลโอบามา แต่ก็ไม่ได้มีนโยบายอย่างอื่นที่จะเป็นทางเลือก เรื่องนี้กำลังกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะความไร้เสถียรภาพย่อมเป็นภัยคุกคามต่อโครงการเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ในจุดสำคัญๆ หลายๆ จุด
จีนนั้นไม่มีความเอนเอียงเห็นอกเห็นใจใดๆ ต่อสิ่งที่พวกนักวิเคราะห์ในแดนมังกรชอบเรียกขานกันว่า “อิสลามแบบที่เข้าพัวพันกับการเมือง” (political Islam) การที่อเมริกา ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐบาลโอบามา หรือจากชาวพรรครีพับลิกันกระแสหลัก อย่างเช่น วุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน (John McCain) แสดงอาการชอบพอเกี้ยวพากลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ทำให้ฝ่ายจีนมองด้วยความตกตะลึงและประเมินว่ามันคือการแสดงให้เห็นถึงการไร้ความสามารถ หรือกระทั่งย่ำแย่ยิ่งกว่านั้นอีก ทว่าจีนเองก็ไม่มีศักยภาพใดๆ ที่จะติดตามไล่ล่าพวกอิสลามิสต์สุดโต่ง ยกเว้นแต่การส่งกำลังนาวิกโยธินจำนวนจำกัดมากไปประจำอยู่บริเวณนอกชายฝั่งของโซมาเลีย
จีนเป็นประเทศที่กำหนดนโยบายขึ้นมาด้วยความระมัดระวัง, อนุรักษนิยม, และถือหลักฉันทามติ ความวิตกกังวลยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดของแดนมังกรคือเรื่องเศรษฐกิจของตนเอง ฝีก้าวในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางทำให้จีนประหลาดใจ และกำลังพยายามที่จะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป
นโยบายตามแบบแผนทางการของแดนมังกรนั้น คือการเข้าไปร่วมการเจรจาว่าด้วยอิหร่าน และการเสนอตัวที่จะเข้าร่วมในการเจรจาของกลุ่ม “4” (Quartet ประกอบด้วยยูเอ็น, สหรัฐฯ, อียู, และรัสเซีย) ว่าด้วยปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ทว่าความริเริ่มเหล่านี้ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ในการจัดการกับสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลอย่างแท้จริงของแดนมังกร
จีนจะทำอะไรต่อไปในอนาคต เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำนายได้ แต่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่พ้นเสียแล้วที่ผลประโยชน์พื้นฐานต่างๆ ของจีนจะนำแดนมังกรเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันอย่างใหญ่โตมากขึ้นทุกทีในภูมิภาคนี้ และจะยิ่งเพิ่มทวีขึ้นอีกเมื่อสหรัฐฯยิ่งถอนตัวถอยห่างออกมา
สเปงเกลอร์ เป็นนามปากกาของคอลัมนิสต์ผู้โด่งดังของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ในปัจจุบันมีการเปิดเผยแล้วว่า ตัวจริงของคอลัมนิสต์ผู้นี้คือ เดวิด พี โกลด์แมน (David P Goldman) นักวิจัยอาวุโส ณ ศูนย์เพื่อการวิจัยนโยบายแห่งลอนดอน (London Center for Policy Research) และ นักวิจัย แวกซ์ แฟมิลี่ (Wax Family Fellow) ณ มิดเดิล อีสต์ ฟอรั่ม (Middle East Forum) หนังสือเรื่อง How Civilizations Die (and why Islam is Dying, Too)ของเขา ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ เร็กเนอรีเพรส (Regnery Press) ในเดือนกันยายน 2011 และหนังสือรวมบทความว่าด้วยวัฒนธรรม, ศาสนา, และเศรษฐศาสตร์ ของเขาที่ใช้ชื่อว่า It's Not the End of the World - It's Just the End of Youก็ออกวางจำหน่ายในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน โดยสำนักพิมพ์ฟานปรากเพรส(Van Praag Press)
The Sino-American comedy of errors
By Spengler
10/11/2014
ความไม่เข้าใจกันซึ่งสร้างความยุ่งยากลำบากให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน – สองประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกปัจจุบัน ยังคงมีลักษณะ “เป็นสุขนาฏกรรม” มากกว่า “เป็นโศกนาฏกรรม” บางทีข้อสรุปเช่นนี้อาจจะเป็นการมองสถานการณ์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะวาดหวังได้ในตอนนี้ เนื่องจากไม่ว่าจะพยายามอธิบายกันมากมายสักเพียงไหนก็ตามที ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ฝ่ายจีนและฝ่ายอเมริกันบังเกิดทัศนคติอันมีเหตุมีผลต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ โดยที่ท่าทีของปักกิ่งต่อวอชิงตันนั้น กำลังบ่ายหน้าไปในทางรู้สึกโกรธขึ้งอย่างเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ
ปักกิ่ง - ในละครโศกนาฏกรรม (tragedy) ทุกสิ่งทุกอย่างบังเกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลมีคำอธิบาย และผลลัพธ์มักจะเป็นความเศร้าสลด แต่สำหรับในละครสุขนาฎกรรม (comedy) สิ่งต่างๆ แทบทั้งหมดบังเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญและอุบัติเหตุ และผลลงเอยมักจะเป็นความสุขสมหวัง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯนั้น ไม่ใช่ว่าถูกลิขิตเอาไว้แล้วว่าจะต้องเดินไปสู่ความขัดแย้งกัน ถึงแม้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเช่นนั้นก็ตามที ความไม่เข้าใจกันซึ่งสร้างความยุ่งยากลำบากให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกปัจจุบัน 2 รายนี้ ยังคงมีลักษณะ “เป็นสุขนาฏกรรม” มากกว่า “เป็นโศกนาฏกรรม” บางทีข้อสรุปเช่นนี้อาจจะเป็นการมองสถานการณ์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะวาดหวังได้ในตอนนี้ เนื่องจากไม่ว่าจะพยายามอธิบายกันมากมายสักเพียงไหนก็ตามที ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ฝ่ายจีนและฝ่ายอเมริกันบังเกิดทัศนคติอันมีเหตุมีผลต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้
ในจุดที่ฝ่ายจีนพยายามทำตนเป็นฝ่ายตั้งรับและระมัดระวังตัว ฝ่ายอเมริกันกลับมีความโน้มเอียงที่จะมองฝ่ายจีนว่ากำลังแสดงความก้าวร้าวรุกราน ในจุดที่ฝ่ายจีนแสดงตนว่ามีความทะเยอทะยานมุ่งแผ่ขยาย ฝ่ายอเมริกันก็จะใช้ท่าทีเพิกเฉยไม่คิดแยแสผ่อนสั้นผ่อนยาวให้บ้างเลย สหรัฐอเมริกานั้นเป็นมหาอำนาจในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมักคุ้นเคยชินกับการมีฐานะครอบงำทางทะเล เมื่อฝ่ายอเมริกันเขม้นมองนโยบายการต่างประเทศของจีนจากกรอบความคิดเช่นนี้ของตน จึงแสดงความตื่นภัยเฝ้าระวังต่อการที่จีนประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนหมู่เกาะเล็กๆ ไร้ผู้คนพำนักอาศัย ซึ่ง ญี่ปุ่น, เวียดนาม, และฟิลิปปินส์ ก็กำลังอ้างกรรมสิทธิ์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากถ้อยคำโวหารเป็นบางครั้งบางคราวจากพวกผู้นำทางทหารของจีนไม่กี่คน ซึ่งมีลักษณะที่ร้อนแรงเกินกว่าเหตุและมุ่งหาประโยชน์ให้แก่ตนเองเป็นสำคัญแล้ว หมู่เกาะเล็กหมู่เกาะน้อยที่กำลังแย่งชิงกันเหล่านี้ มีความสำคัญแค่ขี้ปะติ๋วในเวลาที่ฝ่ายจีนจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาต่างๆ
สิ่งที่กล่าวมานี้ ดูจะได้รับการสนับสนุนจากรายงานข่าวชิ้นหนึ่งที่ว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนกับญี่ปุ่นได้เผยแพร่เอกสารที่ใช้ชื่อว่า “ความตกลงในทางหลักการว่าด้วยการจัดการและการปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคี” (Principled Agreement on Handling and Improving Bilateral Relations) ซึ่งพวกเขาตกลงกันได้ภายหลังการพบปะเจรจากันระหว่าง โชตะโร ยาชิ (Shotaro Yachi) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่น กับ หยาง เจียฉี (Yang Jiechi) มนตรีแห่งรัฐของจีน (Chinese State Councilor มีฐานะเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี) ในเอกสารฉบับนี้ให้คำมั่นสัญญาที่จะ “สถาปนากลไกบริหารจัดการวิกฤต เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย” และเพื่อให้มี “การสนทนาและการปรึกษาหารือกัน”
ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือจีน ต่างไม่ได้มีความสนใจหรือได้รับผลประโยชน์ใดๆ หากเกิดการเผชิญหน้ากันทางทหารในมหาสมุทรแปซิฟิก ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายต่างกำลังใช้ข้อพิพาทการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทับซ้อนกัน เพื่อโอ่อวดและสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนผู้มีแนวความคิดชาตินิยมของพวกเขาเอง เอกสารความตกลงในทางหลักการฉบับนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่า “ละครคาบูกิ” (หรือ “งิ้วปักกิ่ง”) ที่แสดงกันมาระยะหนึ่งแล้วนั้น ได้เล่นกันจนพออกพอใจแล้ว
มีความคิดความเชื่อกันอย่างกว้างขวางประการหนึ่งในฝ่ายอเมริกันที่ว่า เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งซึ่งมองกันว่าเป็นลัทธิมุ่งแผ่ขยายอำนาจของฝ่ายจีนในแปซิฟิก การตอบโต้รับมือที่เหมาะเหม็งก็คือการสร้างพันธมิตรทางทหารอินเดีย-ญี่ปุ่น ขึ้นมาภายใต้การอุปถัมภ์ของสหรัฐฯ เพื่อใช้ทัดทานความทะเยอทะยานของฝ่ายจีน ถึงแม้มีนักชาตินิยมชาวอินเดียสองสามคน ออกมาแสดงความกระตือรือร้นต่อแนวความคิดเรื่องนี้ แต่เมื่อพิจารณากันตามเนื้อผ้าแล้ว มันก็เป็นข้อเสนอเป็นความเชื่อที่ว่างเปล่ายากที่จะเป็นความจริงได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าอินเดียเกิดตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากต้องเผชิญหน้ากับจีนสืบเนื่องจากชายแดนที่พิพาทกันอยู่แล้ว ญี่ปุ่นจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือ?
รัฐบาลอินเดียที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งมาใหม่ๆ หมาดๆ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ไม่เคยนำเอาแนวความคิดนี้มาพิจารณาอย่างจริงจังเลย ตรงกันข้าม หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเดินทางไปเยือนอินเดียอย่างเป็นรัฐพิธีเมื่อเร็วๆ นี้ โมดีกลับให้ความสนใจขบคิดเรื่องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากฝ่ายจีนเข้ามาปรับปรุงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของแดนภารตะซึ่งกำลังเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เศรษฐศาสตร์นั้นมีน้ำหนักเหนือกว่าความวิตกกังวลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนในบริเวณรกร้างเขตเทือกเขาสูงชัน ซึ่งเป็นเครื่องกั้นอาณาเขตระหว่างประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 2 รายนี้
นอกจากนั้น ยังมีมิติทางยุทธศาสตร์ซึ่งเพิ่มน้ำหนักทำให้จีนกับอินเดียวบังเกิดความรู้สึกในทางเห็นพ้องต้องกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาจากจุดได้เปรียบของอินเดียแล้ว การที่จีนให้ความสนับสนุนแก่กองทัพปากีสถานย่อมเป็นเรื่องน่าวิตกกังวล กระนั้นเรื่องนี้ก็มีผลกระทบในสองด้านสองแง่ ปากีสถานอยู่ในฐานะที่มีความเสี่ยงมาโดยตลอดว่าจะเอนเอียงหล่นไปตกอยู่ใต้อิทธิพลของอิสลามแบบหัวรุนแรง และกองทัพปากีสถานนั่นแหละคือตัวหลักในการคอยค้ำประกันให้ประเทศนี้มีเสถียรภาพไม่ลื่นถลำจนน่ากลัว จีนจึงต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กองทัพนี้ เพื่ออาศัยเป็นป้อมปราการขัดขวางพวกหัวรุนแรงอิสลามิสต์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อมณฑลซินเจียงของจีน พอๆ กับที่คุกคามอินเดียอยู่ และบางทีการดำเนินนโยบายเช่นนี้ของจีนจึงอาจจะกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่อินเดียไปด้วยในตัว
พวกนักวิเคราะห์ของจีนต่างพากันตะลึงงัน เกี่ยวกับการสนองตอบของสหรัฐฯ ต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเพียงการแสดงประกอบในทะเลจีนใต้ ขณะที่กลับแสดงความกังวลเพียงผิวๆ ในเรื่องเกี่ยวกับอินเดีย พวกเขายังคงงุนงงไม่หายและพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมสหรัฐฯถึงได้เดินหมากผิดพลาดอย่างร้ายแรงในยูเครน จนกระทั่งส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ที่แดนมังกรมีอยู่กับรัสเซียมีโอกาสปรับปรุงยกระดับดีขึ้นมาอย่างมหาศาลเช่นนี้
เมื่อพูดกันในฐานะที่เป็นหลักการในทางการทูตแล้ว จีนไม่ชอบพวกแบ่งแยกดินแดนเลย เพราะปักกิ่งก็มีปัญหาพวกแบ่งแยกดินแดนของตนเองที่จะต้องจัดการรับมือ ไล่เรียงกันตั้งแต่ชาวอุยกูร์มุสลิมในมณฑลซินเจียง วอชิงตันนั้นคิดว่า การสนับสนุน “การปฏิวัติไมดาน” (Maidan Revolution) ในกรุงเคียฟเมื่อปีที่แล้ว จะทำให้สามารถดึงเอาแหลมไครเมียออกมาให้พ้นจากการควบคุมของรัสเซียได้ ทว่ารัสเซียกลับตอบโต้ด้วยการเข้าผนวกดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือน้ำอุ่นแห่งสำคัญที่สุดของตน กลายเป็นส่วนหนึ่งของแดนหมีขาวเสียเลย
ครั้นเมื่อโลกตะวันตกประกาศตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซียระลอกแล้วระลอกเล่า มอสโกก็บ่ายหน้าเคลื่อนไปทางตะวันออก ซึ่งย่อมเป็นการโต้ตอบที่ควรคาดหมายได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว และก็เป็นความเคลื่อนไหวซึ่งส่งผลกระทบอย่างแรงต่อมหาอำนาจตะวันตก ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่รัสเซียเปิดแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองของตนให้แก่จีนเท่านั้น หากยังตกลงยินยอมจัดส่งเทคโนโลยีทางทหารอันซับซ้อนสุดยอดที่สุดของตนให้แก่แดนมังกร รวมทั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ เอส-400 (S-400 air defense system) ในอดีตที่ผ่านมา รัสเซียแสดงท่าทีลังเลในเรื่องนี้เรื่อยมา เนื่องจากฝ่ายจีนขึ้นชื่อนักในเรื่องการถอดรื้อระบบต่างๆ ของรัสเซียเพื่อนำไปศึกษาปรับปรุงและจัดสร้างระบบของตนเองขึ้นมา ทว่าวิกฤตการณ์ยูเครนเปลี่ยนแปลงทัศนคติของมอสโกในเรื่องนี้
แน่นอนทีเดียว มาถึงเวลานี้พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกสังเกตเห็นแล้วว่า การหันหน้ารอมชอมกันครั้งใหม่ของรัสเซียกับจีนนี้ น่าที่จะกลายเป็นปัญหาท้าทายหนักหนาสาหัสสำหรับฝ่ายตะวันตก หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ (New York Times) อุทิศเนื้อที่ในหน้าแรกของฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน เพื่อตีพิมพ์ความเห็นแสดงความระแวงสงสัยอย่างที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น ของพวกนักเฝ้าจับจ้องมองสหภาพโซเวียตทั้งหลาย
ทว่า นี่คือสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาตั้งหลายเดือนแล้ว และควรที่จะมองเห็นกันได้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า ฝ่ายตะวันตกได้โยน “ปูติน ผู้เจ้าเล่ห์” และกำลังถูกปรปักษ์รุมล้อม ให้ตกลงไปในไม้พุ่มใบหนาทางด้านตะวันออกของเขา จนกระทั่งทำให้เขาหลบหนีไปได้สำเร็จ เหมือนๆ กับในนิทานกระต่ายแสนกล “เบรอ แรบบิต” (B'rer Rabbit) ที่หลอกพวกสุนัขจิ้งจอกและสุนัขจิ้งจอกจนตนเองพ้นภัย
ในบรรดาการคาดคำนวณอย่างผิดพลาดในทางนโยบายของฝ่ายตะวันตกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา บางทีเรื่องนี้น่าจะเป็นความผิดพลาดอันโง่เขลาร้ายแรงที่สุด ฝ่ายจีนยังคงเกาศีรษะแกรกๆ อยู่เลยด้วยความไม่เชื่อว่าตนเองจะมีโชคดีอย่างไม่คาดฝันถึงขนาดนี้
แน่นอนว่า เป็นการไม่ถูกต้อง ถ้าหากจะพูดกันถึงขนาดที่ว่า รัสเซียกับจีนจับมือเป็นพันธมิตรกัน แล้ว กระนั้นสิ่งที่บังเกิดขึ้นก็คือ จีนกับรัสเซียกำลังพัฒนาความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันขึ้นมาในเอเชีย ข้อตกลงทั้งทางด้านพลังงานและทางด้านกลาโหมระหว่างมอสโกกับปักกิ่ง ย่อมมีความสำคัญในตัวมันเองอยู่แล้ว ทว่าข้อตกลงเหล่านี้จะยิ่งดูมีความสำคัญมากขึ้นอีก เมื่อพิจารณาจากบริบทที่ว่า มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางเศรษฐกิจอันสูงส่งทะเยอทะยานที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ โครงการ “เส้นทางสายไหมเส้นใหม่” (New Silk Road) มหาสมุทรแปซิฟิกนั้นแทบไม่ได้ให้ความหวังอะไรแก่จีนเท่าใดเลย เพราะญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ต่างก็เป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจพัฒนาไปอย่างเต็มที่แล้ว จึงเป็นทั้งลูกค้าและทั้งคู่แข่งขันของจีนอย่างชัดเจน
การขยายตัวไปในแปซิฟิกจึงแทบไม่สามารถให้อะไรแปลกใหม่เพิ่มเติมแก่เศรษฐกิจของจีน ในเวลาที่มองไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก สิ่งที่จีนต้องการจึงเน้นหนักไปที่ การอยู่ในฐานะซึ่งใครก็ตามก็ไม่สามารถล่วงล้ำผ่านพรมแดนของตนเข้ามาได้ แดนมังกรพร้อมทุ่มเทใช้จ่ายไปในการพัฒนาขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นดินสู่เรือ (surface-to-ship missiles) ซึ่งจะสามารถผลักไสพวกเรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือดำน้ำล่าสังหารของสหรัฐฯให้ออกไปไกลๆ ตลอดจนในการพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศ
ลู่ทางโอกาสแห่งอนาคตสำหรับจีน แท้จริงแล้วอยู่ที่ทางภาคตะวันตกและภาคใต้ นั่นก็คือ ทรัพยากรพลังงานและแร่ธาตุในเอเชียกลาง, อาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ท่าเรือน้ำอุ่นในมหาสมุทรอินเดีย, ตลาดอันใหญ่โตกว้างขวาง, และโอกาสที่จะเข้าถึงตลาดโลกส่วนที่อยู่ถัดไปจากนั้น เครือข่ายของระบบรางรถไฟ, สายท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, และการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งจีนกำลังสร้างอยู่ในประเทศต่างๆ ทางเอเชียกลางที่เป็นอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต ตลอดจนในทั่วประเทศรัสเซียเองด้วย จะทำให้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหมดความหมายความสำคัญลงไป และยังสามารถที่จะเป็นสปริงบอร์ดสำหรับการค้าของจีนกับยุโรปอีกด้วย
ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของ “ยูเรเชีย” (Eurasia หมายถึง แผ่นดินใหญ่ทวีปเอเชียซึ่งต่อเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ทวีปยุโรป) โดยรวม น่าที่จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจของจีนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อเวลานี้รัสเซียกำลังยินยอมต่อเงื่อนไขข้อกำหนดของฝ่ายจีนมากขึ้นเรื่อยๆ การที่ฝ่ายอเมริกาช่วยให้เรื่องนี้บังเกิดผลเป็นจริงเป็นขึ้นมา ด้วยการ “แทงทวนเข้าใส่กังหันโรงสีลม” ในยูเครน (เหมือนกับอัศวิน ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า ในนวนิยายลือชื่อของ มิเกล เด เซร์บันเตส) เป็นสิ่งที่สร้างความมึนงงให้แก่ฝ่ายจีน ทว่าพวกเขาก็ยังคงกำลังกอบโกยดอกผลที่ตามมาของเรื่องนี้อย่างชื่นชมยินดี
ผลกระทบทางเศรษฐกิจของเรื่องนี้ ยังเป็นสิ่งที่ยากจะหยั่งคาดคำนวณ ทว่าน่าที่จะขยายอิทธิพลของจีนไปทางตะวันตก ในขนาดขอบเขตซึ่งโลกตะวันตกยังไม่ได้เริ่มต้นวาดฝันจินตนาการ นอกจากนั้นยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนหรอกว่า จีนนั้นมีแนวความคิดอันแจ่มแจ้งหรือไม่ว่า เส้นทางสายไหมเส้นใหม่นี้จะมีความหมายโดยนัยถึงขนาดไหน การที่อเมริกาจัดแจงจุดระเบิดทำลายฐานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของตนเองเช่นนี้ ก่อให้เกิดทั้งความเสี่ยงและทั้งโอกาสที่ตรงหน้าประตูของปักกิ่ง ซึ่งสร้างความเซอร์ไพรซ์อย่างใหญ่หลวงให้แก่ปักกิ่ง
เมื่อ 1 ปีมาแล้ว พวกเจ้าหน้าที่จีนพูดจาเป็นการภายในกับอาคันตุกะผู้มาเยือนว่า ประเทศของพวกเขาจะ “เดินตามการนำของอภิมหาอำนาจผู้อยู่ในฐานะครอบงำรายนี้ (ซึ่งก็คือสหรัฐอเมริกา)” ในเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของตะวันออกกลาง รวมไปถึงเรื่องความพยายามของอิหร่านที่จะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนยอมปล่อยให้สหรัฐฯเป็นผู้เฝ้าดูแลพื้นที่อ่าวเปอร์เซีย ขณะที่แดนมังกรเพิ่มการพึ่งพาอาศัยน้ำมันของอ่าวเปอร์เซียนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยภายในปี 2020 จีนคาดหมายว่าน้ำมันที่ตนต้องใช้นั้นจะต้องนำเข้าถึง 70% และส่วนใหญ่ที่สุดจะมาจากอ่าวเปอร์เซียนี้เอง
ระหว่างเวลาไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ ทัศนะในเรื่องนี้ของฝ่ายจีนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬาร ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากการล้มครืนของรัฐซีเรียและรัฐอิรัก และการผงาดขึ้นมาของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ IS) เวลานี้ลำบากเสียแล้วที่จะค้นหาผู้ชำนาญการชาวจีนสักคนหนึ่งซึ่งยังคงคิดว่า สหรัฐฯสามารถยืนหยัดรักษาความมั่นคงของอ่าวเปอร์เซียเอาไว้ได้อย่างแน่นอน เวลานี้กำลังมีความคิดเห็นแตกกัน ในระหว่างพวกที่คิดว่าอเมริกานั้นหมดน้ำยาไร้ความสามารถแน่ๆ แล้ว กับพวกซึ่งเห็นว่าอเมริกาจงใจต้องการสั่นคลอนเสถียรภาพของอ่าวเปอร์เซียต่างหาก
เวลานี้เมื่อสหรัฐฯกำลังก้าวไปสู่ฐานะที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องทรัพยากรด้านพลังงาน จึงมีนักวิเคราะห์อาวุโสชาวจีนบางรายเชื่อว่า วอชิงตันต้องการผลักใสภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียให้เข้าสู่ภาวะไร้ขื่อไร้แป เพื่อทำให้จีนบาดเจ็บเสียหาย นักวิเคราะห์ชาวจีนคนสำคัญมากผู้หนึ่งชี้ว่า กลุ่มรัฐอิสลามนั้นนำโดยพวกนายทหารชาวสุหนี่ซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากสหรัฐฯในช่วงปี 2007-2008 หรือไม่ก็เป็นพวกนายทหารเก่าในกองทัพของซัดดัม ฮุสเซน และจากประวัติความเป็นมาเช่นนี้เอง จึงทำให้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมพวกรัฐอิสลามแสดงให้เห็นถึงความสามารถในทางการทหารและในทางการจัดองค์กรได้ดีถึงขนาดนี้
ความไม่พอใจของฝ่ายจีนดังกล่าวนี้ ต้องถือว่ามีเหตุมีผล เนื่องจาก พล.อ.เดวิด เพเทรอัส (General David Petraeus) นั่นเอง ซึ่งเป็นผู้สั่งการฝึกอบรมกองกำลังอาวุธชาวสุหนี่ ที่เรียกขานกันว่า “สุหนี่ อะเวกเคนนิ่ง” (Sunni Awakening) จำนวน 100,000 คนขึ้นมา เพื่อเอาไว้ใช้ถ่วงดุลอำนาจกับระบอบปกครองของชาวชิอะห์ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของอิรักและได้ขึ้นสู่อำนาจด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯเช่นเดียวกันตั้งแต่เมื่อปี 2006 ดังนั้น ฝ่ายจีนคงต้องตั้งคำถามว่า ทำไมคณะรัฐบาลในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และ พล.อ.เพเทรอัส ถึงได้โง่เขลาถึงขนาดนี้? การที่จะโน้มน้าวชักจูงให้ฝ่ายจีนเชื่อว่า บุช และ เพเทรอัส โง่เขลาได้ถึงขนาดนั้นจริงๆ ย่อมเป็นภารกิจที่หนักหนาทีเดียว
ท่าทีที่จีนแสดงต่อวอชิงตันนั้น กำลังบ่ายหน้าไปในทางแสดงความรู้สึกโกรธขึ้งอย่างเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (Global Times) ของทางการจีน เขียนถึงผลการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ ด้วยน้ำเสียงแบบสวดส่งโอบามา เอาไว้ว่า “ประธานาธิบดีเป็ดง่อยผู้นี้จะยิ่งเป็นอัมพาตหนักขึ้นอีกหรือไม่? เขาทำผลงานที่แสนจะจืดชืด แทบไม่ได้เสนออะไรให้เป็นที่ชื่นใจแก่พวกผู้สนับสนุนเขาเอาเสียเลย สังคมสหรัฐฯสุดจะเซ็งกับความน่าเบื่อหน่ายไร้ความสร้างสรรค์ของเขาแล้ว”
แต่การที่อิทธิพลบารมีของอเมริกันต้องมีอันทรุดโทรมซวนเซลง ในภูมิภาคซึ่งจีนต้องพึ่งพาอาศัยซื้อหาน้ำมันส่วนใหญ่ที่สุดที่ตนต้องใช้ ย่อมไม่ใช่เหตุการณ์ที่น่าปีติยินดีอะไรสำหรับปักกิ่ง
จีนนั้นไม่ได้เคยคาดการณ์มาก่อนว่า บริการฟรีๆ จากฝ่ายอเมริกันเช่นนี้จะต้องยุติลง และก็ยังไม่แน่ใจว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป แดนมังกรพยายามที่จะรักษาความสมดุลในหมู่ประเทศที่ตนเองติดต่อค้าขายด้วย โดยที่ประเทศเหล่านี้ก็กำลังแสดงความเป็นศัตรูต่อกัน ตัวอย่างเช่น จีนยินยอมขายอาวุธตามแบบแผน เป็นจำนวนมหาศาลให้แก่อิหร่าน ตลอดจนขีปนาวุธนำวิถีรุ่นค่อนข้างเก่าและไม่ไฮเทคเท่าใดนักบางรุ่นด้วย
ทว่าจีนกลับจำหน่ายขีปนาวุธพิสัยกลางระดับสุดยอดของตนให้แก่ซาอุดีอาระเบีย ทำให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียมี “สมรรถนะอันน่าเกรงขามในการป้องปราม” (formidable deterrent capability) เมื่อเผชิญกับอิหร่านตลอดจนพวกที่อาจกลายเป็นศัตรูในอนาคตรายอื่นๆ ทั้งนี้จีนได้รับน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียมากยิ่งกว่าจากประเทศอื่นๆ ถึงแม้การนำเข้าจากอิรักและโอเมนก็กำลังเพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย เนื่องจาก 2 ประเทศหลังนี้มีความใกล้ชิดกับอิหร่าน ดังนั้นจึงมองได้ว่าจีนต้องการที่สร้างความสมดุลอีกนั่นแหละ
ภายในจีน มีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่ในประเด็นที่ว่า ถ้าหากอิหร่านได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง นักยุทธศาสตร์บางรายเชื่อว่า ดุลแห่งอำนาจทางอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคนั้น ยังคงเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้มีการใช้อาวุธมหาประลัยประเภทนี้ ขณะที่คนอื่นๆ กลับหวาดกลัวว่า หากเกิดการตอบโต้กันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียแล้ว ก็น่าจะส่งผลให้ซัปพลายน้ำมันหยุดชะงักลง และฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของจีนย่ำแย่ไปด้วย เวลานี้จีนเข้าร่วมในการเจรจาระหว่าง พี 5 บวก 1 ( หมายถึง 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บวกด้วยเยอรมนี) กับอิหร่าน ในเรื่องสถานะทางนิวเคลียร์ของเตหะราน ทว่าไม่ได้เสนอท่าทีเป็นอิสระทางนโยบาย ออกไปจากแนวทางของประธานาธิบดีบารัค โอบามา
เวลาเดียวกันนั้น การผงาดขึ้นมาของพวกอิสลามิสต์หัวสุดโต่ง ก็ทำให้ปักกิ่งรู้สึกวุ่นวายใจ ซึ่งก็สมควรจะเป็นเช่นนั้น มีรายงานว่าชาวอุยกูร์อย่างน้อยที่สุด 100 คนกำลังสู้รบอยู่ในกองกำลังของกลุ่มรัฐอิสลาม โดยสันนิษฐานกันว่าเพื่อให้ได้ทักษะความชำนาญในการก่อการร้ายที่จะนำกลับไปก่อเหตุที่บ้านเกิดในประเทศจีน พวกนักวิเคราะห์ชาวจีนมีความคิดเห็นไปในทางให้ราคาต่ำมากๆ แก่วิธีการจัดการกับพวกไอเอสของคณะรัฐบาลโอบามา แต่ก็ไม่ได้มีนโยบายอย่างอื่นที่จะเป็นทางเลือก เรื่องนี้กำลังกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะความไร้เสถียรภาพย่อมเป็นภัยคุกคามต่อโครงการเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ในจุดสำคัญๆ หลายๆ จุด
จีนนั้นไม่มีความเอนเอียงเห็นอกเห็นใจใดๆ ต่อสิ่งที่พวกนักวิเคราะห์ในแดนมังกรชอบเรียกขานกันว่า “อิสลามแบบที่เข้าพัวพันกับการเมือง” (political Islam) การที่อเมริกา ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐบาลโอบามา หรือจากชาวพรรครีพับลิกันกระแสหลัก อย่างเช่น วุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน (John McCain) แสดงอาการชอบพอเกี้ยวพากลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ทำให้ฝ่ายจีนมองด้วยความตกตะลึงและประเมินว่ามันคือการแสดงให้เห็นถึงการไร้ความสามารถ หรือกระทั่งย่ำแย่ยิ่งกว่านั้นอีก ทว่าจีนเองก็ไม่มีศักยภาพใดๆ ที่จะติดตามไล่ล่าพวกอิสลามิสต์สุดโต่ง ยกเว้นแต่การส่งกำลังนาวิกโยธินจำนวนจำกัดมากไปประจำอยู่บริเวณนอกชายฝั่งของโซมาเลีย
จีนเป็นประเทศที่กำหนดนโยบายขึ้นมาด้วยความระมัดระวัง, อนุรักษนิยม, และถือหลักฉันทามติ ความวิตกกังวลยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดของแดนมังกรคือเรื่องเศรษฐกิจของตนเอง ฝีก้าวในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางทำให้จีนประหลาดใจ และกำลังพยายามที่จะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป
นโยบายตามแบบแผนทางการของแดนมังกรนั้น คือการเข้าไปร่วมการเจรจาว่าด้วยอิหร่าน และการเสนอตัวที่จะเข้าร่วมในการเจรจาของกลุ่ม “4” (Quartet ประกอบด้วยยูเอ็น, สหรัฐฯ, อียู, และรัสเซีย) ว่าด้วยปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ทว่าความริเริ่มเหล่านี้ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ในการจัดการกับสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลอย่างแท้จริงของแดนมังกร
จีนจะทำอะไรต่อไปในอนาคต เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำนายได้ แต่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่พ้นเสียแล้วที่ผลประโยชน์พื้นฐานต่างๆ ของจีนจะนำแดนมังกรเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันอย่างใหญ่โตมากขึ้นทุกทีในภูมิภาคนี้ และจะยิ่งเพิ่มทวีขึ้นอีกเมื่อสหรัฐฯยิ่งถอนตัวถอยห่างออกมา
สเปงเกลอร์ เป็นนามปากกาของคอลัมนิสต์ผู้โด่งดังของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ในปัจจุบันมีการเปิดเผยแล้วว่า ตัวจริงของคอลัมนิสต์ผู้นี้คือ เดวิด พี โกลด์แมน (David P Goldman) นักวิจัยอาวุโส ณ ศูนย์เพื่อการวิจัยนโยบายแห่งลอนดอน (London Center for Policy Research) และ นักวิจัย แวกซ์ แฟมิลี่ (Wax Family Fellow) ณ มิดเดิล อีสต์ ฟอรั่ม (Middle East Forum) หนังสือเรื่อง How Civilizations Die (and why Islam is Dying, Too)ของเขา ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ เร็กเนอรีเพรส (Regnery Press) ในเดือนกันยายน 2011 และหนังสือรวมบทความว่าด้วยวัฒนธรรม, ศาสนา, และเศรษฐศาสตร์ ของเขาที่ใช้ชื่อว่า It's Not the End of the World - It's Just the End of Youก็ออกวางจำหน่ายในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน โดยสำนักพิมพ์ฟานปรากเพรส(Van Praag Press)