รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ซึ่งออกเดินสายทัวร์เอเชียเป็นเวลา 8 วันโดยเริ่มต้นที่จีนในวันนี้ (10 พ.ย.) ระบุว่า การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตี เริ่มมีแรงผลักดันที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้เร็วๆ นี้
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยอมรับว่า ระหว่างที่โอบามาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และพบปะกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนที่กรุงปักกิ่ง น่าจะยังไม่มีการแถลงความคืบหน้าที่สำคัญใดๆ เกี่ยวกับทีพีพี แต่ถึงกระนั้นผู้นำภาคธุรกิจต่างก็ยังคงจับตาสัญญาณความคืบหน้าของความตกลงที่ว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนพยายามผลักดันกรอบการเจรจาคู่แข่งที่เรียกว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-ซิฟิก (FTAAP)
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า แม้ทีพีพีจะยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเพราะญี่ปุ่นลังเลที่จะเปิดเสรีสินค้าเกษตร แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะความตกลงฉบับนี้จะกลายเป็น “ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์”
“ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะผู้แทนเจรจาของเราสามารถแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับทีพีพี และวันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่เราในฝ่ายการเมืองจะได้ช่วยกันขจัดอุปสรรคที่ยังเหลืออยู่” โอบามาแถลงระหว่างการประชุมกลุ่มสมาชิกทีพีพีทั้ง 12 ชาติ ณ สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง
“เราเล็งเห็นแรงผลักดันที่มีต่อความตกลงทีพีพีซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และมาตรฐานด้านการค้าและการลงทุนที่สูงขึ้นทั่วทั้งเอเชีย-แปซิฟิก”
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การที่จีนเตรียมจะเสนอแผนผลักดัน FTAAP ต่อบรรดาผู้นำชาติเอเปกในสัปดาห์นี้อาจเพราะต้องการเบี่ยงเบนความสนใจจาก ทีพีพี ซึ่งไม่มีจีนเข้าร่วมด้วย
ผู้นำกลุ่มทีพีพีได้ประกาศถ้อยแถลงร่วมกันว่า ยินดีเปิดรับ “หุ้นส่วนอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งพร้อมจะยอมรับมาตรฐานที่สูงของทีพีพี”
โอบามาเยือนจีนครั้งนี้ก็เพื่อตอกย้ำยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” หรือปรับสมดุลสู่เอเชีย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นความพยายามคานอำนาจจีนซึ่งกำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาค และทีพีพีก็คือหัวใจด้านเศรษฐกิจของยุทธศาสตร์ปรับสมดุลที่ว่านี้
สิ่งที่ โอบามา จะต้องทำให้สำเร็จคือ สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศพันธมิตรในเอเชีย ซึ่งเริ่มไม่มั่นใจว่าสหรัฐฯพร้อมที่จะยื่นมือเข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้อย่างจริงจังหรือไม่ ในขณะที่วอชิงตันเองก็ยังต้องรับมือวิกฤตการณ์ในส่วนอื่นๆ ของโลก ตั้งแต่เรื่องไวรัสอีโบลา ความขัดแย้งในยูเครน รวมถึงภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรัก และซีเรีย
ยิ่งไปกว่านั้น ความพ่ายแพ้ของพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้สถานะของ โอบามา ดูง่อนแง่นในสายตาของจีนและชาติพันธมิตรอื่นๆ และเขาอาจจะกลายเป็น “ผู้นำเป็ดง่อย” ของอเมริกาในช่วง 2 ปีสุดท้ายก่อนหมดวาระ
แม้การเจรจาทีพีพีจะแทบไม่คืบหน้าไปไหน แต่หากโอบามาสามารถโน้มน้าวชาติพันธมิตรให้มาล่มหัวจมท้ายได้ คาดว่าพรรครีพับลิกันซึ่งคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรสก็น่าจะยินดีช่วยผลักดันแผนของประธานาธิบดีให้สำเร็จ
“ความตกลงทีพีพีคงยังไม่สามารถลงนามเร็วๆ นี้ได้ ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อแก้ไขปมปัญหาที่สำคัญ และจะต้องมีการอภิปรายเต็มรูปแบบทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของวอชิงตันให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมของกลุ่มทีพีพี พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯไม่ได้กำหนดเส้นตายใดๆ ไว้
ทีพีพี มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเขตการค้าเสรีที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางตั้งแต่เวียดนามเรื่อยไปจดญี่ปุ่น และชิลี ครอบคลุมพลเมือง 800 ล้านคนใน 10 กว่าประเทศซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันถึงร้อยละ 40 ของโลก