xs
xsm
sm
md
lg

อดีตเลขาฯ อาเซียนแนะไทยเร่งเพิ่มขีดแข่งขันเข้าร่วม “ทีพีพี” ทันทียังไม่พร้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตเลขาธิการอาเซียน แนะรัฐและเอกชนไทยเร่งปรับวิชั่นเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันรับมือกระแสการค้าโลกที่เปลี่ยนไป ชี้ช่องให้ความสำคัญตลาดอาเซียนและอาเซียน+6 เพราะเป็นตลาดประชากรที่ใหญ่กว่าทีพีพี และมีโอกาสเติบโตสูงและเป็นตลาดที่ไทยแข่งได้ ขณะที่ทีพีพีนั้นหลายอย่างไทยยังไม่พร้อมในทันทีต้องปรับตัวก่อน



นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อนาคตเศรษฐกิจไทยปี 2559 โอกาสและความท้าทาย” ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนวิชันใหม่และจัดทัพให้ชัดเจนในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงโดยเห็นว่าไทยควรจะให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียนและอาเซียน +6 ซึ่งมีอาเซียน 10 ประเทศกับอีก 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นตลาดซึ่งมีประชากรใหญ่กว่าข้อตกลงลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี)

“อาเซียนและอาเซียน +6 แม้ว่าจีดีพีจะต่ำกว่าทีพีพี แต่อัตราการเติบโตก็ยังมีโอกาสอีกมาก ดังนั้น ไทยจะต้องมุ่งมั่นในการเตรียมความพร้อมในตลาดที่เราจะแข่งขันได้ถ้าเราจะกระโดดไปในทีพีพีทันทีเราหลายสิ่งหลายอย่างเรายังไม่พร้อมไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานสินค้าต่างๆ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดรับเหมาสัมปทานของภาครัฐหลายประเทศอาเซียนยังหวงแหนที่จะเปิดให้ประเทศอื่นเข้ามา ฯลฯ เหล่านี้เราจะต้องเร่งปรับตัวเองให้พร้อมก่อน เพราะหากเราไม่ปรับเพื่อเพิ่มขีดแข่งขัน การเข้าไปทีพีพีก็ไม่มีประโยชน์อะไร” นายสุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ควรปรับบทบาทจากดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศ เปลี่ยนเป็นนำนักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าปัจจุบัน เพราะจากนี้ไปไม่มีเศรษฐกิจไหนที่จะอยู่รอดบนพื้นที่และกรอบเศรษฐกิจของตัวเองอีกต่อไป เนื่องจากรูปแบบเศรษฐกิจนับจากนี้ไปจะอยู่ในรูปแบบของการส่งกำไรกลับประเทศมากขึ้น พร้อมกับส่งเสริมให้สินค้าที่ผลิตโดยคนไทยบุกตลาดให้ชัดเจนมากขึ้น

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การส่งออกของไทยคาดว่าจะอยู่ระดับ -1-+1% ไปอีก 2-3 ปี และกรณีทีพีพีนั้นจะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าไทยทันทีในบางรายการทั้งทางตรง และการส่งวัตถุดิบ เช่น สิ่งทอ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ ดังนั้น ไทยจะต้องชัดเจนต่อข้อตกลงดังกล่าวโดยเร็วว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เพื่อให้เอกชนปรับตัว แต่ส่วนตัวเห็นว่าไทยควรเข้าร่วม และไม่ควรจะเลือกข้าง ควรจะร่วมทั้งหมดทั้งทีพีพี อาเซียน+6 ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น