เอเอฟพี – สื่อทางการจีนออกมาอ้างชัยชนะของปักกิ่งในวันนี้ (8) หลังจากจีนกับญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงเพื่อลดความตึงเครียดเกี่ยวกับข้อพิพาทดินแดนและประวัติศาสตร์ที่ได้เคยกระตุ้นความกังวลว่าอาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง
ทั้งสองฝ่ายได้ออกถ้อยแถลงลักษณะเดียวกันเมื่อวานนี้ (7) หลังเสร็จสิ้นการประชุมระหว่าง หยาง เจียฉี มนตรีแห่งรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านนโยบายต่างประเทศของจีน กับ โชทาโร ยาจิ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น
ความสัมพันธ์ระหว่างชาติมหาอำนาจของเอเชียทั้งสองได้ตกต่ำลงเมื่อเผชิญกับข้อขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนใต้และการรุกรานจีนของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเมื่อศตวรรษที่ 20
ประเด็นหลักของข้อขัดแย้งต่างๆ คือการที่ตลอดมาโตเกียวปฏิเสธที่จะยอมรับอย่างเป็นทางการว่า มีข้อพิพาทอธิปไตยเหนือหมู่เกาะแห่งนี้ ซึ่งพวกเขาควบคุมอยู่และเรียกมันว่า เซ็นกากุ ขณะที่จีนก็อ้างสิทธิ์เช่นกันและเรียกมันว่า เตี้ยวอี๋ว์
ถ้อยแถลงของจีนระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่า มีจุดยืนที่ต่างกันระหว่างพวกเขาในความตึงเครียด” เกี่ยวกับหมู่เกาะแห่งนี้ ขณะที่ถ้อยแถลงของฝั่งญี่ปุ่นระบุว่า พวกเขา “ยอมรับว่า มีมุมมองที่ต่างกันเกี่ยวกับการอุบัติขึ้นของสถานการณ์อันตึงเครียดต่างๆ “
พวกเขาระบุว่า จะจัดตั้ง “กลไกการจัดการวิกฤต” (crisis MANAGEMENT mechanism) เพื่อควบคุมไม่ให้สถานการณ์นี้เป็นอันตราย
การที่บรรดานักการเมืองญี่ปุ่น รวมถึง อาเบะ เดินทางไปเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิในกรุงโตเกียว ที่ซึ่งมีป้ายวิญญาณของผู้เสียชีวิตในสงครามของแดนอาทิตย์อุทัย รวมถึงผู้ต้องหาอาชญากรสงคราม ตั้งอยู่บนที่สักการะ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็น และถ้อยแถลงระบุว่า พวกเขาจะพยายาม “ฟันฝ่าอุปสรรคทางการเมืองต่างๆ” ที่ฝังรากลึกในประเด็นทางประวัติศาสตร์
การประกาศครั้งนี้ของทั้งสองประเทศถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นการกรุยทางสำหรับการประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนและ อาเบะ ในช่วงการประชุมซัมมิตกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเอปค) ซึ่งจะมีขึ้นเร็วๆ นี้ในกรุงปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ชาตินิยม โกลบอล ไทมส์ ซึ่งควบคุมโดยพรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน ระบุว่า ข้อตกลงนี้เป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่า อาเบะ ก้มหัวยอมรับมุมมองของปักกิ่งแล้ว
นสพ.เจ้านี้ระบุในบทบรรณาธิการว่า “การที่ตอนนี้ญี่ปุ่นยอมนั่งลงเจรจากับจีนเกี่ยวกับการจัดการวิกฤต (crisis MANAGEMENT) เท่ากับเป็นการยอมรับว่าข้อพิพาทอธิปไตยของหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ได้กลายเป็นความเป็นจริงอีกประการหนึ่งแล้ว”
“การที่ อาเบะ กระเสือกกระสนเพื่อพบกับผู้นำจีนแสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติอย่างไม่ยั้งคิดของเขาไม่อาจได้รับเห็นชอบอีกต่อไปแล้ว"
อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงเมื่อวันศุกร์ (7) ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างระวัดระวัง และสื่อญี่ปุ่นยืนยันว่า มันไม่ได้เท่ากับเป็นการการยอมรับข้อพิพาทเหนือหมู่เกาะดังกล่าว
หนังสือพิมพ์สายอนุรักษ์นิยม โยมิอุริ ชิมบุน โต้แย้งว่า การอ้างว่าเป็น “มุมมองที่ต่างกัน” ไม่ได้ต่างอะไรกับคำว่า “ไม่มีข้อพิพาทดินแดน” และระบุว่า โตเกียวได้รักษาจุดยืนของตนไว้ “อย่างหนักแน่น” แล้ว โดยเป็นการอ้างถึงคำพูดของ “เจ้าหน้าที่บริหารของกระทรวงการต่างประเทศ” ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อรายหนึ่งที่กล่าวว่า “ฝ่ายโตเกียวไม่ได้ยอมถอยเรื่องดินแดนแม้แต่ก้าวเดียว”