เอเอฟพี – ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ซึ่งควบคุมปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) กล่าววานนี้ (6 พ.ย.) ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักรบญิฮาดพ่ายแพ้ราบคาบไม่ได้อยู่ที่จำนวนทหารอเมริกันที่เข้าไปช่วย หากแต่อยู่ที่รัฐบาลอิรักจะต้องเลิกใช้นโยบายแบ่งแยกกีดกันทางศาสนา
พล.อ.ลอยด์ ออสติน หัวหน้ากองบัญชาการกลาง (Central Command) ซึ่งดูแลภารกิจต่อสู้กับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย ชี้ว่า ตนพร้อมที่จะแนะให้กระทรวงกลาโหมส่งทหารอเมริกันเข้ามาเพิ่มเติมหากเห็นว่าจำเป็น แต่สิ่งที่รัฐบาลอิรักปฏิบัติต่อชาวมุสลิมสุหนี่ต่างหากจะเป็นตัวตัดสินว่าสงครามครั้งนี้จะจบลงอย่างไร
“ผมบอกคุณเลยว่าหากรัฐบาลอิรักไม่ร่วมมือ และหากผู้นำอิรักยังไม่ให้ความเท่าเทียมกับชาวสุหนี่และชาวเคิร์ด ต่อให้ส่งทหารเข้าไปมากเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์” ออสติน กล่าวบนเวทีเสวนาซึ่งจัดโดยสำนักวิจัยแอตแลนติก เคาน์ซิล
อย่างไรก็ตาม นายพลสี่ดาวผู้นี้ยังมองโลกในแง่ดีว่า รัฐบาลอิรักชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี คงจะมีนโยบายผูกมิตรกับชาวสุหนี่มากขึ้น และสถานการณ์ความขัดแย้งคราวนี้คงจะแตกต่างจากเมื่อครั้งที่ทหารอเมริกันถูกส่งเข้าไปควบคุมอิรักระหว่างปี 2003-2011
“ผมมองว่าครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม อิรักมีรัฐบาลชุดใหม่ และชาวอิรักเองก็น่าจะได้บทเรียนจากอดีตมาบ้างแล้ว... สัญญาณเบื้องต้นที่ผมเห็นจากตัวนายกรัฐมนตรี อาบาดี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ค่อนข้างเป็นบวก”
ออสตินอธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนให้นักรบไอเอสยึดครองเมืองต่างๆของอิรักได้อย่างสะดวกก็เพราะชาวสุหนี่ไม่พอใจนโยบายแบ่งแยกกีดกันของรัฐบาลอิรักที่พวกนักการเมืองชีอะห์กุมอำนาจอยู่
“ชาวบ้านสุหนี่ไม่ต่อต้านการกระทำของไอเอส เพราะมองว่าพวกเขาอาจจะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลได้”
สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปปฏิบัติภารกิจในอิรักราว 1,400 นาย โดยแบ่งออกเป็นที่ปรึกษาทหาร 600 นายคอยแนะนำด้านยุทธวิธีแก่กองกำลังอิรักและเคิร์ด ส่วนที่เหลืออีก 800 นายทำหน้าที่คุ้มกันสถานทูตสหรัฐฯ และสนามบินแบกแดด
ในส่วนของทหารอเมริกันเอง พวกเขาพยายามนำบทเรียนจากสงครามอิรักมาปรับใช้ นั่นก็คือ “ต้องไม่สร้างความบาดหมางกับพลเมืองที่พวกคุณจะช่วยเหลือ” ออสติน กล่าว
“ดังนั้น เราจึงใส่ใจอย่างยิ่งว่าปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของเรามุ่งสังหารใคร และจะไม่สังหารใคร”
ออสตินยืนยันว่า เขาไม่เคยได้รับรายงานว่ามีพลเรือนเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม และจนถึงวันนี้มีการทิ้งระเบิดและยิงจรวดใส่เป้าหมายไอเอสแล้วนับพันๆ ลูก แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนอิสระชี้ว่า มีพลเรือนตกเป็นเหยื่อการโจมตีของอเมริกาบ้างเหมือนกัน